ฟัง Francis Fukuyama ผู้เขียนหนังสือ The End of History and the Last Man ไปออกรายการของ Ian Bremmer กลายเป็นสองนักวิเคราะห์ผู้ยิ่งใหญ่ของวงการ Geopolitics มานั่งคุยกันถึงอนาคตของโลกปี 2025 ที่รัฐบาล Trump 2.0 เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกด้วย
ภาพประกอบขอยืมจากหนัง Jumanji ที่ชื่อภาคพูดถึง Jungle
ประเด็นสำคัญจากรายการ (เรียงตามลำดับการพูดในรายการ)
- Ian Bremmer เรียกยุคนี้ว่า A Leaderless World คือโลกที่ไม่มีใครเป็นผู้นำ และเพิ่งรู้จากรายการตอนนี้ว่า Bremmer ตั้งชื่อบริษัทของเขาเองว่า GZERO ด้วยเหตุผลนี้คือหมายถึง G”0″ ในลักษณะเดียวกับ G7 แต่ใช้เลข 0 เพื่อบอกว่าไม่มีประเทศไหนหรือกลุ่มประเทศไหนเลยที่สามารถขับเคลื่อนโลกได้ลำพัง
- Bremmer บอกว่าเขาไม่ได้มอง Trump เป็นปัจจัยเสี่ยงของโลกปี 2025 เพราะเขาไม่ใช่เหตุแต่เป็นผล (he’s not the cause but rather a symptom)
- ระเบียบโลกยุคจากนี้ไปจะสับสนมาก เพราะมันไม่ถูกจัดระเบียบตามอุดมการณ์ (it’s not organized ideologically) แต่อุดมการณ์ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในดุลอำนาจโลก
- โลกยุคหน้าจะกลับไปเป็น “ป่า” (jungle) ใช้ “กฎแห่งป่า” ใครมีกำลังเยอะกว่าชนะ แทนการใช้ระเบียบโลกทางกฎหมายแบบเดิม
- ระเบียบโลกเดิมถูกสร้างโดยอเมริกา มาตั้งแต่ยุคกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย (1991) แต่ดูเหมือนว่าผ่านมา 30 กว่าปี อเมริกากำลังจะ “ถอนตัว” (checking out) ออกจากหน้าที่นี้
- ระเบียบโลกเดิมของอเมริกา อยู่บนเศรษฐกิจตลาดเปิด การค้าเสรี แต่อเมริกาภายใต้แนวทางของ Trump จะแคบลงจากเดิม (a much narrower) มาก จะเน้นการหาประโยชน์สูงสุด (maximize) โดยไม่มีหลักการใดเป็นสำคัญ อเมริกาจะไม่ทำประโยชน์เพื่อโลก (public good) อีกต่อไป
- วิธีคิดเดิมของอเมริกาจะเน้นประโยชน์จากเสถียรภาพระยะยาว ไม่หาประโยชน์ระยะสั้น เช่น บุกอิรักหรือคูเวตแล้วไม่ไปครอบครองบ่อน้ำมัน แต่ในยุคของ Trump จะกลับกันคือมองหาประโยชน์ระยะสั้น ไม่ได้สนใจว่าระยะยาวจะเป็นอย่างไร (short-termism)
- ในยุคแห่งป่า ถ้าเราอยู่ในชั้นล่างของห่วงโซ่อาหารก็อันตรายหน่อย แต่ถ้าอยู่บนสุดของหวงโซ่ มันอาจเป็นโลกที่ดีเหมือนกัน
- ยุคแห่งป่า เกิดจากอเมริกามีพลังอำนาจลดลง ถึงแม้พลังทางเศรษฐกิจยังถือว่าโอเคอยู่ แต่ในแง่การเมืองภายใน อเมริกาแตกแยกอย่างหนัก ไม่สามารถสร้างข้อตกลงร่วมระหว่างเดโมแครต-รีพับลิกัน (bipartisan consensus) ได้อีกแล้วว่าต้องการพาอเมริกาไปทางไหน
- ชาติพันธมิตรของอเมริกาเองก็อ่อนแอลงหมด เช่น รัฐบาลทรูโดในแคนาดา, ปัญหาการเมืองในเกาหลีใต้, เยอรมนี, ฝรั่งเศส อ่อนแอกันหมด
- ชัยชนะของ Trump และรีพับลิกันในการเลือกตั้งปี 2024 อาจทำให้ Trump เข้าใจผิดไปว่ามีอำนาจมาก แต่จริงๆ แล้วถึงแม้รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภา ก็ยังนำเดโมแครตอยู่นิดเดียว ไม่ได้มี mandate ทางการเมืองยิ่งใหญ่ แบบที่ Franklin D. Roosevelt เคยมีในช่วงหลังปี 1932 หรือ Lyndon B. Johnson เคยมีในช่วงหลังปี 1964 ดังนั้น Trump เปราะบางกว่าที่เรา (และตัวเขาเอง) คิด
- Fukuyama ยังไม่แน่ใจนักว่า Trump จะปฏิบัติกับจีนอย่างไร การขึ้นภาษี สงครามการค้านั้นเป็นไปได้ แต่ในแง่การทหาร โอกาสน่าจะน้อยเพราะตลอดทั้งชีวิต Trump ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนโยบายกลาโหมเลย และเอาเข้าจริงตัวของ Trump พยายามวิ่งหนีจากความขัดแย้งมาโดยตลอดด้วย ในสมัย Trump 1.0 เขามีปฏิบัติการทางทหารนิดๆ หน่อยๆ ในซีเรียเท่านั้น
- ยุโรปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ภายใต้ภาพลวงตาของตัวเอง ว่าจะพึ่งพาสหรัฐอเมริกาในประเด็นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แต่ในอีกทางก็ยังทำการค้ากับจีนได้ โดยเฉพาะเยอรมนีที่มีการค้ากับจีนเยอะมาก แต่ตอนนี้ยุโรปเริ่มรู้ตัวแล้วว่าจะต้องสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอเมริกามากขึ้น
- อินเดียเป็นผู้นำ Global South ที่ไม่เอาจีนแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้อยู่ข้างอเมริกาชัดเจนเหมือนกัน เป็นระเบียบโลกแบบเดียวกับยุคสงครามเย็น
- เดิมทีนั้น ประเทศพวกอิหร่าน เกาหลีเหนือ ต่างคนต่างอยู่ไม่ยุ่งกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นพันธมิตรกันจริงๆ จังๆ ขายอาวุธให้กันและกัน ส่งทหารไปช่วยกัน (ตัวอย่างคือรัสเซียใช้ทหารเกาหลีเหนือในยูเครน) ส่วนจีนแม้ไม่ได้เข้าไปยุ่งโดยตรง แต่ก็ช่วยสนับสนุนรัสเซียอยู่เงียบๆ
- Xi Jinping นั้นต่างจาก Putin ตรงที่ระวังตัวกว่ามากๆ ที่จะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องดุลอำนาจของโลก แบบที่รัสเซียส่งทหารไปช่วยประเทศต่างๆ เช่น ซีเรีย
- ฝ่ายขวาอเมริกานั้นเคย “ไปสุด” ในยุคเศรษฐกิจ Neoliberal ทุนนิยมที่ไร้การควบคุมใดๆ จนเละในปี 2008 ส่วนฝ่ายซ้ายอเมริกาก็ “ไปสุด” อีกทางจาก identity politics ที่สร้างความแตกแยก และเป็นเหตุสำคัญให้เดโมแครตแพ้เลือกตั้งในปี 2024
- ค่านิยมแบบ liberal democracy กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากรีพับลิกัน โดยเฉพาะฝั่ง liberal ในขณะที่ฝั่ง democracy นั้นไม่ค่อยโดนแล้ว เพราะ Trump ชนะการเลือกตั้งปี 2024 (ฮา) ฝ่าย Trump เลยกลับมาเคารพประชาธิปไตยใหม่อีกครั้ง
- หลักการสำคัญของ liberal อย่าง rule of law หรือ check & balance จะถูกท้าทาย ปรากฏการณ์หนึ่งที่ Fukuyama คิดว่าน่าสนใจคือ “excessive proceduralism” หรือการมีกฎระเบียบ กระบวนการมากเกินไป จนเราไม่สามารถสร้างอะไรใหม่ๆ ได้บนแผ่นดินอเมริกาอีกแล้ว เป็นเพราะฝ่าย liberal เชื่อในการผลักดัน social justice ผ่านกลไกภาครัฐ จนออกกฎระเบียบมาเต็มไปหมด อย่างในแคลิฟอร์เนีย ตอนนี้แทบสร้างอะไรไม่ได้เลย แม้เป็นสิ่งที่ liberal เองก็ต้องการ อย่างฟาร์มโซลาร์ที่เป็นพลังงานสะอาด
- การที่ประเทศมีกฎเกณฑ์มากเกินไปจนทำอะไรไม่ได้ ทำให้คนเริ่มมองว่า รัฐบาลเผด็จการอาจดีกว่า เพราะอย่างน้อยสร้างผลลัพธ์ให้เกิดได้จริง ตัวอย่างผู้นำเผด็จการของ El Salvador ที่ได้รับความนิยมสูงจากคนในประเทศก็มาจากปัจจัยนี้ (อาชญากรรมเยอะ จับคนเข้าคุกเยอะๆ อาชญากรรมลดลง 90% ทันที!)