ในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คำว่า failed state หรือรัฐล้มเหลวกลายเป็นหัวข้อสนทนาของสังคม จากวิกฤตศรัทธาต่อ “ระบบรัฐไทย” (ที่ความหมายกว้างกว่า “รัฐบาล”) จากหลายเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน
หลังจากนั้นมีบทสนทนาที่น่าสนใจ (ในเชิงวิชาการ) ต่อเนื่องขึ้นมา จึงอยากมา recap ไว้สักหน่อย
เริ่มจาก ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย จุดประเด็นหนังสือ Why Nations Fail (2012) ของ Acemoglu & Robinson ว่าประเทศไทยกำลังมุ่งไปในแนวทางนี้หรือไม่
ต่อมาพี่ยุ้ย สฤณี เขียนถึงหนังสือฉบับต่อมาของผู้เขียนชุดเดิมคือ The Narrow Corridor (2019) ที่พยายามหาวิธีพาประเทศให้พ้นกับดักของ Failed State โดยบอกว่ามันมีเส้นทางแคบๆ (narrow corridor ตามชื่อหนังสือ) ของประเทศที่เจริญแล้ว
จากนั้น BBC Thai สัมภาษณ์ James Robinson หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ ถึงมุมมองต่อสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งดีมาก ขอแนะนำให้อ่านกัน

ในบทสัมภาษณ์ Robinson พูดถึงหลายประเด็น แต่ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่สุดคือ “จินตนาการ” ร่วมกันของคนในชาติว่าประเทศควรเป็นอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่แนวคิด “Broad Coalition” แนวร่วมกว้างที่ช่วยกันผลักดันประเทศไปยังทิศทางนั้น
อ่านจบแล้วยังไม่ทันคิดต่อดี ตื่นเช้ามาก็เจอ อ.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร โพสต์ความเห็นไว้เรียบร้อยแล้ว
ข้อเสนอของ อ.วีระยุทธ มี 3 ข้อ
- โค้งสุดท้ายสู่ High income คือประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ
- “จินตนาการ” ว่าประเทศไทยควรเป็น ญี่ปุ่นที่จัดจ้าน เกาหลีที่เท่าเทียม สิงคโปร์ที่สนุก
- ระบบอุปถัมภ์จะเป็นแกนกลางของสังคมไทยจริงหรือ
ผมคิดว่าข้อ 1 และ 3 ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว คงไม่ต้องถกเถียงกันเยอะ
อันที่น่าสนใจถกเถียงต่อคือข้อ 2. ว่า ณ เวลานี้ เรามี “จินตนาการร่วม” ของสังคมหรือยังว่าอยากเห็นประเทศไทยไปในทางใด
การมีประชาธิปไตย นิติรัฐ-นิติธรรม เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน (necessary condition) ที่ต้องมีอยู่แล้ว แต่อย่างที่ Robinson ตั้งข้อท้าทายเอาไว้ว่า สิ่งที่เป็นโมเดลเฉพาะของไทย ต่างจากประเทศอื่นๆ นั้นคืออะไร
พอมีคำว่า “จินตนาการ” อยู่ด้วย เลยพลอยนึกถึงแนวคิด Imagined Communities ของ Ben Anderson ที่อธิบายว่า “ชาติ” เป็นแนวคิดสมัยใหม่ ที่เกิดขึ้นในยุคมีสื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันสามารถ “จินตนาการ” ถึงชาติแบบเดียวกันได้ (เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้)
Ben Anderson เขียนเรื่อง Imagined Communities ในปี 1983 ซึ่งนานมากแล้ว คำถามสำคัญต่อมาคือ ถ้าเราต้องมาจินตนาการความฝันของชาติกันใหม่ในยุค TikTok และ ChatGPT มันควรหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร ที่เป็นไปได้จริง (อิงอยู่บนรากเหง้า/สินทรัพย์ที่มี) และเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า (ไม่ใช่จินตนาการย้อนยุค ถอยหลังกลับไปสู่อดีตที่แย่กว่า)
อ.วีระยุทธ จินตนาการถึง “ญี่ปุ่นที่จัดจ้าน เกาหลีที่เท่าเทียม สิงคโปร์ที่สนุก” (Spicy Japan, Equitable Korea, Lively Singapore)
ถ้าลองดู keyword สำคัญ มี 2 กลุ่มคือ “จัดจ้าน/สนุก” และ “เท่าเทียม/ไม่เหลื่อมล้ำ”
เรื่องความเท่าเทียมนั้น ผมคิดว่าเราสามารถเสนอ “ชาตินิยมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ได้
เมื่อพูดถึงคำว่า “ชาตินิยม” คนมักนึกถึงแนวคิดของฝ่ายขวา เชิดชูความเป็นชาติผ่านสถาบันแบบดั้งเดิม (เช่น ชาติพันธุ์/ศาสนา อย่าง MAGA Movement) และมักเป็นที่รังเกียจของฝ่ายซ้ายเสรีนิยม-หัวก้าวหน้าที่ยึดหลักความเท่าเทียมเป็นที่ตั้ง
แต่ผมคิดว่าเราสามารถสร้างชาตินิยมที่ทุกคนภูมิใจร่วมกัน ไม่กีดกันใครออกไปได้ (ข้อเสนอนี้อยู่ในหนังสือ Why Nationalism ของ Yael Tamir นักการเมืองอิสราเอลฝ่ายก้าวหน้า) ตัวอย่างที่ชัดเจนของวิธีการนี้คือ “We choose to go to the Moon” ของ JFK ที่รวมใจคนอเมริกันไปดวงจันทร์ได้ โดยไม่ต้องกีดกันคนดำ ผู้หญิง เกย์ ผู้อพยพ ออกไปจากสมการ
ส่วนประเด็นเรื่องความจัดจ้าน/สนุก อันนี้ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันหมดว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญของคนไทย และตรงกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันเรื่อง soft power ด้วย (แม้คำเรียกเป็นคนละคำ แต่เป็นเรื่องเดียวกัน) เพียงแต่เราจะนิยามความจัดจ้าน/สนุกในศตวรรษใหม่อย่างไรกันดี
ผมยังคิดเรื่องนี้ได้ไม่ตกผลึกนัก แต่ก็นึกไปถึงกระแส Cool Britannia ของอังกฤษยุค 90s ช่วงรัฐบาล Tony Blair ยุคนั้นเรามี Spice Girls หรือวง Britpop ชื่อดังหลายวง มีการเล่นกับความเป็นชาติ (Spice Girls ใส่ชุดลายธง Union Jack) และมีเซนส์ของการมองโลกในแง่บวก เห็นโอกาสใหม่ๆ (optimism) หลังความเครียดและปั่นป่วนของอังกฤษในยุค 70-80s
Cool Britannia เป็นกระแสที่เกิดขึ้นเองแบบ organic ส่วนหนึ่ง (น่าไปศึกษาต่อในรายละเอียดว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร) และรัฐช่วยสร้างต่ออีกส่วนหนึ่ง ตรงนี้น่าตั้งคำถามต่อว่าถ้าเราอยากสร้างจินตนาการของประเทศไทยในอนาคต กระบวนการของมันควรเป็นเช่นไร
แต่ถ้าเทียบกัน 2 เรื่อง ระหว่าง “ความสนุก/จัดจ้าน” กับ “ความเท่าเทียม” ผมคิดว่าความสนุกนี่คนไทยไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ส่วนประเด็นเรื่องความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยมายาวนาน มันต้องใช้ “ความตั้งใจสร้าง” อย่างมาก ซึ่งไม่มีทางลัดใดๆ เพราะสังคมต้องมีฉันทามติร่วมกันเท่านั้นเลย