in Movies

ประวัติศาสตร์เบื้องหลัง The King’s Speech

หนังดังปี 2010 เพิ่งมาได้ดูตอนปี 2019 ก็คือช้าไปเกือบสิบปี -_-

เป็นเรื่องของกษัตริย์อังกฤษ พระเจ้าจอร์จที่ 6 (George VI) พระบิดาของพระราชินีอลิซาเบธที่สอง กษัตริย์องค์ปัจจุบัน ที่ต้องเอาชนะการติดอ่างของตัวเอง เพื่อปฏิบัติภารกิจของกษัตริย์ซึ่งต้องพูดในที่ชุมชนอยู่บ่อยครั้ง มิหนำซ้ำยังต้องปราศรัยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ นั่นคือ การประกาศสงครามโลกครั้งที่ 2 กับเยอรมนีด้วย

เรียกได้ว่าอ่านเรื่องย่อก็น่าสนใจแล้ว เพราะเป็นการหยิบเอาเรื่องเล็กๆ ที่ดันส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อคนทั้งโลก มาเล่าให้ฟังในรูปแบบภาพยนตร์แนวดรามาที่ไม่หนักจนเกินไป แถมเป็นหนังครอบครัว-อบอุ่นด้วยซ้ำ

ภาพรวมก็ดีงามตามชื่อเสียงของหนังที่ชนะ 4 รางวัลออสการ์ เรื่องรีวิวคงไม่ต้องพูดกันเยอะเพราะคนเขียนถึงกันไปมากแล้ว แต่ที่อยากเขียนถึงคือเบื้องหลังการสร้างหนังเรื่องนี้ ที่มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่าสนใจหลายอย่าง

  • หนังเกิดขึ้นมาได้เพราะ David Seidler ผู้เขียนบทก็เป็นคนพูดติดอ่างมาตั้งแต่เด็ก และเขาก็ประทับใจในเรื่องของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ที่สามารถเอาชนะอาการติดอ่างได้ (ติดอ่างแล้วแก้ได้ ถึงขั้นปราศรัยผ่านวิทยุให้คนทั้งประเทศฟังได้) จึงอยากหยิบประเด็นนี้มาทำเป็นบทหนัง
  • เหมือนโชคชะตาอยากให้หนังเรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะเขียนเป็นบทหนังแล้วไม่มีใครเอา เลยต้องเขียนเป็นบทละครเวทีแทน แสดงในโรงเล็กๆ แต่หนึ่งในคนดูดันเป็นแม่ของผู้กำกับ Tom Hooper ที่ดูจบแล้วก็แนะนำให้ผู้กำกับนำมาทำเป็นหนัง
  • อย่างไรก็ตาม ภายหลังก็มีละครเวทีชื่อ The King’s Speech ที่สร้างขึ้นจริงๆ หลังจากหนังด้วยเช่นกัน โดยเล่นในปี 2012 เป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
  • ทีมผู้สร้างได้สมุดโน้ตของ Lionel Logue มาจริงๆ ทำให้รายละเอียดในฝั่งของ Logue ค่อนข้างแม่นยำ เช่น ประโยคที่ Logue พูดตอนจบสปีชว่า “You still stammered on the W” และกษัตริย์ตอบว่า “ตั้งใจพูดแบบนี้คนจะได้จำได้ว่าเป็นฉัน”
  • อย่างไรก็ตาม ทีมผู้สร้างก็ยอมรับว่าจงใจ dramatize บางประเด็นให้มันดราม่ายิ่งขึ้น เหมาะแก่การเป็นสื่อบันเทิง ดังนั้นก็มีเหตุการณ์บางอย่างในประวัติศาสตร์ที่อาจไม่ตรงนักเป็นปกติ
  • ฉากขึ้นครองราชย์ ตามประวัติศาสตร์จริงต้องเกิดที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) แต่เข้าไปถ่ายทำไม่ได้ เพราะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตลอดเวลา เลยต้องไปใช้  Ely Cathedral แถวๆ เคมบริดจ์แทน
  • ฉากในวังต่างๆ ยังถ่ายทำไม่ยากนัก เพราะใช้สถานที่พวกวังหรืออาคารเก่าๆ ่คล้ายๆ กันได้ แต่ฉากถนนหน้าบ้านของ Logue ที่ต้องแต่งเป็นบรรยากาศยุค 1930s ก็ถึงกับต้องปิดทั้งถนนเพื่อเซ็ตฉากกันเลยทีเดียว
  • คนที่แสดงเป็นพระราชินี Elizabeth คือ Helena Bonham Carter ซึ่งบทบาทที่รู้จักกันดีคือ Bellatrix Lestrange แม่มดตัวร้ายใน Harry Potter ที่เป็นคนฆ่า Sirius Black
  • Geoffrey Rush คนที่แสดงเป็น Logue ถือเป็นตัวเลือกแรกของทีมผู้สร้าง ที่น่าสนใจคือเขาเป็นคนออสเตรเลีย และ Logue ก็เป็นคนออสเตรเลีย
  • Colin Firth กลับเป็นตัวเลือกที่สามในบทพระเจ้า George VI โดยตัวเลือกแรกคือ Paul Bettany และตัวเลือกที่สอง Hugh Grant ปฏิเสธบทนี้

เกร็ดประวัติศาสตร์จากเรื่อง

  • ภรรยาของกษัตริย์ George VI ชื่อว่า Elizabeth และลูกสาวคนโตก็ชื่อ Elizabeth ซึ่งคนแรกเรารู้จักกันในชื่อ Queen Mom ส่วนคนหลังก็แน่นอนว่าคือ Elizabeth II กษัตริย์องค์ปัจจุบัน
  • กษัตริย์ George VI ครองราชย์ไม่ได้นานมากคือ 16 ปี (1936-1952) ครองราชย์ตอนอายุ 41 และสิ้นพระชนม์ตอนอายุ 56 พรรษา แต่ก็ผ่านช่วงเวลาสำคัญคือสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) และการแตกสลายของจักรวรรดิอังกฤษ ที่อาณานิคมต่างๆ ทยอยแยกตัวหลังสงครามโลก
  • แต่ Queen Mom อายุยืนกว่านั้นมากคือ 101 ปี (1900-2002) เรียกได้ว่ามีอายุยืนต่อจากนั้นมาอีกครึ่งศตวรรษเลยทีเดียว
  • กษัตริย์ George VI ขอพระราชินี Elizabeth แต่งงานสามครั้งถึงยอม อันนี้เป็นเรื่องจริง
  • หนึ่งในเหตุผลที่ George VI ตายเร็ว นอกจากสุขภาพไม่ดีมาตั้งแต่เด็กแล้ว เป็นเรื่องการสูบบุหรี่จัดมาก ตามที่เห็นในหนัง
  • พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (Edward VIII) สละบัลลังก์ในปี 1936 ก็แต่งงานกับ  Wallis Simpson ในปีต่อมา 1937 และอยู่กินกันยาวจนสิ้นพระชนม์ในปี 1972 (อายุยืนถึง 77 ปี) โดยอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส
  • เหตุผลที่ Edward VIII ไม่สามารถแต่งงานกับ Wallis Simpson ได้ เป็นเพราะกษัตริย์อังกฤษมีตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดทางศาสนา นิกาย Church of England ด้วย (นับตั้งแต่ Henry VIII แยกนิกายออกมาจากกรุงโรมในปี 1536) และด้วยเหตุผลด้านศาสนา ทำให้ผู้นำนิกายไม่สามารถแต่งงานกับหญิงที่เคยมีสามีมาแล้วได้
  • แต่ในทางปฏิบัติจริง ผู้นำทางศาสนาตัวจริงคือ Archbishop of Canterbury ซึ่งก็คืออาร์คบิชอปคนที่สวมมงกุฎให้กษัตริย์ (คนที่ดำรงตำแหน่งในตอนนั้นคือ Cosmo Gordon Lang)
  • กษัตริย์ George VI มีชื่อต้นว่า Albert (ชื่อเล่นจึงเป็น Bertie) แต่ตอนครองราชย์ต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อ George เพราะ “ชื่อ Albert ฟังดูเป็นเยอรมันมากเกินไป” อันนี้ไม่ใช่แค่ชื่อตัวเท่านั้น แต่ชื่อราชวงศ์ Windsor ก็เปลี่ยนชื่อมาจากราชวงศ์ Saxe-Coburg and Gotha ที่เป็นเยอรมันด้วยเช่นกัน
  • เหตุผลก็เพราะกษัตริย์ยุโรปแต่งงานข้ามกันมั่วไปหมด และถ้าย้อนไปถึงพระราชินีวิคตอเรีย ย่าทวดของ George VI ก็เป็นลูกครึ่งอังกฤษ-เยอรมัน ส่วนพระสวามี ก็เป็นเยอรมันแท้ๆ ที่มาจากราชวงศ์ Saxe-Coburg and Gotha ทำให้กษัตริย์อังกฤษองค์ต่อมาคือลูกชาย Edward VII เริ่มนับเป็นราชวงศ์ Saxe-Coburg and Gotha
  • ชื่อราชวงศ์นี้มีปัญหาตอนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งอังกฤษรบกับเยอรมัน เลยต้องเปลี่ยนชื่อให้ดูไม่เป็นเยอรมันจนเกินไป จึงมาจบที่ Windsor ตามชื่อปราสาท Windsor ที่มีประวัติยาวนานกว่านั้นมาก
  • ฉากตอนขึ้นครองราชย์ เก้าอี้ไม้ตัวที่ Logue ไปนั่งและโดนกษัตริย์ดุ (ดูในคลิปเทรลเลอร์ข้างบนได้) เป็นเก้าอี้ประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า King Edward’s Chair ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1296 (อายุเจ็ดร้อยกว่าปี) โดยกษัตริย์ Edward I เพื่อใช้นั่งตอนสวมมงกุฎ และใช้สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคนั้น
  • สปีชจริงของ George VI ฟังได้จากคลิปด้านล่าง จะได้ดูว่าแก้ติดอ่างได้จริงแค่ไหน (เสียงไม่ค่อยชัดนักตามยุคสมัย)

ดูเรื่องนี้เสร็จแล้ว ควรไปดูซีรีส์ The Crown ของ Netflix ต่อ แต่จะเอาเวลาจากไหนนี่สิ