in Economics

Old Economy

ภาพประกอบจากเกม Old World

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้อ่านโพสต์สายการลงทุนที่พูดถึงเรื่อง “ความตีบตันของทุนไทย” ในจังหวะไล่เลี่ยกัน 2 เรื่อง ทำให้ต้องกลับมาคิดเรื่องอนาคตของทุนไทย (ในภาพกว้าง) กันอีกรอบ

โพสต์แรกเป็นคำพูดของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรูหุ้นไทยสาย value investor (VI) ที่พูดไว้ในเวทีสัมมนาเรื่องหุ้นปี 2021 ดังนี้

คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะทนภาวะเลวร้ายต่อไปไม่ไหว เช่น คนแก่ตัวขึ้นมาก คนทำงานน้อยลง เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ในที่สุดตลาดหุ้นก็ไปต่อยาก โดยมองว่า นาทีนี้การลงทุนแต่ในประเทศไทยอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
.
“จากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากว่า 20 ปี ไม่เคยมีครั้งไหนรู้สึกสิ้นหวังกับตลาดหุ้นไทยเท่าครั้งนี้ เพราะตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหน แถมยังไม่มีหุ้นเด็ดๆ ถูกๆ น่าลงทุน” ดร.นิเวศน์ กล่าว
.
อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามถึง “คำแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นไทย” ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทย #ต้องเลือกซื้อรายตัว เพราะแต่ละเซกเตอร์ปรับขึ้นเต็มมูลค่าแล้ว อีกทั้งยังมีแต่ธุรกิจที่อยู่ใน “เศรษฐกิจแบบเก่า” (Old Economy) โดยต้องเลือกหุ้นที่ธุรกิจมีความแน่นอน ราคายังถูกกว่าตลาด และมีเงินปันผลที่ดี ที่สำคัญคือธุรกิจต้องไม่สามารถถูกทำลายด้วยเทคโนโลยี

คำพูดที่ผมติดใจคือคำว่า “เศรษฐกิจแบบเก่า” (Old Economy) ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ (เคยเขียนไว้ในตอน Suehiro) แต่พอได้อ่านที่ ดร.นิเวศน์ พูดออกมาแบบชัดๆ ก็ทำให้ฉุกใจคิดอีกครั้ง

โพสต์ที่สองเป็นของคุณ “สุมาอี้” หรือ คุณนรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ นักลงทุน VI อีกคนที่ผมติดตามมานาน เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว (พ.ศ. 2552) คุณสุมาอี้ มีไอเดียลงทุนในตลาดหุ้นไทยระยะยาว 15 ปี โดยถือหุ้น 7 ตัวที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มีวิธีกระจายความเสี่ยง (เช่น มีหุ้นเซกเตอร์เดียวกันไม่เกิน 2 ตัว หุ้นหนึ่งตัวไม่เกิน 30% ของพอร์ต) อ่านรายละเอียดได้ในโพสต์ 7LTG

แต่หลังจากถือหุ้น 7LTG มานาน 12 ปี คุณสุมาอี้ก็ตัดสินใจหยุดซื้อหุ้นเติมเข้าพอร์ต และเตรียมขายหุ้นออกแล้ว (งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา) ด้วยเหตุผลเรื่อง Old Economy อีกเหมือนกัน

มุมมองการลงทุนของผมค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ และช่วงหนึ่งปีให้หลังนี้มันก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงมากขึ้นแบบเร่งตัว แทบจะกลับหลังหันแบบ 180 องศาเลยก็ว่าได้ ตอนนี้ เราไม่เชื่อในหุ้นที่เราเคยเชื่อ เราไม่เชื่อใน old economy อีกแล้ว เราจึงมองไม่เห็นเหตุผลที่จะถือหุ้นเหล่านี้ต่อไปอีกทำไม ที่ผ่านมา เราไม่กล้าตัดสินใจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลง

ตอนนี้เราเชื่อในหุ้น new economy แบบเต็มตัว มันกลายเป็นเหมือนลัทธิใหม่ของเรา ไม่รู้ว่าจะทำอะไรที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเราต่อไปอีกทำไม ต่อไปนี้ เราจะเดิมพันเงินทุกบาททุกสตางค์ของเรากับฝั่ง disruptors เท่านั้น ไม่แทงกั๊กอีกต่อไป เราขอเลือกข้างแบบชัดเจน

ออกตัวก่อนว่า ผมยังมีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่เชื่อในภาคการผลิต (manufacturing ซึ่งไม่ได้แปลว่า old economy เพราะอย่าง Telsa ก็เป็นการผลิตนะ และคงไม่มีใครนิยามว่าเป็น old economy แน่ๆ) ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับ อ.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่เขียนไว้ในหนังสือเศรษฐกิจสามสี ว่า

การผลิตและอุตสาหกรรมยังคงเป็นหัวใจของการพัฒนา แต่ต้องมองผ่านห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติและขยับเข้าสู่โหมด Green Growth อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่าทุนขนาดใหญ่ของไทยถึงแม้เห็นเส้นขอบฟ้าของการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่สามารถปรับตัวเองได้ดีเท่าไรนัก (จะด้วยเหตุผลใดนั้น เป็นเรื่องที่ต้องถกกันยาว โมเดลการผูกขาดแบบที่ Suehiro เขียนไว้ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่ง)

เศรษฐกิจแบบ old economy จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน แต่จะค่อยๆ เสื่อมถอยลง ในขณะที่เศรษฐกิจใหม่ new economy รุกเข้ามานานแล้ว

เศรษฐกิจทั้งสองแบบจะอยู่ร่วมกันไปแบบกึ่งๆ คู่ขนานที่ค่อยๆ สอบเข้าหากันเรื่อยๆ ช่วงแรกๆ นั้นไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกันมากนัก แต่พอเริ่มมีส่วนที่ซ้อนทับกันเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าฝ่ายเศรษฐกิจใหม่สามารถ disrupt ทุกอย่างที่มันเข้าไปแตะต้องได้อย่างง่ายดาย (และชี้ให้เห็นว่ากำแพงของเศรษฐกิจเก่ามันช่างเปราะบางเหลือเกิน)

ส่วนระยะยาวแล้วผลของมันจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ยังจินตนาการไม่ค่อยออก แต่ก็เริ่มพอเห็นภาพลางๆ แล้ว