in Knowledge

History of Ukraine

อ่านข่าวความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน แล้วไม่ค่อยเข้าใจบริบทการเมืองระหว่าง 2 ประเทศนี้มากนัก เลยไปอ่านเพิ่มใน Wikipedia เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น มาจดบันทึกไว้

ประวัติศาสตร์ยูเครนแบบรวบรัด

ยูเครนเป็นประเทศยุโรปตะวันออก ที่อยู่ระหว่างกลางของ 2 ประเทศใหญ่ในยุคนั้นคือ โปแลนด์ กับ รัสเซีย ก็จะสลับไปสลับมา ตกเป็นเมืองขึ้นหรือรัฐบริวารของ 2 ประเทศนี้อยู่เรื่อยๆ

เมื่อจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire) เรืองอำนาจ ยูเครนก็อยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซียเรื่อยมา จนกระทั่งเจอสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายหลังปฏิวัติปี 1917 ทำให้ยูเครนมีโอกาสเป็นอิสรภาพในช่วงสั้นๆ แต่เมื่อกลุ่มบอลเชวิกชนะสงครามกลางเมือง ยึดรัสเซียได้เบ็ดเสร็จ กองทัพแดงของรัสเซีย ก็เข้ามายึดยูเครนในปี 1921 ผนวกเข้าเป็นสหภาพโซเวียตในปี 1922 (Ukrainian War of Independence) โดยมีดินแดนบางส่วนที่ติดโปแลนด์ ก็ถูกผนวกเข้ากับโปแลนด์ (Western Ukraine) เรียกได้ว่าโดนยึดแดนจากมหาอำนาจทั้ง 2 ฝั่ง

ยูเครนภายใต้โซเวียตผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง และการปกครองในยุคสตาลิน จนสตาลินตายในปี 1954 ผู้นำคนใหม่คือ ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) หันมาใช้นโยบายเป็นมิตรกับยูเครน ถึงขั้นยกแหลมไครเมียให้เป็นของขวัญในปี 1954 (โอนจากเขตรัสเซีย มาเป็นเขตยูเครน ในโซเวียตด้วยกัน)

ยูเครนในยุคโซเวียตยังผ่าน วิกฤตการณ์เชอโนบิล ในปี 1986 ด้วย

แผนที่ยูเครนในช่วงอยู่ใต้โซเวียต – Wikipedia

ยูเครนยุคหลังโซเวียต ทศวรรษ 90s

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ยูเครนก็เป็นอีกหนึ่งรัฐที่แยกตัวเป็นอิสรภาพในปี 1991 และเจอปัญหาคล้ายๆ กับอดีตรัฐโซเวียตรัฐอื่น คือต้องตามหาตัวตนว่าตกลงแล้วจะเดินหน้าไปทางไหน จะเป็นประชาธปไตยแบบตะวันตกไปเลยไหม ระบบเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

ยูเครนในทศวรรษแรก 1990s เจอกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก จนต้องออกสกุลเงินใหม่มาเพื่อแก้ปัญหาค่าเงิน ส่วนด้านการเมือง ได้ Leonid Kravchuk ที่เป็นประธานสภา มารับบทเป็นประธานาธิบดีคนแรกในปี 1991 และชนะการเลือกตั้งครั้งแรก เป็นประธานาธิบดีต่อมาจนถึงปี 1994

ระบบการเมืองของยูเครนเป็นแบบ semi-presidential คล้ายกับของฝรั่งเศส-รัสเซีย ที่มีทั้งประธานาธิบดี (จากการเลือกตั้งโดยตรง) และนายกรัฐมนตรี (จากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี) โดยสภามีสิทธิโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีมีสิทธิยุบสภา

Kravchuk แพ้เลือกตั้งครั้งที่สองในปี 94 ให้กับ Leonid Kuchma นายกรัฐมนตรีที่เขาตั้งมาเอง โดย Kuchma ชนะเลือกตั้งอีกรอบในปี 1999 ได้เป็นประธานาธิบดีนาน 10 ปี (1994-2004)

การเมืองยูเครนในยุค Kuchma เต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น การควบคุมสื่อ ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ช่วงปลายของ Kuchma ความนิยมของเขาตกลง (ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Kuchma ค่อนข้างโปรรัสเซียนิดๆ)

การเลือกตั้งปี 2004 และ Orange Revolution

จุดเปลี่ยนสำคัญของยูเครน อยู่ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 ที่ตัวเต็งคืออดีตนายกรัฐมนตรีในยุค Kuchma 2 คน ที่ชื่อต้นเหมือนกันอีก นั่นคือ Viktor Yushchenko และ Viktor Yanukovych

  • Viktor Yushchenko เคยเป็นอดีตผู้ว่าธนาคารกลางของยูเครน ก่อนมาเป็นนายกปี 1999-2001 สายเสรีนิยม โปรตะวันตก
  • Viktor Yanukovych เคยเป็นอดีตผู้ว่าของแคว้น Donetsk ที่ติดกับรัสเซีย ก่อนเป็นนายกปี 2002-2004 ซึ่งเป็นสายโปรรัสเซีย

ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า Yanukovych ชนะ ซึ่งเกิดคำถามตามมาเรื่องการโกงคะแนนเลือกตั้ง เกิดการประท้วงใหญ่ช่วงปลายปี 2004-ต้นปี 2005 ที่เรียกว่า Orange Revolution ใช้สีส้มเป็นสัญลักษณ์ (ก่อนสงครามเหลืองแดงของไทยเล็กน้อย) จบด้วยศาลสูงของยูเครนตัดสินให้เลือกตั้งใหม่ จบด้วย Yushchenko ชนะด้วยคะแนน 51.99% ต่อ 44.20%

ยูเครนในยุคของ Yushchenko ปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เศรษฐกิจเติบโตดี ช่วงนี้มีตัวละครใหม่เข้ามาคือ Yulia Tymoshenko นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของยูเครน สายโปรตะวันตกเต็มขั้น มุ่งพายูเครนเข้า EU และ NATO เธอได้เป็นนายก 2 รอบคือระหว่างปี 2005 และ 2007-2010

Yushchenko และ Tymoshenko เป็นพันธมิตรการเมืองกันมานาน โดย Tymoshenko ถือเป็นผู้นำในการประท้วง Orange Revolution ด้วย แต่ภายหลังก็แตกกัน โดยเฉพาะในเหตุการณ์ท่อแก๊สรัสเซียปี 2009 ทำให้รัสเซียตัดการส่งแก๊สที่ผ่านยูเครน

การเลือกตั้งปี 2010 และ Revolution of Dignity

ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาปี 2010 ทั้ง Yushchenko, Tymoshenko, Yanukovych ลงเลือกตั้งด้วยกันหมด

ประธานาธิบดี Yushchenko ที่ความนิยมตกต่ำอยู่แล้ว แพ้ไปก่อนแบบหมดรูป (ได้คะแนนอันดับ 5) เหลือ Tymoshenko กับ Yanukovych มาสู้กันต่อในเลือกตั้งรอบที่สอง ซึ่งเป็นการเลือกของยูเครนว่าจะไปทางไหน ไปยุโรป (Tymoshenko) หรือรัสเซีย (Yanukovych) ผลการเลือกตั้งคือ Yanukovych ชนะแบบเฉียดฉิว 48.95% ต่อ 45.47%

ถ้าเราดูจากแผนที่ผลคะแนนเลือกตั้ง 2010 จะเห็นชัดเลยว่ายูเครนถูกแบ่งออกเป็นครึ่งประเทศซ้าย-ขวา

แผนที่เลือกตั้งปี 2010 ที่มา – Wikipedia

เมื่อยูเครนแตกแยกทางความคิดอย่างหนัก การเลือกตั้งปี 2010 จึงทำให้แตกแยกหนักเข้าไปอีก เมื่อ Yanukovych ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขาก็เดินหน้าเชื่อมสัมพันธ์กับรัสเซียทันที เซ็นสัญญากับรัสเซียต่ออายุฐานทัพเรือในไครเมีย ในทางตรงข้ามก็พับแผนการเข้าร่วมกับ EU และ NATO

ส่วนด้านการเมือง เขาก็พยายามเอาผิดคู่แข่งการเมืองคือ Tymoshenko ในปี 2011 ด้วยข้อหาต่างๆ ซึ่งศาลก็ตัดสินให้ Tymoshenko ต้องจำคุก 7 ปี (ออกจากคุกในปี 2014)

ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนปี 2012 ได้ผลออกมาคล้ายๆ กันคือ พรรคของ Yanukovych ได้พื้นที่เกือบเหมือนของปี 2010 เป๊ะเลย

ที่มา – Wikipedia

อุณหภูมิทางการเมืองในยูเครน ทำให้ฝ่ายต่อต้าน Yanukovych เริ่มประท้วงช่วงปลายปี 2013 โดยมีชื่อเรียกว่า Euromaidan (แปลว่า Euro Square ซึ่งเกิดจากการประท้วงเรื่องยุโรป ที่จัตุรัส Independence Square ในกรุงเคียฟ) จนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2014 กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวชื่อ Maidan Revolution หรือ Revolution of Dignity เกิดการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บหลายร้อยคน

ผลของการประท้วงทำให้ Yanukovych ต้องหนีออกนอกประเทศ (ซึ่งจะไปที่อื่นไม่ได้นอกจากรัสเซีย ปัจจุบันก็ยังลี้ภัยอยู่ในรัสเซีย) รัฐสภาลงมติเอาถอดถอนประธานาธิบดี มีการตั้งประธานาธิบดีชั่วคราว และเลือกตั้งใหม่ช่วงกลางปี 2014

2014 เหตุการณ์รัสเซียผนวกไครเมีย

Annexation of Crimea by the Russian Federation เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขนานไปกับ Revolution of Dignity คือในช่วงที่ Yanukovych เผชิญการประท้วงอย่างหนัก จนตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2014

ฝั่งรัสเซียคือปูติน ก็ตัดสินใจส่งทหารเข้าไปในแหลมไครเมีย (ซึ่งเคยเป็นของรัสเซียมาก่อน และมีคนรัสเซียอยู่เยอะ ส่วนหนึ่งก็อยากกลับเข้าไปรวมกับรัสเซีย) เพื่อเป็นการตอบโต้ยูเครน

การผนวกรวมไครเมียใช้เวลาไม่ถึงเดือน โดยไครเมียลงประชามติเข้าร่วมกับรัสเซีย (96.77% เข้าร่วม) สภารัสเซียลงมติตอบรับการเข้าร่วมในวันที่ 21 มีนาคม 2014

เหตุการณ์นี้ทำให้รัสเซียโดนไล่ออกจาก G8 และเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น G7 เหมือนเดิม

นอกจากการผนวกไครเมียแล้ว ในภาคตะวันออกของยูเครน คือแคว้น Donetsk และ Luhansk ที่ติดกับรัสเซีย ก็ยังพยายามแยกตัวออกเป็นอิสระจากยูเครนเช่นกัน

แผนที่ความขัดแย้งปี 2014 ไครเมีย และยูเครนตะวันออก

การเลือกตั้งปี 2014 ชัยชนะของ Poroshenko

การเลือกตั้งปี 2014 เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ Revolution of Dignity มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ 1) Yanukovych ออกนอกประเทศ  2) Tymoshenko ออกจากคุกมาแล้ว และกลับสู่สนามการเมือง ลงเลือกตั้ง

แต่การเลือกตั้งรอบนี้มีตัวละครใหม่คือ Petro Poroshenko มหาเศรษฐีชาวยูเครน ที่เคยเป็นรัฐมนตรีในช่วงปี 2009-2010 และ 2012 รวมถึงเป็น ส.ส. อิสระในปี 2012 มาลงเลือกตั้งด้วย

จากการที่ Poroshenko ค่อนข้างวางตัวเป็นอิสระ (แม้นโยบายคือต่อต้าน Yanukovych โดยให้การสนับสนุนการเงินกับผู้ประท้วง Euromaidan ด้วย) ทำให้เขาชนะแบบทิ้งห่างคือ 54.70% ในขณะที่ Tymoshenko ได้เพียง 12.81% เท่านั้น (ในพื้นที่ Donetsk และ Luhansk บางส่วนจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะกลุ่มติดอาวุธที่โปรรัสเซียขัดขวาง)

คนที่เลือก Poroshenko คือสีเทาอ่อน

เมื่อได้เป็นประธานาธิบดี Poroshenko พยายามแก้ปัญหายูเครนตะวันออก โดยการกระจายอำนาจให้ปกครองตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับรัสเซียก็ไม่ได้ดีนัก เพราะ Poroshenko ประกาศชัดว่าต้องการพายูเครนเข้าร่วมกับ NATO

การเมืองยูเครนในยุคของ Poroshenko จึงเหมือนการซื้อเวลา คือ พักสงบหลังเหตุการณ์ประท้วงปี 2014 แต่ปัญหาเรื่องการแยกตัวของรัฐภาคตะวันออก และความสัมพันธ์กับรัสเซียยังคงอยู่

เลือกตั้งปี 2019 ชัยชนะของดาราตลก Zelensky

Poroshenko ลงเลือกตั้งสมัยที่สองในปี 2019 และพ่ายแพ้ยับเยินให้กับ Volodymyr Zelensky ดาราตลกที่ผันตัวมาเล่นการเมือง (ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) ด้วยคะแนน 73.22% ต่อ 24.45% ในการเลือกตั้งรอบที่สอง (Tymoshenko ยังลงเลือกตั้งอยู่ แต่ได้คะแนนอันดับ 3 เลยไม่ได้เข้ารอบสอง)

Zelensky ชนะการเลือกตั้งด้วยภาพลักษณ์ที่สดใหม่ ไม่เคยเล่นการเมืองมาก่อน (แต่เขาเคยเล่นละครรับบทเป็นประธานาธิบดี) และชูนโยบายแก้ปัญหาความขัดแย้งกับรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังถือเป็นประธานาธิบดีสายโปรยุโรป อยากหายูเครนเข้า EU และ NATO, มีนโยบายให้คนยูเครนพูดภาษายูเครน ไม่พูดรัสเซีย

ปี 2020 อาจถือเป็นปีพักเบรก เพราะทุกประเทศต้องไปแก้ปัญหา COVID แต่พอมาถึงปี 2021 ช่วงต้นปี ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียก็ตั้งหลักได้ และกลับมาสนใจเรื่องยูเครน เริ่มสะสมกำลังทหารตามพรมแดน จนกระทั่งเริ่มมีการเผชิญหน้ากันในช่วงต้นปี 2022

กล่าวโดยสรุปคือ ปัญหาของยูเครนไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด แต่เป็นสิ่งที่สะสมมานานแล้วตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง (รัสเซียโอนไครเมียให้) หรือเรื่องพรมแดนที่พร่าเลือนระหว่างเส้นแบ่งเขตแบบรัฐชาติสมัยใหม่ และเขตชาติพันธุ์ในอดีต แล้วมาบวกด้วยพลังการเมืองแบบ “ปูติน” เลยยิ่งไปใหญ่

ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องยูเครน-รัสเซียจะจบลงอย่างไร แต่อย่างน้อยการเข้าใจบริบทของยูเครนก็ทำให้เข้าใจปัญหานี้ได้ถ่องแท้ขึ้น