Darkest Hour หนังประวัติของ Winston Churchill ที่ออกมาในปี 2017 โดยจับเอาช่วงที่ Churchill ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 1940 และต้องมาเผชิญกับงานยากทันที นั่นคือสงครามโลกครั้งที่สอง ที่กองทัพรถถังเยอรมนีบุกโจมตียุโรปแบบสายฟ้าฟาด (Blitzkrieg) กวาดเอาชัยชนะไปทั่วยุโรป
กองทัพใหญ่ของอังกฤษและสัมพันธมิตรที่อยู่ในยุโรปภาคพื้นทวีป ถูกต้อนเข้ามาอยู่ที่เมือง Dunkirk ในฝรั่งเศส และมีความเสี่ยงที่จะถูกเยอรมันเอาชนะแบบเบ็ดเสร็จ ชนิดว่าไม่มีทหารเหลืออีกเลย (ทั้งตายและถูกจับเป็นเชลยสงคราม)
ณ จุดที่วิกฤตที่สุด หรือชั่วโมงที่มืดมนที่สุด Churchill ในฐานะผู้นำประเทศ ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญระหว่าง เดินหน้าสู้ต่อไป หรือจะยอมเจรจาสงบศึกกับเยอรมนี ในช่วงที่เสียเปรียบแบบสุดๆ
ประวัติศาสตร์บอกเราแล้วว่า Churchill ตัดสินใจสู้ต่อ และสามารถเอาชนะได้ในบั้นปลาย แต่ ณ ตอนนั้นที่อนาคตยังมืดมนไม่ชัดเจน เกิดอะไรขึ้นระหว่างนั้น ความกดดันมีมากแค่ไหน แค่เพียงชะตาชีวิตของทหารนับแสน อนาคตของประเทศก็ยากแล้ว ยังมาเจอปัจจัยเรื่องความกดดันจากกษัตริย์จอร์จที่ 6 และเพื่อนนักการเมืองร่วมคณะรัฐมนตรีที่ไม่ไว้ใจกันอีกต่างหาก
หนังเรื่องนี้เป็น “อีกด้าน” ของ Dunkirk ของ Christopher Nolan ที่จับเอาเหตุการณ์อพยพทหารครั้งใหญ่ข้ามช่องแคบอังกฤษ แต่เล่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น ในมุมของนักการเมืองในลอนดอนที่ไม่เคยไปเหยียบสมรภูมิ นั่นแปลว่ามันเป็นหนังสงครามที่ไม่มีฉากรบ มีแต่ฉากเถียงกันของนักการเมืองในสภา และในศูนย์บัญชาการสงคราม
เนื่องจากมันเป็นหนังการเมือง การจะหาฉากแอคชั่นในเรื่องก็คงไม่มี แถมด้วยความยาว 2 ชั่วโมงเต็ม ก็ต้องเป็นคอหนังการเมืองจริงๆ จังๆ ถึงจะสนุกกับเรื่องนี้ (ผมดูสตรีมมิ่งก็ต้องแบ่งช่วงดูอยู่ 3 รอบกว่าจะจบ)
จุดเด่นสำคัญของหนังคือการแสดงของ Gary Oldman ที่เปลี่ยนลุคอย่างสิ้นเชิงจากสารวัต James Gordon ใน Batman หรือ Sirius Black ใน Harry Potter กลายมาเป็นตาลุงอ้วนลงพุงหัวล้าน นิสัยเสียปากไม่ดีอย่างเชอร์ชิลได้อย่างน่ามหัศจรรย์ (สมควรแก่การได้ออสการ์)
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เทคนิคด้านภาพที่เน้นการแพนกล้องต่างระดับมากๆ เช่น จากภาพระดับถนนกลายเป็นภาพมุมสูง (หรือกลับกัน) ก็แปลกตาดี ช่วยให้หนังมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น จากการปะทะคารมกันในสภาหรือในห้องแคบๆ ตลอดเรื่อง
ตัวละคร Elizabeth Layton เลขาของเชอร์ชิล (แสดงโดย Lily James ซินเดอเรลลา 2015) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หนังดู “เฟรช” ขึ้น จากการที่มีแต่ลุงแก่ๆ นักการเมืองเถียงกันตลอดเรื่อง การมีเลขาสาวสวยเพิ่มเข้ามาก็ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศได้มาก
เกร็ดอื่นๆ
- Elizabeth Layton มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่มาทำงานกับ Churchill ช้ากว่าในหนัง คือปี 1941 หลังเหตุการณ์ในหนัง 1 ปี
- เหตุการณ์ที่ Churchill ออกไปคุยกับประชาชนในรถไฟใต้ดิน อันนี้ไม่มีในประวัติศาสตร์ (จริงๆ ก็พอเดากันได้)
- ขั้วของ Neville Chamberlain และ Viscount Halifax นั้นมีนโยบายเอาใจฮิตเลอร์ (appeasement) เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามมานานแล้ว (ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ช่วงปลาย) จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้ง Chamberlain และ Halifax จะพยายามเสนอให้เจรจาสงบศึก
- Earl Halifax เคยเป็นข้าหลวงประจำอินเดีย (Viceroy of India) และเคยเจรจากับมหาตมะ คานธี
บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติชีวิตของ Churchill ที่โลดโผนกว่าแค่สงครามโลกครั้งที่สอง
- ประวัติศาสตร์เบื้องหลัง King’s Speech ที่เป็นเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นนิดหน่อย มีตัวละครเดียวกัน พระเจ้าจอร์จที่ 6, Neville Chamberlain และ Churchill