in Technology

บล็อกเชน: ยิ่งไม่เชื่อใจกัน ยิ่งสิ้นเปลืองพลังงาน

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวไวรัลของวงการไอทีคือ นักพัฒนาเกมบราซิลไปพูดเรื่องอนาคตวงการเกม เปลี่ยนสไลด์กลางทางเป็น “NFT คือฝันร้าย” ที่ผมเขียนลง Blognone ไปแล้ว แต่คิดว่าควรค่าแก่การนำมาขยายความเพิ่ม

สรุปเรื่องแบบสั้นๆ คือ Mark Venturelli นักพัฒนาเกมคนนี้ อยู่ในค่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ blockchain crypto, NFT, play-to-earn, GameFi อะไรพวกนี้ทั้งหลาย

ตรงนี้คงไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีคนพูดไปเยอะพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่ามากคือวิธีการอธิบาย (narrative) แนวคิดของเขาต่างหาก

คลิปบรรยายของเขาเป็นภาษาโปรตุเกส แต่คลิปดังจนมีคนทำซับไตเติลภาษาอังกฤษให้แล้ว แถมมีสไลด์เป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ด้วย ช่วยให้เราพอเข้าใจได้ว่าเขาพูดอะไรบ้าง

แกนหลักในการบรรยายของ Venturelli คือการบอกว่าแนวคิด blockchain และการกระจายศูนย์เหล่านี้ เป็นทางออกที่ชาญฉลาด แต่เลือกแก้ปัญหาผิดอย่าง (a brilliant solution to the wrong problem)

เพราะ blockchain เป็นการแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อถือ เชื่อใจ (trust) โดยมองว่าสังคมมนุษย์ไว้ใจกันไม่ได้ (absolutely zero trust between one another) อีกทั้งผู้สร้างไม่เชื่อใจตัวกลาง (central authority) ไม่เชื่อใจสถาบันทางสังคม ไม่เชื่อใจกฎหมายใดๆ

ทางออกจึงต้องมีกรรมวิธีที่ซับซ้อน (พวก consensus, proof-of-work) มาป้องกันการคดโกงระหว่างกัน

Venturelli บอกว่านี่คือการมองปัญหาที่ผิด เพราะสังคมมนุษย์เกิดขึ้นมาจากความเชื่อใจกันและกัน ยิ่งเชื่อใจกัน สังคมยิ่งมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าไม่เชื่อใจกัน ก็จะยิ่งต้องสิ้นเปลืองพลังงาน (energy) ในการใช้ชีวิต

ตัวอย่างที่ Venturelli เล่ามานั้นเห็นภาพมาก เขาพูดถึงสังคม “มนุษย์ถ้ำ” ที่ในอดีตต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวง ว่าจะมีมนุษย์ถ้ำคนอื่นๆ มาแย่งอาหารหรือสิ่งของไป ในช่วงที่ตัวเองต้องออกไปล่าสัตว์ ทำให้มนุษย์ถ้ำทำอะไรไม่ได้มาก เช่น ไปล่าสัตว์ไกลๆ ไม่ได้ สังคมก็ไม่ได้ก้าวหน้าขึ้น

ทางออกของมนุษย์ถ้ำ คือ การทำข้อตกลงระหว่างกันว่าจะไม่ขโมยของกันเองในกลุ่ม และคอยช่วยคุ้มครองกันจากชนเผ่าอื่น เมื่อทุกคนเคารพข้อตกลงนี้จริงๆ สร้างความเชื่อใจระหว่างกันและกัน ก็ทำให้มนุษย์ถ้ำนำพลังงานที่เหลือใช้ ไปทำอย่างอื่นให้สังคมมนุษย์ก้าวหน้าขึ้น

นี่คือคำว่า “สังคม” คือการยอมเสียอิสระบางอย่าง (เช่น อิสระในการตีหัวคนอื่น ขโมยของคนอื่น) เพื่อแลกกับอิสระที่มากขึ้นในด้านอื่น เช่น เราไม่ต้องกังวลว่าจะถูกคนอื่นตีหัวอีกต่อไป เดินทางไปทำอะไรก็ได้อย่างเสรีมากขึ้น

สังคมมนุษย์วิวัฒนาการมาในทิศทางนี้ สังคมที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีความเชื่อถือกันในสังคมมากขึ้นไปด้วย ประเทศพัฒนาแล้วมีความเชื่อใจกันมากกว่าประเทศด้อยพัฒนา ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ระดับการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ อาชญากรรม คุณภาพชึวิต

Venturelli บอกว่า การอยู่ในสังคมที่ไม่เชื่อใจกัน จะยิ่งเปลืองพลังงาน (energy) ซึ่งในที่นี้หมายถึงพลังงานชีวิต ความเครียดที่ต้องมานั่งหวาดระแวงกัน

ตบกลับเข้ามาที่บล็อกเชนได้อย่างสวยงาม Venturelli พูดถึงระบบการเงินของบราซิล ระหว่างระบบธนาคารแบบเดิม (มีความเชื่อถือรวมกันที่ตัวกลาง) กับ Bitcoin (ไม่เชื่อถือใครเลยในเครือข่าย) หากให้จำนวนผู้ใช้งานธุรกรรมมีขนาดพอๆ กัน ปริมาณพลังงาน (energy ในที่นี้คือไฟฟ้า) ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะระบบของ Bitcoin สิ้นเปลืองพลังงานไปกับการต่อสู้กับความไม่เชื่อใจกัน (proof-of-work) นั่นเอง

Venturelli จึงบอกว่า blockchain คือเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อโลกที่ไม่เชื่อใจกัน แต่เราต้องการสร้างโลกที่เชื่อใจกันนี่นา ตกลงอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องกันแน่

Venturelli อธิบายว่า blockchain มีจุดกำเนิดจากชุมชนที่ไม่เชื่อใจใคร เช่น 4Chan, กลุ่ม anarchists ต่อต้านทุน เทียบได้กับพวกคนที่เชื่อในโลกแบน (flat earth) คนเหล่านี้ต้องการให้เราละทิ้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์-สังคมศาสตร์แบบเดิมๆ เช่น บอกให้เราทิ้งความรู้ทางรัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ที่มนุษยชาติสั่งสมมา เพื่อมาสร้างโลกทุนนิยมใหม่ที่ไร้ตัวกลางด้วยกัน ด้วยเหตุผลกำปั้นทุบดินแค่ว่า “รัฐบาลเชื่อไม่ได้”

เขาบอกว่าคนกลุ่มนี้ฝันถึงโลก dystopian จริงๆ จังๆ ไม่ใช่มุข ต้องมองว่าคนเหล่านี้ไม่ได้อ่านนิยายอย่าง Snow Crash ในเชิงวิจารณ์สังคม หรือล้อเลียนสังคม แต่พวกเขาอยากให้โลกเป็น dystopian ที่พวกเขาสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจนั่นแหละ (Venturelli ไม่ได้พูด แต่ผมพูดเองว่า Libertarian ดีๆ นี่เอง)

ประเด็นที่เหลือของ Venturelli พูดถึง NFT ในฐานะการเก็งกำไร (speculation) ที่เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจแบบ zero-sum game (มีคนได้ ต้องมีคนเสีย) และโยงไปถึงการออกแบบเกม ซึ่งคงไม่ลงรายละเอียดต่อในทีนี้ ใครสนใจตามไปดูคลิปหรือสไลด์กันเองได้

ที่เขียนถึงเรื่องนี้เป็นเพราะว่า ผมพยายามเขียนประเด็นว่า “decentralization ไม่ใช่สิ่งจำเป็น” มาแล้วหลายครั้ง

แต่ต้องยอมรับว่าวิธีการอธิบายเรื่องว่า “มันไม่จำเป็น” ของผมมักไปในเชิงเทคโนโลยี (“เรามีเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่ดีกว่า”) หรือทางเศรษฐศาสตร์ (“มันไม่เกิดผลิตภาพ”) แต่ยังขาดมุมมองเชิงสังคม

วิธีการอธิบายของ Venturelli ที่บอกว่า มันเป็นสิ่งตรงข้ามกับสังคมในฝันของมนุษยชาติ ที่ต้องการสร้างความเชื่อใจกันให้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นการเล่าเรื่องที่เห็นภาพ (และที่สำคัญคือ จับใจมาก) ซึ่งควรค่าแก่การนำไปใช้งานต่อในอนาคต

หมายเหตุ: ภาพประกอบจากฉากเปิดเรื่องของ 2001 A Space Odyssey ซึ่งในชีวิตจริง ไม่มีแท่งหิน Monolith จากต่างดาว (หรือ Satoshi Nakamoto) ลอยลงมาช่วยให้มนุษย์พัฒนาไปแบบก้าวกระโดด มนุษยชาติต้องค่อยๆ ขยับพัฒนาการของตัวเองมาทีละขั้นด้วยตัวเอง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ความเชื่อใจกัน