in Politics

Match Your Future ร่วมลงทุนอนาคต

เมื่อวานนี้เขียนเรื่อง Podcast ของพรรคเพื่อไทยที่สัมภาษณ์ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ซึ่งเล่าเรื่องในหลายประเด็น

แล้วมาเจอกับโพสต์ของมูลนิธิกระจกเงา ที่พูดเรื่องเดียวกันพอดี (โดยบังเอิญ) เลยคิดว่าต้องมาเขียนถึงเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงกัน

ช่วงที่พูดถึงเรื่องนี้อยู่ราวนาทีที่ 21 เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าตอนคิดนโยบายหาเสียงหลังปี 40 ต้องทำอย่างไร

เปิดกระเป๋าดูแล้วมันไม่มีตัง

อะไรคือ potential อะไรคือสิ่งที่พอเป็นไปได้ในเมืองไทย เราก็คิดนโยบายนี้ออกมา

เราชะงัก แต่เรามี saving

ให้คนเอา saving มา match กับความหวังในอนาคต

ปัจจุบันนี้จิตตกกันใช่ไหม ผมก็จิตตก อะไรคืออนาคต แต่พอมี saving บ้างนิดหน่อยนะ

ฉันจะกล้าเอา saving ของฉันมา match กับอนาคตไหม แต่ต้องมีอนาคตก่อนนะ

อีกช่วงราวนาทีที่ 30

การสร้างโอกาส หรือเปิดทางโอกาสให้ประชาชน ใช้ความสามารถของเขา

กองทุนหมู่บ้าน นอกจากให้ยืมตังค์แล้ว ประชาชนจะเอา saving ของตัวเองมาเติมเอง มาเติมที่ตัวเองไปยืมด้วย

ปรากฏว่ากองทุนหมู่บ้าน หนี้สูญไม่ถึง 1% หรือ 1% กว่าๆ หรือปัจจุบันก็ไม่เกิน 3% หนี้สูญน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์

มันพิสูจน์ว่านโยบายเหล่านี้เปิดโอกาสให้ประชาชน ใช้ศักยภาพของเขาเอง มันถึงประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เอาไปให้เฉยๆ

ส่วนในโพสต์ของมูลนิธิกระจกเงา เป็นตัวอย่างของการ Match Your Future ที่ชัดเจนมาก เพราะคนไร้บ้านที่มีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง ตัดสินใจไป “เช่าบ้าน” หลังได้เงินเพิ่มมาอีกก้อน และการการันตีรายได้จากโครงการ “จ้างวานข้า” ของมูลนิธิกระจกเงา

ชายชราไร้บ้านสองคนตัดสินใจเช่าห้องพักราคาถูกในย่านสุขสวัสดิ์ หลังจากที่ชายชราคนนึง พึ่งได้เงินจากความพิการเดือนละ 800 บาท​

ชายชราเล่าว่าถ้าเพื่อนไม่ได้เงินจากคนพิการ แกเองก็ยังไม่กล้าตัดสินใจจะมาเช่าห้องแน่นอน แม้ว่ารายได้ที่แกมีจะได้จากคนชรา 600 บาท คนพิการ 800 บาท และเงินจากจ้างวานข้าเดือนละ 1,600 บาท​ รวมเบ็ดเสร็จ​แล้วเป็น 3,000 บาทก็ตาม

ถ้ารวมกับชายชรา(ที่พึ่งได้เงินคนพิการ) ซึ่งก็ได้เงินจากคนชรา 600 บาท และเงินจากจ้างวานข้าเดือนละ 1,600 บาท รวมแล้วเป็น2,200บาท รวมเงินกันของทั้งสองผู้เฒ่าอยู่ที่ 5,200 บาท แต่ชายคนแรกเองยังเห็นว่าเงินขนาดนี้ มันไม่พอที่จะกระเบียดกระเสียนใช้จ่าย ทั้งเป็นค่าห้อง และค่ากินให้กับคนสองคนได้

แกจึงตัดสินใจไม่เช่าห้อง​ยังคงนอนที่ข้างถนนเหมือนเดิมแต่ก็เพิ่มวันอีกหลายๆ วันเข้าไปจาก10กว่าปีที่เคยได้นอนข้างถนนมา

แต่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อนแกพึ่งได้รับเงินคนพิการ 800 บาท มาสดๆ ร้อนๆ การตัดสินใจใหม่ของเรื่องที่อยู่อาศัยจึงเกิดขึ้นทันที​ แกได้ห้องเช่าราคาถูก ที่รวมน้ำไฟด้วย ก็ตกไม่เกิน 1800 บาทต่อเดือน​ การเข้าถึงทุนพอที่จะทำให้พวกเขาได้คิดได้ตัดสินใจขยับขยายตัวเอง เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่าน มันคือสิ่งที่ควรทำเป็นที่สุดในการให้ความช่วยเหลือพวกเขา

ตัวอย่างนี้ชัดมาก เพราะเป็นการนำเงินเก็บที่เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ของตัวเอง มา “เดิมพันอนาคต” หลังได้การการันตีหรือหลักประกันบางอย่าง (ในที่นี้คือเงินช่วยเหลือคนพิการของเพื่อน และการงานที่มั่นคงขึ้น)

เงินคนพิการ 800 บาท และเงินจากจ้างวานข้า 1,600 บาท ถือว่าน้อยมากสำหรับคนชั้นกลางทั่วไป (บางคนกินข้าวมื้อนึงก็เกินแล้ว) แต่จะเห็นว่าเงินเพียงแค่นี้ ถ้าจัดวางให้ถูกจุด และมอบ “โอกาสในอนาคต” ให้ ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก

มิตรสหายท่านหนึ่งคือคุณธีรภัทร เจริญสุข เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจนดี ขออนุญาตยกมาบางส่วน

จะดีจะร้าย หรือว่ามีบางส่วนอาจรั่วไหลยังไง นโยบายแบบของทักษิณนั้นคือการเชื่อใจคน เชื่อใจประชาชน ว่าสามารถบริหารเงินของตัวเองได้ สามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้ และผลก็พิสูจน์แล้วว่าส่วนมากทำได้ดีด้วย แม้ส่วนน้อยจะมีคนเอาไปใช้เละเทะเป็นหนี้ผีพนันติดเหล้าจริง ก็เป็นส่วนน้อยมาก ถ้ามองว่ามีบางคนเอาไปใช้เหลวไหลแล้วต้องยกเลิกไม่ให้กู้ แบบนี้ต้องยกเลิกเงินกู้ครูทั่วประเทศเพราะหนี้เสียจนล้มละลายเยอะกว่าด้วยซ้ำ

การให้ทุน ให้เงิน ต้องให้เป็นก้อนใหญ่พอที่พวกเขาจะสร้างชีวิตของตัวเอง พอที่จะสร้างงานสร้างรายได้ เปลี่ยนแปลงแนวทางชีวิต ให้เป็นหนี้เพื่อที่จะคิดว่าตัวเองมีศักดิ์ศรีพอที่จะมีคนเชื่อถือและจ่ายหนี้ เพราะหนี้สินคือความเชื่อว่าคนที่ก่อหนี้จะมีสัจจะ มีความรับผิดชอบพอที่จะชำระหนี้นั้น

ในแง่ของการออกนโยบายเพื่อคนจำนวนมาก การสร้างอนาคตที่คนมั่นใจ ให้ความเชื่อมั่น จนล้วงเงินของตัวเองมาร่วมลงทุนไปด้วยกัน เป็นงานสเกลใหญ่ที่ต้องสานต่อกันไป

แต่ในสเกลขนาดเล็ก  โครงการระดับจ้างวานข้า ที่ดำเนินการโดย NGO ภาคเอกชนกันเอง เป็นสิ่งที่สามารถสนับสนุนได้ทันที อ่านจบแล้วก็ขอเชิญบริจาคกันตามศรัทธาที่​ โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB หรือ อ่านรายละเอียดของโครงการ ก่อนตัดสินใจ