in Thoughts

Forced Experiment

ภาพประกอบจาก StarWars.com แต่นั่นมันคนละ Force แล้วว้อยยย!

ในบรรดานักคิดนักเขียนสายเทคโนโลยีฝรั่ง ผมเป็นแฟนประจำอยู่สองคนคือ Benedict Evans (ก่อนหน้านี้เป็นพาร์ทเนอร์ของ a16z แต่ตอนนี้ออกมาเป็นนักเขียนอิสระแล้ว) กับ Ben Thompson (หลายคนอาจรู้จักในชื่อบล็อก Stratechery มากกว่า)

งานเขียนของทั้งสองคน ข้อมูลแน่น ประเด็นคม thoughtful + provoking ดีทุกอย่าง ยกเว้นต้องใช้พลังในการอ่าน + คิดวิเคราะห์พอสมควร อ่านเยอะหรืออ่านตอนยุ่งๆ ไม่ไหว คิดตามไม่ทัน

ล่าสุดอ่านเรื่อง COVID and forced experiments ของ Benedict ก็คิดว่ามีประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง มาจดเก็บไว้

งานเกือบทุกอย่าง ออนไลน์ได้หมดแล้ว (anyone will do anything online) จากปัจจัยการขับเคลื่อนของสมาร์ทโฟน ถึงแม้ยังไม่ถึงขั้นว่าทุกคนทำทุกอย่างผ่านออนไลน์ (everyone will do everything online) แต่ออนไลน์ก็แทรกซึมเข้ามาทุกส่วนในชีวิตเรียบร้อยแล้ว เช่น ปัจจุบันนี้คนอเมริกันหาแฟนผ่านแอพหาคู่ (อย่างน้อยก็ในขั้นเริ่มคุย) ที่ระดับเกือบ 50% แล้ว

Benedict เทียบความแพร่หลายของออนไลน์กับรถยนต์ เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบที่ดี

You might compare ‘online’ to cars – not everyone has a car, and no-one does everything with a car, but there is no part of the population and no activity or part of life or the economy where cars do not apply.

ปัจจัย COVID ที่ทำให้ทุกคนต้องอยู่บ้าน จึงบีบให้ทุกคนต้องใช้เครื่องมือออนไลน์กันมากขึ้น (เป็นเหมือนปัจจัยเร่งอย่างที่เคยเขียนไปแล้ว)

พฤติกรรมบางอย่างที่เราถูกบังคับให้ทำผ่านออนไลน์ในตอนนี้ (เช่น remote office) จะหายไปเมื่อหมด COVID แต่บางอย่างก็จะยังคงอยู่ คำถามสำคัญคือ เรามองออกไหมว่า อะไรจะอยู่ต่อ อะไรจะหายไป

not all of this adoption will stick once we do get back to normal. We’ll try everything, because we’re forced to, but not all of it will work. So, which is which?

วิธีการหาคำตอบที่ดีคือ ต้องพิจารณารายละเอียดของเนื้องานหรือสิ่งที่ทำด้วย เช่น การประชุมคุยงาน ต้องดูรายละเอียดว่าเราประชุมไปทำไม

  • ถ้าประชุมเพื่อสร้างสัมพันธ์กับคน (forming a human connection) วิดีโอคอลล์อาจไม่สามารถทดแทนได้
  • ถ้าประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล (exchange information) วิดีโอคอลล์อาจตอบโจทย์
  • แต่จริงๆ แล้ว การประชุมแบบนี้เราอาจไม่จำเป็นต้องคอลล์เลยก็ได้ เพราะการโทรคุยเป็นวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่เป็นโครงสร้าง (unstructured data) เพื่อแลกเปลี่ยนตัวข้อมูลที่เป็นเชิงโครงสร้าง (structured data) ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเราใช้วิธีการสื่อสารที่ตรงกับงานมากกว่า เช่น Figma สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลในงานดีไซน์

หากลองใช้กรอบวิเคราะห์แบบเดียวกันกับ ค้าปลีก/อีคอมเมิร์ซ

  • งานด้านลอจิสติกส์ แปลงเป็นออนไลน์ได้ง่ายกว่า ความยากไปอยู่ที่เรื่องต้นทุนต่อหน่วย (unit economics) ว่าทำราคาได้ดีแค่ไหน
  • งานด้านอื่น เช่น บริการ (service) การแนะนำสินค้า (recommendation) การรู้จักสินค้า (discovery) อาจแปลงเป็นออนไลน์ได้ยากกว่า

Benedict บอกว่าทุกครั้งที่เรามีเครื่องมือใหม่ๆ เราจะเอามันมาใช้กับงานเดิมๆ ก่อน แต่ในระยะยาว เราจะปรับตัวงานให้มันเข้ากับเครื่องมือแบบใหม่

ตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราอาจอัพเดตสถานะงานผ่านการทำสไลด์ PowerPoint ทุกสัปดาห์ พอมีคลาวด์ก็เปลี่ยนมาทำสไลด์ผ่าน G Suite แทน แก้ปัญหาเรื่องเวอร์ชันไฟล์ไม่ล่าสุดได้ แต่ก็ต้องอัพเดตสไลด์ใหม่อยู่ดี สุดท้ายทางออกที่ดีกว่าคือทำระบบ dashboard ที่อัพเดตอัตโนมัติ ไม่ต้องมานั่งทำสไลด์อีกเลย

Every time we get a new kind of tool, we start by making the new thing fit the existing ways that we work, but then, over time, we change the work to fit the new tool.

ปัญหาสำคัญคือเราไม่รู้ว่าเครื่องมืออันไหนเวิร์คไม่เวิร์ค สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ ทั้งโลกกำลังถูกบังคับให้ทดลองครั้งใหญ่ (forced public experiment) เพื่อดูว่ามนุษย์เหมาะกับเครื่องมือออนไลน์แบบไหนบ้าง

ภาวะวิกฤตยังเป็นช่วงเวลาที่ดี สำหรับผู้เล่นหน้าใหม่จะแทรกตัวเข้ามาได้ง่ายกว่าภาวะปกติ เพราะผู้นำก็มึนงงกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น

In ‘normal’, steady state growth, the default choices and the incumbent companies soak up most of the new use, unless you carve out some radically new market (such as Warby Parker). But when the incumbents are swamped and everyone is frantically trying everything, it may be easier for new voices to be heard. Again – the market is being reset.

Benedict บอกว่าตลาดที่กำลังถูกบีบให้ปรับตัวอย่างมาก คือ healthcare / education ที่เดิมทีมีปัจจัยต้านการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งรอบจัดซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่, โครงสร้างการบริหารที่เชื่องช้า, กฎระเบียบมากมาย ฯลฯ แต่เมื่อคนในวงการทั้งสองนี้ถูกบังคับให้อยู่บ้าน ถูกบังคับให้ลองอะไรใหม่ๆ ก็น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกัน