คนที่เคยอ่านนิยายของหวงอี้ น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า “ที่ราบกวนจง” (Guanzhong Plain) ซึ่งเป็นพื้นที่ราบแคบๆ รอบเมืองซีอานในปัจจุบัน
นิยายเรื่องหลักๆ ของหวงอี้ คือ เจาะเวลาหาจิ๋นซี (ราชวงศ์ฉิน) และ มังกรคู่สู้สิบทิศ-เหยี่ยวมารสะท้านสิบทิศ (ราชวงศ์ถัง) ล้วนแต่มีเมืองหลวงในพื้นที่เดียวกันคือ เซียนหยาง (ฉิน) และ ฉางอาน หรือ ซีอานในปัจจุบัน (ถัง)
ตัวละครในนิยายมักพูดถึงชัยภูมิของเมืองเซียนหยาง-ฉางอาน ว่าอยู่ด้านตะวันตกสุดของประเทศจีน (ในยุคนั้น) มีภูเขาสูงเป็นปราการอยู่ด้านหลัง และด้านหน้ามีช่องเขาแคบๆ ช่วยให้การป้องกันประเทศจากศัตรูแคว้นอื่นๆ ที่รุกเข้ามาจากตะวันออกได้ง่าย แคว้นฉินหรือถังจึงอยู่ในสถานะ “ไม่พ่ายแพ้” ส่วนจะบุกออกไปเอาชนะแคว้นอื่นได้หรือไม่ ก็อีกเรื่องนึง
ภูมิศาสตร์ของประเทศจีนนั้น ครึ่งขวาเป็นที่ราบด้านตะวันออกที่ติดทะเล ส่วนครึ่งซ้ายเป็นภูเขาสูงที่ต่อแนวยาวมาจากแถวทิเบต ส่วนความสูงแค่ไหนนั้น ดูแผนที่แบบ topography map ที่แสดงความสูงก็จะเห็นภาพชัดเจนมาก
จะเห็นว่าในย่านภูเขาชั้นแรก (สีแดง) ก่อนถึงทิเบต (สีน้ำตาล) มีรูโหว่ใหญ่อยู่ช่องหนึ่ง อันนั้นไม่ใช่ที่ราบกวนจงนะครับ แต่เป็นที่ราบเสฉวน (Siquan Basin) ซึ่งเป็นที่ราบใหญ่ท่ามกลางขุนเขาอีกแห่งหนึ่งด้วย ส่วนที่ราบกวนจงคือที่ราบเล็กๆ ที่อยู่เหนือตรงนั้นไปอีกนิดนึง
ที่ราบเสฉวนก็เป็นพื้นที่อีกแห่งที่มีขุนเขารายล้อม มีชัยภูมิเหมาะแก่การป้องกัน ถ้าใครเคยอ่านสามก๊ก เล่าปี่มาตั้งรัฐฉู่ (จ๊กก๊ก ในสำเนียงฮกเกี้ยนที่คนไทยคุ้นเคย) ที่นี่ด้วยเหตุผลเดียวกัน หรือในเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศ ก็มีช่วงที่โค่วจงเดินทางมายังเสฉวน (เมืองสำคัญคือ เฉิงตูและฉงชิ่ง) เพื่อมาพบกับดาบสวรรค์ซ่งเซวีย ว่าที่พ่อตา ซึ่งก็พูดถึงเรื่องแนวป้องกันทางธรรมชาตินี้เช่นกัน
กลับมาที่เรื่องที่ราบกวนจง ในการ์ตูนเรื่อง Kingdom ซึ่งจับความยุคจิ๋นซีฮ่องเต้รวมประเทศ มีเหตุการณ์ในเรื่องที่แคว้นอื่นๆ มารุมกินโต๊ะรัฐฉินกัน โดยกองทัพของรัฐฉิน ตั้งรับที่ช่องเขา Kankoku Pass หรือชื่อภาษาจีนคือ Hangu Pass
ช่องเขานี้ถือเป็นช่องเขาแคบๆ ที่อยู่ปากทางเข้าที่ราบกวนจง ด้านหนึ่งเป็นแม่น้ำ อีกด้านเป็นภูเขา ทำให้สามารถตั้งรับการโจมตีของกองทัพขนาดใหญ่ได้ เหตุการณ์ในการ์ตูนคือ กองทัพพันธมิตรตีไม่เข้า แต่เลือกข้ามเขาไปยังช่องแคบ Bu Pass ที่อยู่ทางใต้แทน
ระหว่างค้นข้อมูลเรื่องนี้ ไปเจอเว็บจีนพูดถึงเหตุการณ์ที่เคยมีกองทัพรัฐฉี (Qi) สามารถบุกผ่าน Hangu Pass ได้สำเร็จเพียงรายเดียวในประวัติศาสตร์ (เหตุการณ์เกิดในยุคของอ๋อง Zhaoxiang ซึ่งเป็นปู่ทวดของจิ๋นซี)
ภายหลังในยุคสามก๊ก โจโฉได้สร้างป้อมอีกแห่งชื่อ Tongguan หรือ Tong Pass ขึ้นมาแทน Hangu Pass (ขยับมาทางตะวันตกอีกหน่อย) ทำให้ความสำคัญของ Hangu Pass ลดลงไป (โจโฉกับม้าเฉียว เคยมารบกันที่นี่)
Hangu Pass มีความสำคัญในฐานะจุดกึ่งกลางระหว่างเมืองหลวงของจีน 2 แห่งคือ ซีอาน (เมืองหลวงตะวันตก) และลั่วหยาง (เมืองหลวงตะวันออก)