in Business, Football

Dynamism

วันนี้คุยกับมิตรสหายท่านหนึ่งเรื่อง dynamism ของ “ทีม” เลยนึกถึงเรื่องของ “ทีมฟุตบอล” ขึ้นมา

ตอนที่ Manchester City ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกปี 2017/2018 (ทะลุ 100 แต้มเป็นประวัติศาสตร์) ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของกุนซือสมองเพชรอย่าง Pep Guardiola ในช่วงนั้นพอดี (ขี้เกียจค้นหาลิงก์ เอาจากความทรงจำ)

Pep (ที่ตอนนั้นหล่อโคตรๆ เพราะทำได้ 100 แต้มแบบทิ้งห่างอันดับสองสุดกู่) ให้สัมภาษณ์ว่าตอนที่เขามา City ในฤดูกาลแรกนั้น (2016/2017) เขายังทำผลงานได้ไม่ดี (ได้อันดับ 3 ส่วนแชมป์คือ Chelsea ของ Conte ที่มาปีแรกได้แชมป์เลย) เพราะเขาคิดว่าทีม City ในตอนนั้นยังขาดๆ เกินๆ หรือมีส่วนผสมที่ไม่ลงตัวมากพอ

แต่พอเป็นฤดูกาล 2017/2018 ที่เขาปรับจูนทีมจนลงตัวแล้ว ทีมก็เข้าขั้น “เพอร์เฟคต์” จนสามารถคว้าแชมป์ได้แบบใสๆ 100 แต้ม

ที่จำเรื่องนี้ได้เพราะรู้สึกแอบน่าหมั่นไส้เล็กน้อย (ตอนนั้นได้ 100 แต้มจะพูดอะไรก็เท่ไปหมด) จำได้ว่าแกได้แชมป์พรีเมียร์ลีกแล้ววันถัดมาไปตีกอล์ฟอย่างสบายใจด้วยซ้ำ

แต่สถานะความ “เพอร์เฟคต์” นั้นเป็นเรื่องที่ลื่นไหลและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา ทีมที่สร้างประวัติศาสตร์ 100 แต้มในฤดูกาล 2017/2018 พอมาถึงฤดูกาล 2018/2019 ที่บริบทเปลี่ยนไปมาก ก็ไม่สามารถทำผลงานได้ดีขนาดเดิมอีก (Liverpool เก่งขึ้น, นักเตะบางคนฟอร์มตกลงไป เช่น Jesus หรือ Kevin De Bruyne ที่เจ็บ เป็นต้น)

แน่นอนว่า City ยังครองแชมป์ต่อได้อีกสมัย (98 คะแนนก็ถือว่าเยอะมากแล้วนะ) แต่ก็ด้วยส่วนต่างเพียงแต้มเดียว

ที่เอาเรื่องนี้มาเขียนถึงก็เพื่ออยากจะย้ำว่า ความเก่งของทีม (ที่สะท้อนออกมาด้วยแต้มลีก) นั้นไม่มีความตายตัว แต่มันเป็นพลวัตร (dynamism) ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา ขนาดทีมที่เก่งระดับทำ 100 แต้มได้ทีมเดียวในประวัติศาสตร์ ยังต้องปรับเปลี่ยนดีเทลในจุดเล็กๆ น้อยๆ ต้องเปลี่ยนคนใหม่เข้าทีม เอาคนเก่าออกจากทีม สลับตัว โรเตชัน ฯลฯ เพื่อรักษาสภาวะนั้นเอาไว้

กลับมาที่การสร้างทีมของเราเอง ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เก่งขนาด Pep (และไม่ได้มีเงินอาบูดาบีหนุนหลัง) แต่หลักการนี้ก็ยังสามารถใช้งานได้ ความเก่งของสตาร์อาจเปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลา แต่ต้องดูภาพรวมเรื่อง dynamism ของทีมให้ลงตัวพอดีจึงสำคัญที่สุด

ภาพจาก @PepTeam