in Thoughts

Rethinking Space

อ่านบทความใน Reuters เขียนไว้ดี เรื่อง sheltering in [small] place ว่าการกักตัวอยู่ในบ้าน หากบ้านขนาดเล็กๆ (เช่น ในญี่ปุ่น ฮ่องกง) จะเกิดปัญหาอะไรตามมา

ลองคิดประเด็นเล่นๆ เท่าที่นึกออก แบบไม่ปะติดปะต่อมากนัก แยกเป็น 2 ส่วนคือ พื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่สาธารณะ

Private Space

  • หากคิดตัวอย่างใกล้ตัวหน่อย คอนโดยุคใหม่ในไทย ที่เป็นห้องสตูดิโอ ก็มีขนาดค่อนข้างเล็กอยู่แล้ว (นี่ยังไม่รวมถึงพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้อยู่อาศัย เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว ที่ต้องตัดออกไปอีก) หากอยู่กัน 2 คนทั้งวันทั้งคืน ก็คงอึดอัดมิใช่น้อย
  • นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการทำงาน work from home ที่หลายบ้านเจอปัญหาตั้งแต่ “ไม่มีโต๊ะทำงาน” ต้องนั่งทำงานกับพื้น หรือถ้าดีขึ้นมาอีกนิด มีโต๊ะเพียง 1 ตัว แต่ต้องใช้กัน 2 คน จะแบ่งกันอย่างไร ประเด็นเรื่องเสียงรบกวนหากคนใดคนหนึ่งต้องประชุม การรบกวนจากเด็กหรือสัตว์เลี้ยงระหว่างการทำงาน
  • หากมีคนป่วยขึ้นมา การแยกพื้นที่ระหว่างคนป่วยกับคนปกติจะทำอย่างไรในพื้นที่เล็กขนาดนั้น
  • พอ “ความเล็ก” กลายเป็นข้อจำกัด “ความใหญ่” จึงกลายเป็นความหรูหรามากยิ่งขึ้นไปอีก คนที่อยู่คอนโดคงอึดอัดที่ไปไหนลำบาก ออกไปวิ่งที่สวนสาธารณะก็ปิดอีก ในขณะที่เราเห็นคนอยู่หมู่บ้านจัดสรร มีสวนส่วนตัวให้วิ่งออกกำลังกายยามเช้า ข้อได้เปรียบเสียเปรียบตรงนี้ (ระหว่างคนชั้นกลางอยู่คอนโด กับคนรวยอยู่หมู่บ้าน) จะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกในยุคสมัยแบบนี้
  • ในยุค Work from Home หากมีเงินเหลือพอ การอยู่คอนโดหรูกลางเมือง อาจดูไม่คูลแล้ว เมื่อเทียบกับการอยู่หมู่บ้านใหญ่ๆ หน่อยที่อยู่นอกเมือง (เลยเลือกใช้รูปบ้านจาก Parasite เป็นภาพประกอบบล็อกชิ้นนี้) ตรงนี้ก็น่าจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของวงการอสังหาริมทรัพย์ไปเช่นกัน

Public Space

  • การกักตัวอยู่บ้าน ความไม่มั่นใจในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรค ยังส่งผลต่อ public space ที่ต้องใช้ร่วมกันด้วย
  • เรื่องนี้เคยเขียนไปแล้วในตอน The End of Shared Space ที่ตั้งคำถามต่อ shared space ในยุค sharing economy ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางของคอนโด (สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สวน) ไปจนถึงพื้นที่ทำงานร่วม co-working space ที่มีต้นทุนเฉลี่ยถูกกว่า utilization ดีกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องพบเจอกับคนแปลกหน้า (ที่เราอาจไม่พิสมัยอีกแล้ว)
  • แต่ก็ยังมีคำถามตามมาถึงพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ ในสังคม เช่น บนรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ที่คนต้องเบียดเสียดกัน ว่าเราจะทำอย่างไรให้ปลอดภัยขึ้น (ภายใต้โครงสร้างเดิมที่แก้ไขได้ยากแล้ว)
  • กรณีของร้านค้าปลีก เช่น ร้านอาหาร ที่ตอนนี้ต้องทำ social distancing นั่งไกลกัน, ร้านขายของที่ต้องกั้นฉากให้คนซื้อกับคนขายไม่ได้พบปะกันโดยตรง หรือแม้กระทั่งแท็กซี่ที่ต่อไปอาจตั้งกั้นฉากใสเช่นกัน ตรงนี้คงต้องเป็นสิ่งที่คิดกันใหม่ ออกแบบกันใหม่ในระยะยาว
  • เริ่มมีการพูดถึงการออกแบบ public space ยุคใหม่ที่ปลอดภัยมากขึ้น เช่น การใช้วัสดุที่ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย (่เช่น ทองแดง) ทำลูกบิดหรือมือจับประตู หรือ การออกแบบระบบปรับอากาศในอาคาร (ที่มักเป็นแอร์รวม) ให้มีการกรองเชื้อโรค-แบ่งส่วนการทำงานได้ละเอียดขึ้น ใครสนใจลองดูในกรุ๊ป ออกแบบชีวิตหลัง COVID-19

กล่าวโดยสรุปคือ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว หรือ พื้นที่สาธารณะ พอมาเจอกับไวรัสที่ทำลายหลักการพื้นฐานเรื่องคนใกล้กันไม่ได้ ก็จำเป็นต้องคิดใหม่ ออกแบบกันใหม่หมด และน่าจะกลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลกสถาปัตยกรรม โลกของนักออกแบบในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้

โจทย์สำคัญมันไม่ได้มีแค่ความปลอดภัยเท่านั้น แต่คงต้องคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ (เพราะพื้นที่หรือผังเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้เร็ว) ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเดิม ต้นทุน รวมถึงพฤติกรรมหรือนิสัยของคนอีกด้วย