in Knowledge

From the River to the Sea

ภาพแผนที่ภูมิประเทศจาก Library of Congress

หลังจากตามข่าวเรื่องอิสราเอล-ปาเลสไตน์มาพอสมควร แกนหลักหนึ่งในความขัดแย้งรอบนี้คือประโยคที่ว่า “From the River to the Sea” ซึ่งเป็นสโลแกนที่ชาวปาเลสไตน์และผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ใช้กันในการประท้วงตามเมืองใหญ่ทั่วโลก เลยเกิดความสงสัยว่าประโยคนี้คืออะไร ความหมายจริงๆ ของมันคืออะไรกันแน่

ตัวประโยคมาจากภาษาอารบิกว่า من النهر إلى البحر ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า From the River to the Sea

ส่วนสโลแกนทางการเมืองที่ใช้กันแบบเต็มๆ คือ “From the river to the sea, Palestine will be free”

ความหมายของคำว่า river หมายถึงแม่น้ำจอร์แดน (Jordan river) ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างรัฐอิสราเอล/ปาเลสไตน์ (ตรง West Bank ซึ่งคำนี้ก็คือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน) กับประเทศจอร์แดน โดยแม่น้ำจอร์แดนไหลไปลงทะเลสาบเดดซี ซึ่งเป็นพรมแดนของอิสราเอลกับจอร์แดนเช่นกัน พื้นที่รอบๆ แม่น้ำตรงนี้เรียกกันว่า Jordan Valley

ส่วนคำว่า sea คือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) ตรงชายฝั่งด้านตะวันตกของอิสราเอลทั้งหมด

ดังนั้น From the River to the Sea มีความหมายในเชิงกายภาพถึงพื้นที่ประเทศอิสราเอล/ปาเลสไตน์ในปัจจุบันทั้งหมด (combined area) นั่นเอง

ภาพจาก The Guardian

ส่วนประโยคนี้จะมีความหมายในเชิงการเมืองอย่างไร คงขึ้นกับว่าใครเป็นคนพูด และใครเป็นคนตีความ

ประโยคนี้เริ่มใช้ครั้งแรกโดยขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ที่เริ่มก่อตั้งในปี 1964 ซึ่งมีความหมายในทางการเมืองมาตั้งแต่ต้น ว่าต้องการทวงคืนพื้นที่เดิมของปาเลสไตน์ “ทั้งหมด” ก่อนก่อตั้งรัฐอิสราเอล

แต่เมื่อภายหลัง PLO ปรับเป้าหมายการทวงคืนพื้นที่ลง มาเป็นการอยู่ร่วมกับอิสราเอลให้ได้ กลุ่มฮามาสที่ก่อตั้งในภายหลังคือปี 1988 และมีมุมมองต่างจาก PLO จึงรับสืบทอดอุดมการณ์ดั้งเดิม คือทวงคืนพื้นที่ของปาเลสไตน์คืน

ประโยคนี้มีความหมายหลากหลายขึ้นกับการตีความ บ้างก็ว่าหมายถึงการมีรัฐเดียวในเชิงกายภาพ แต่หลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกัน บ้างก็ตีความไปอีกสุดทางคือความหมายในเชิงก่อการร้าย ที่หมายถึงการกำจัดชาวอิสราเอลทั้งหมดออกไปจากพื้นที่นี้

การใช้งานประโยคนี้ขยายไปไกลทั่วโลก อย่างเมื่อไม่นานมานี้ Andy McDonald ส.ส. อังกฤษจากพรรคแรงงาน หยิบประโยคนี้ไปพูดในงานประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ จนถูกขับพ้นจากพรรค (Guardian)

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ฝั่งอิสราเอลเองก็ใช้งานประโยคแบบเดียวกันนี้ (ซึ่งนำมาจากคัมภีร์ไบเบิล) โดยพรรค Likud Party ของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู คนปัจจุบัน (ก่อตั้งปี 1977) มีภารกิจระบุไว้ในธรรมนูญพรรคว่า “between the Sea and the Jordan there will only be Israeli sovereignty” ก็เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เดียวกัน บรรยายแบบเดียวกัน แต่คนละมุมมองนั่นเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม Guardian, Al Jazeera