ภาพประกอบจากเกม Near and Far บน Kickstarter
อ่านบทความของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่ง TDRI (5 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”) เขียนไว้น่าสนใจดีครับ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การจินตนาการถึงโลกหลัง COVID คือการแยกแยะ ความผิดปกติในระยะสั้น (ที่เกิดจาก COVID) และความปกติใหม่ (new normal) ที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว
การไม่แยกแยะ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม กับ “ความปกติใหม่” (new normal) ใน “โลกหลังโควิด-19” เช่นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะช่วยลดต้นทุนจากการเดินทาง
การไม่แยกแยะประเด็นดังกล่าวตามที่ ดร. สันติธาร เสถียรไทย เคยตั้งข้อสังเกตไว้ อาจทำให้เราเข้าใจผิดไปว่า พฤติกรรมของมนุษย์เราในช่วงผิดปกติในปัจจุบันส่วนใหญ่จะดำรงต่อเนื่องไป ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคระบาดใหญ่ในอดีตชี้ว่า ในหลายกรณี พฤติกรรมส่วนใหญ่ในช่วงผิดปกติ จะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นปกติแล้ว เช่น มีการศึกษาพบว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกในช่วงปี 1918-1919 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกหลายสิบล้านคน ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น มหานครชิคาโก นิวยอร์ก และฟิลาเดลเฟียมากมาย อย่างที่มีการพูดกันว่า เมืองใน “โลกหลังโควิด-19” จะมีความนิยมในคอนโดมิเนียมลดลง ในขณะที่ความนิยมในบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นมาก เป็นต้น
อีกกรณีที่อาจเปรียบเทียบกันได้คือ เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง หลายคนก็เคย “ฟันธง” ว่า บ้านแถวปทุมธานีจะขายไม่ได้แล้ว แต่หลังจากนั้นไปเพียงปีครึ่งก็ปรากฏว่า ประชาชนกลับมาซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลนี้เหมือนเดิม ตามที่ ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหารบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ไว้
ผมเห็นด้วยกับ อ.สมเกียรติ และอย่างที่เคยเขียนไปแล้วใน บล็อก Acceleration ว่า COVID เป็น “ตัวเร่ง” ให้โลกอนาคต (ที่กำลังเกิดอยู่แล้ว) มาถึงเร็วขึ้น โดยไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางมากนัก (เหมือนกด Fast Forward x2 ให้กับโลก)
ลองมานั่งจินตนาการดูว่า สิ่งที่เราจะได้เห็นในอนาคตระยะยาว (Far Future) คืออะไร
- Automation หุ่นยนต์ AI เทคโนโลยีอัตโนมัติ มาแทนคน ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุน (cost) ทำให้คนตกงาน
- Remote Working คนไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุน, talent, lifestyle
- Concept of Space คนสนใจ Common/Shared Space ที่สร้างประสบการณ์ร่วม และลดต้นทุน (เช่น co-working space, co-living space)
- Fear of Death เทรนด์เรื่องการรักษาสุขภาพเพราะกลัวตายช้า (มะเร็ง โรคหัวใจ ฯลฯ) ตั้งแต่การกิน อยู่ ออกกำลังกาย ฯลฯ
- E-commerce & O2O การทำงานของคู่ online ordering & on-demand deliverying เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการค้าปลีก
- New World Order ระเบียบโลกใหม่ที่จีนขึ้นมามีอิทธิพลเคียงคู่กับสหรัฐ และเกิดการปะทะ ขัดแย้งกันอยู่เรื่อยๆ
- Global Supply Chain คนหนีออกจากจีน ด้วยเหตุผลเรื่องสงครามการค้า กำแพงภาษี และความมั่นคงของซัพพลายเชนในระยะยาว
- เศรษฐกิจฝืดเคือง สังคมเหลื่อมล้ำ จากปัญหาเชิงโครงสร้างของทุนนิยมในยุคปัจจุบัน
- กระแส Anti-Globalization ทำให้คนกลับมาสู่ชาตินิยม แทนนานาชาตินิยม ตัวอย่างเช่น Trump/Brexit ที่เกิดอยู่ก่อนแล้ว
ส่วน อนาคตระยะสั้น (Near Future) ที่เกิดจากปัจจัย COVID-19 ลองมองด้วยแกนหมวดหมู่แบบเดียวกัน
- Automation นำหุ่นยนต์มาใช้แทนคน ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ (health) เพราะบริษัทหรือโรงงานไม่อยากติด COVID จนถูกสั่งปิด
- Remote Working คนถูกบีบให้ต้องทำงานจากที่บ้าน เพราะเหตุผลเรื่องสุขภาพ (social distancing)
- พอสถานการณ์คลี่คลายแล้ว คนก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่บริษัทต่างๆ จะสะดวกใจกับ remote working มากขึ้นมาก
- Concept of Space คนกลับมาสนใจพื้นที่ส่วนตัว (Private Space) เพราะปลอดภัยกว่า (The End of Shared Space)
- Fear of Death คนกลัวตายเร็วเพราะ COVID จึงเกิดความ panic จนต้องใส่หน้ากาก face shield ถุงมือ รวมถึงหยุดเดินทางไกลด้วยเครื่องบิน ธุรกิจท่องเที่ยวล่มสลาย
- E-commerce & O2O คนออกไปซื้อของที่ร้านค้า ร้านอาหารไม่ได้ จึงต้องถูกบีบให้สั่งของแทน
- พอสถานการณ์คลี่คลายแล้ว คนก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ e-commerce / O2O จะพุ่งทะยานขึ้นอีก เพราะคนเคยได้ลิ้มลองใช้งานแล้ว
- New World Order อเมริกาพินาศเร็วกว่าที่คิด แต่จีนกลับไม่ได้ดีมากนัก เพราะ COVID ทำให้คนทั่วโลกเกลียดจีน (Nnevvy War) เกิดเซนส์ของความไม่ไว้วางใจจีนมากขึ้นเช่นกัน
- Global Supply Chain COVID ทำให้คนตระหนักว่า การฝากการผลิตไว้กับจีน พอมีวิกฤตขึ้นมา โดนรัฐบาลจีนสั่งปิดโรงงาน ปิดท่าเรือ ก็เจอปัญหาขาดแคลนสินค้า+วัตถุดิบจริงๆ (แต่ก็แน่นอนว่าการย้ายฐานการผลิต ไม่ง่ายเพราะ supply chain ซับซ้อนมาก)
- เศรษฐกิจพินาศ เพราะปัญหา COVID ทำให้เกิด recession อย่างรุนแรง จากเดิมที่เกิดอย่างช้าๆ
- กระแส Anti-Globalization ตรงนี้ขึ้นกับว่ารัฐบาลของชาตินั้นๆ จัดการได้ดีหรือไม่ ซึ่งกรณีที่ชาตินั้นๆ จัดการได้ไม่ดี คนก็อาจไม่รักชาติเพิ่มมากขึ้นนัก (เช่น ไทย, อเมริกา) แต่ถ้าชาติจัดการได้ดี (เช่น ไต้หวัน) ก็อาจมีผลในทางบวกกับกระแสชาตินิยม
ลองทำตารางเปรียบเทียบ ระหว่างผลของอนาคตระยะยาว (Far) กับอนาคตระยะใกล้ (Near) ว่าเป็นการสนับสนุนกัน หรือเป็นความขัดแย้งกัน
พบว่าเทรนด์เกือบทุกตัว มี COVID-19 เป็นตัวช่วยเร่งความเร็ว หนุนให้เกิดเร็วขึ้น เพราะสังคมถูกบังคับให้ต้องทดลองทำ (Forced Experiment) แต่ก็มีบางประเด็นที่ขัดแย้งกับเทรนด์ระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการพื้นที่ (Shared Space vs Private Space)
เรื่องนี้ผมเห็นด้วยกับประเด็นที่ อ.สมเกียรติ ยกขึ้นมา คือเรื่องต้นทุนของการทำ Private Space มีสูงมาก ทำจริงได้ยาก อีกทั้งปัจจัยโรคระบาดแบบ COVID ไม่น่าจะเกิดซ้ำได้บ่อยนัก (ลองอิงกับเคส SARS ก็คือเกิดทุก 20 ปี)
สิ่งที่ควรสนใจมากกว่าคือ การออกแบบ Public Space ให้ปลอดภัยมากขึ้น (Rethinking Space) ส่วนจะออกแบบอย่างไรให้เหมาะสมกับต้นทุน ลงทุนน้อยได้มาก (เช่น ปรับเรื่องประตูไม่ต้องสัมผัส หรือระบบปรับอากาศให้สะอาดขึ้น) เป็นสิ่งที่แวดวงนักออกแบบต้องมาคิดกันต่อไป