ในบล็อกตอนที่แล้วคือ เมื่อประเทศไทยล้าสมัย ได้เขียนไว้ว่า โมเดลของรัฐเดิมนั้นเริ่มล้าสมัย แต่โมเดลของรัฐในยุคใหม่ post-pandemic world จะหน้าตาเป็นอย่างไรดี
เนื่องจากพื้นเพความรู้ทางรัฐศาสตร์มีน้อย ก็ต้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมกันไปเรื่อยๆ ช่วงนี้มาเจองานเขียนที่พูดถึง “รัฐสมัยใหม่” (ในที่นี้คือ modern state) เลยมาจดบันทึกไว้
ชิ้นแรกเป็นปาฐกถาของปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ช่วงที่มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพอดี (ครั้งแรกที่ #เยาวชนปลดแอก อัพเกรดเป็น #ประชาชนปลดแอก)
ประเด็นหลักที่ปิยบุตรพูด เป็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ประเด็นที่ผมสนใจคือ ปิยบุตรได้เกริ่นเรื่องพัฒนาการของ “รัฐ” ที่เป็นระบอบกษัตริย์เดิมในช่วงศตวรรษที่ 15 มาเป็นรัฐสมัยใหม่ในระยะเวลาถัดมา
รัฐถูกมนุษย์คิดค้นขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 เพื่อสร้างศูนย์รวมของอำนาจ และแยกรัฐออกจากตัวบุคคล ในยุคแรก ๆ เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ แต่ต่อมาแนวคิดอำนาจสูงสุดอยู่กับประชาชนได้แพร่กระจายออกไป พร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของกระแสประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้ได้พัฒนาไปสู่รัฐสมัยใหม่ซึ่งมีลักษณะ 4 ประการ
-
แบ่งแยกเรื่องสาธารณะออกจากเรื่องส่วนบุคคล ทั้งตัวบุคคลและทรัพย์สิน ใครก็ตามที่ไปดำรงตำแหน่งในแดนสาธารณะต้องใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตัว แนวคิดแบบนี้ทำให้ “รัฐราชสมบัติ” สลายหายไป เพราะไม่สอดคล้องกับความคิดสมัยใหม่
-
ความชอบธรรมเปลี่ยนไป จากเดิมความชอบธรรมแบบรัฐโบราณมาจาก “บารมี เรื่องเล่า และศาสนจักร” เช่น พระมหากษัตริย์ในยุโรปมีความชอบธรรมเพราะสมเด็จพระสันตะปาปาบอกว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้ามาปกครองประเทศ แต่ในยุคสมัยใหม่ ผู้นำต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของทุกคน ถึงมีการกำหนดเรื่องการเลือกตั้งขึ้นมา “ความชอบธรรมไม่สามารถเกิดจากการบังคับให้คนมารักได้ แต่ความชอบธรรมจะเกิดจากการยอมรับนับถือจากสิ่งที่ทำ”
-
เมื่อบุคคลใดใช้อำนาจรัฐและใช้ทรัพยากรสาธารณะ บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนเองและถูกตรวจสอบได้
-
อำนาจสูงสุดเป็นของคนทุกคนในชื่อ “ประชาชน” ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง
งานชิ้นที่สองเป็นของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 14-20 สิงหาคม 2563
นิธิเขียนบทความเรื่อง “รักชาติ” เพื่อตอบโต้วาทกรรม “ชังชาติ” ที่กลับมาอีกครั้งจากผู้นำทหาร ประเด็นหลักของนิธิจึงอยู่ที่เรื่อง “ชาติ” (nation) แต่ก็มิวายมีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง “ชาติ” (nation) กับ “รัฐ” (state) อยู่พอสมควร
ชาติไม่ใช่รัฐ ถ้ารัฐมีความหมายว่า ระบอบปกครองอันหนึ่งซึ่งสามารถสืบทอดโครงสร้างอำนาจให้ดำรงสืบมา ภายใต้ผู้ถืออำนาจซึ่งอาจเปลี่ยนหน้าไปได้เรื่อยๆ รัฐมีอำนาจเหนือประชากรจำนวนหนึ่ง เรียกรับประโยชน์จากประชากรได้ในรูปทรัพย์สินและแรงงาน จึงทำให้รัฐสามารถรักษาอำนาจไว้ได้ ทั้งจากศัตรูภายในและภายนอก องค์กรที่มีระบอบปกครองคล้ายรัฐที่สุดคือองค์กรศาสนา ซึ่งในบางแห่งก็พัฒนาไปเป็นรัฐพร้อมกับเป็นองค์กรศาสนาด้วย แต่ส่วนใหญ่พัฒนาไปไม่ได้ไกลเช่นนั้น
แม้ฟังเผินๆ รัฐกับชาติดูจะคล้ายกันมาก แต่รัฐเป็นสมบัติของคนส่วนน้อย อาจเป็นคนในตระกูลเดียว, ชนชั้นเดียว, อาชีพเดียว ฯลฯ แต่ชาติเป็นสมบัติของประชากรทุกคน และอย่างเท่าเทียมกันด้วย (โดยหลักการเป็นอย่างน้อย) รัฐโบราณจึงไม่เคยเป็นชาติ และรัฐสมัยใหม่หลายแห่งก็ไม่สามารถพัฒนาความเป็นชาติขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ยังคงรักษาความเป็นสมบัติของคนส่วนน้อยอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง “จินตกรรมชาติ” ที่อิงกับนิยาม “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” ที่มาจาก “God, King, Country” ของอังกฤษด้วย
ในประเทศไทย จินตกรรมชาติเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่มาแต่รัชกาลที่ 5 แต่ก่อนที่สำนึกหรือจินตกรรมใหม่นี้จะถูกทำให้กระชับแหลมคม ร.6 ก็ชิงนิยามสำนึกนี้ให้กลายเป็นความภักดีต่อชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ (ซึ่งตรงกับคำขวัญอังกฤษ God, King, and Country) เสียก่อน
แต่นิยามนี้มีปัญหา เพราะระหว่างสามสถาบันนี้ ใช่ว่าจะเอื้อประโยชน์กันและกันอย่างราบรื่นเสมอไป ในประวัติศาสตร์อังกฤษเอง God และ King ก็เคยขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนทำให้อังกฤษต้องหันไปนับถือ God คนละเฉดสีกับประเทศอื่นในยุโรป
อังกฤษในปัจจุบันแก้ปัญหานี้โดยการทำให้ King และ God กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติ (คือเลิกเป็นสถาบันที่มีสถานะอิสระจากชาติ) สถาบันกษัตริย์อังกฤษในปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์ของ “ความเป็นอังกฤษ” และมีบทบาทอยู่ในกรอบแคบๆ นี้เท่านั้น… อย่างมั่นคงปลอดภัยและยืนนาน พอๆ กับดวงอาทิตย์ด้วย