ภาพประกอบจาก UCLA
เคยเขียนเอาไว้ช่วงเกิด COVID ใหม่ๆ (Readjust) ว่าการเกิดโรคระบาดจะทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศลดลง เราจะกลับไปสู่ยูนิตพื้นฐานคือ “ชาติ” เพราะมีอำนาจควบคุม-ปกป้องประชาชนของตัวเองจากภัยคุกคาม (ซึ่งในที่นี้คือไวรัส)
หน่วยงานความร่วมมือระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติ (เช่น EU, ASEAN, WHO, UN) จะมีความสำคัญลดลง แต่ละชาติจะเน้น “เอาตัวเองให้รอดก่อน” แล้วค่อยไปยุ่งเรื่องอื่นที่อยู่นอกขอบเขตของพรมแดน-ประชาชนของตัวเอง
เมื่อเกิดวิธีคิดแบบ “แบ่งเขา-แบ่งเรา” ขึ้นมา เราจึงเห็นปรากฏการณ์ “รังเกียจคนต่างชาติ” (xenophobia) เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น
- การรังเกียจคนจีน (รวมถึงคนเอเชีย) ในประเทศตะวันตก ในช่วงแรกๆ ที่เกิด COVID เพราะมองว่าเป็นผู้เริ่มต้นโรคระบาด
- แม้แต่ในเอเชียด้วยกันเอง ก็เกิดมุมมองว่าคนจีนนำมาซึ่งโรคระบาดเช่นกัน (ตะวันตกเหยียดเอเชีย เอเชียเหยียดจีน) เมื่อบวกกับคนเอเชียไม่พอใจจีนในเรื่องอื่นๆ สะสมอยู่แล้ว จึงลุกลามขึ้นมากลายเป็น The Nnevvy War
- ความพยายามขับไล่นักศึกษาต่างชาติออกจากอเมริกา ผ่านมาตรการเรื่อง Visa (ล่าสุดยอมถอยแล้ว)
ทางออกที่ง่ายที่สุดของการควบคุมคนต่างชาติ จึงเป็นการปิดประเทศหรือปิดพรมแดนชั่วคราว (ซึ่งมีผลในแง่ของการควบคุมโรคด้วย เพราะควบคุมประชาชนตัวเองอย่างเดียว ง่ายกว่าควบคุมคนต่างชาติ) ปัญหาเรื่องเกลียดกลัวคนต่างชาติจึงดูเบาบางลงไปพักใหญ่ๆ (แม้มีปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ขึ้นมาแทน)
แต่เหตุการณ์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ชวนให้มานั่งทบทวนดูว่า อาการกลัวคนต่างชาติยังไม่หมดไปง่ายๆ และในแวดวงการต่างประเทศเอง จำเป็นต้องมาวางรากฐานธรรมเนียมปฏิบัติกันใหม่เช่นกัน
เริ่มจากเหตุการณ์ในไทย ที่เกิด 2 เคสพร้อมกัน ทั้งกรณีทหารอียิปต์ และลูกทูตซูดาน ที่ติด COVID แต่สามารถเข้ามาอยู่อาศัยปะปนร่วมกับคนไทยทั่วไป จาก “ช่องโหว่ทางการทูต” ไม่ว่าจะเป็นเอกสิทธิ์พิเศษทางการทูต หรือ ความสัมพันธ์ทางการทหาร
หรือก่อนหน้านี้เล็กน้อยคือการมาเยือนไทยของนายทหารระดับสูง ที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ต้องกักตัว หรือ ไม่ต้องสวมใส่หน้ากากในงานวันชาติของสหรัฐเช่นกัน
กรณีแบบนี้ไม่ใช่เคสเฉพาะไทยประเทศเดียว ญี่ปุ่นเองก็มีปัญหานี้กับฐานทัพอเมริกันที่โอกินาว่า ซึ่งหนักกว่าไทยด้วยซ้ำ
กรณีของโอกินาวารุนแรงกว่ามาก เพราะมันไม่ใช่แค่การเผอเรอให้สิทธิพิเศษ VIP บางคนแบบเมืองไทย แต่เป็นเรื่องอธิปไตยของประเทศเลยด้วยซ้ำ เพราะ “ฐานทัพอเมริกันทั้งหมด” มันคือสายสัมพันธ์พิเศษของญี่ปุ่น-อเมริกา ที่สถาปนามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเลยทีเดียว
การต่อต้านฐานทัพอเมริกันมีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการกระทบกระทั่งในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ (เช่น ทหารอเมริกันออกมาเมาอาละวาด) อยู่ตลอด แต่พอมีปัจจัย COVID ขึ้นมา มันเปลี่ยนจากความไม่พอใจในระดับปัจเจกหรือชุมชน กลายมาเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงต่อชีวิตประชากรไปในทันที
กรณีของโอกินาวาจึงเป็นเรื่องยากว่าจะจัดการอย่างไร ญี่ปุ่นไม่สามารถขาดฐานทัพอเมริกาได้ (เพราะปัจจัยความมั่นคงทางการทหาร) แต่ก็ไม่สามารถให้สิทธิเต็มรูปแบบกับทหารอเมริกัน ให้ไปไหนมาไหนอย่างอิสระได้อีกเช่นกัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการคงอยู่ของฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่น หรือ เอกสิทธิ์ทางการทูต (immunity/protection) อย่างเคสในไทย พวก protocol ทางการทูตจำเป็นต้องถูกทบทวน ถูกวางรากฐานกันใหม่หมดทั้งโลก
ข่าวล่าสุดวันนี้เรื่องคอนโดบางแห่งเริ่มปฏิเสธไม่ให้คนของสถานทูตเข้าพัก ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้
ยุคสมัยใหม่ของบุคคลระดับ VIP จากความสัมพันธ์ทางการทูต ย่อมมีสิทธิพิเศษต่างๆ ลดน้อยลงไป ส่วนจุดที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ก็เป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกันต่อไป