หลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คำถามที่คนทั้งโลกรอคอยคำตอบกันอยู่คือ รัฐบาลทรัมป์สมัยที่สองจะมีท่าทีต่อจีนอย่างไร
ตอนนี้ทรัมป์อาจกำลังง่วนอยู่กับการจัดวางบุคลากรระดับสูงในรัฐบาล แต่ท่าทีของฝั่งจีนนั้นออกมาแล้วในการพบปะระหว่างประธานสีกับไบเดนที่เปรู ซึ่งสปีชของประธานสีนั้น “ชัดเจนอย่างน่าตกใจ” เลยทีเดียว
ออกตัวว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน เป็นแค่ผู้สนใจทั่วไป ที่ได้อ่านสปีชของประธานสีแล้วพบสัญญาณที่น่าสนใจหลายอย่าง ซึ่งน่าจะช่วยให้เราประเมินท่าทีของจีนต่อสหรัฐในยุคทรัมป์สมัยที่สองได้ดีขึ้น
ผมอ้างอิงจาก สปีชเวอร์ชันบนเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศจีนโดยตรง เพื่อลดการตีความของสื่อตะวันตกลง
- ประธานสีเริ่มจากชมรัฐบาลไบเดน ว่านำความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐกลับมาพูดคุยสื่อสารกันเหมือนเดิม (China-U.S. dialogue and cooperation back on track) โดยละไว้ฐานที่ทุกคนเข้าใจว่ายุคทรัมป์ 1 มันแย่กว่าเดิม
- สิ่งที่น่าตกใจคือ ประธานสีพูดคำว่า The Thucydides’s Trap ที่เป็นสำนวนกรีกโบราณ หมายถึง “ชาติที่เรืองอำนาจภายหลังจะโค่นชาติที่ครองอำนาจอยู่” ขึ้นมาเอง โดยประธานสีบอกว่า The Thucydides’s Trap ไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (The Thucydides’s Trap is not a historical inevitability) เราสามารถเลี่ยงสงครามเย็นครั้งใหม่ได้ แต่ก็บอกว่าการปิดล้อมจีนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ฉลาด
- จีนพูดอะไรแล้วรักษาคำพูดเสมอ (China has always honored its words) หากสหรัฐพูดอย่างทำอย่าง ก็จะทำให้ความเชื่อใจกันลดลง
- จีนต้องการให้สหรัฐปฏิบัติกับจีนแบบเสมอภาคกัน (treat each other as equals) ไม่ควรกดอีกชาติให้ต่ำลงหรือป้องกันไม่ให้โต
- ทั้งสองประเทศต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน อันนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในสปีชนี้ เพราะประธานสีขีดเส้นแดง 4 เส้น (four red lines for China) ว่าเป็นสิ่งที่สหรัฐจะล้ำเส้นไม่ได้ (They must not be challenged) และนี่คือสิ่งป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศแย่ลง
- ทั้ง 4 เรื่องนี้ได้แก่ The Taiwan question, democracy and human rights, China’s path and system, and China’s development right (ประโยคภาษาอังกฤษเต็มๆ มาแบบนี้)
- ผมคิดว่าเรื่องไต้หวัน กับเรื่องประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน มีความตรงไปตรงมา เข้าใจได้ง่าย แต่เรื่อง China’s path and system, and China’s development right เป็นสิ่งที่ต้องตีความกันต่อไปว่า ขอบเขตที่ประธานสีต้องการไม่ให้ล้ำเส้น มันอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดๆ คือ สหรัฐแซงค์ชั่นไม่ให้ ASML ส่งเครื่องผลิตชิปให้จีน มันเป็นการล้ำเส้นข้อ development right ด้วยหรือไม่
- เตือนสหรัฐเรื่อง right to development ว่าไม่ควรเอาเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติมาอ้างในการควบคุมประเทศอื่น ไม่เคยมีหลักฐานเรื่องการโจมตีไซเบอร์จากจีนเลย จีนเองซะอีกที่เป็นเป้าการโจมตีไซเบอร์
- จีนเรียกร้องให้พูดคุยกันมากขึ้น นอกจากเรื่องเดิมๆ แล้วยังระบุเจาะจงว่าต้องการคุยเรื่อง climate change, AI และปัญหาความขัดแย้งระดับนานาชาติ (international hotspot issues)
- บอกว่าการแยกส่วนพันธมิตร (decoupling) และการทำให้ซัพพลายเชนติดขัดไม่ใช่ทางออกในความสัมพันธ์ และวิจารณ์สหรัฐว่าการปิดพื้นที่ ตั้งรั้วสูง “Small yard, high fences” ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศใหญ่ควรทำกัน
- เตือนสหรัฐอย่างเจาะจงเรื่องไต้หวัน โดยบอกว่ารู้เห็นเช่นชาติวิธีคิดของประธานาธิบดี Lai Ching-te และพรรค DPP ที่พยายามสร้างเอกราชของไต้หวัน
ผมคิดว่าเนื้อหาในคำพูดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ไม่มีเรื่องอะไรใหม่ เป็นสิ่งที่จีนพูดอยู่แล้ว เช่น ไต้หวัน ทะเลจีนใต้ ประชาธิปไตย ฯลฯ แต่ท่าทีของสีจิ้นผิงรอบนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะส่งสัญญาณที่ชัดเจนตรงไปตรงมามากไปถึงทรัมป์ ทั้งเรื่องเส้นแดง 4 เส้นที่แตะต้องไม่ได้เลย (ไม่มีอะไรชัดกว่านี้อีกแล้ว) ไปจนถึงท่าทีแบบอ้อมๆ ตามภาษาการทูต ที่พูดเรื่องทั้งสองประเทศต้องเท่าเทียมกัน สานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพื่อสันติภาพของโลก แต่ก็ตีความได้ว่าจีนเองก็ไม่ต้องการอ่อนข้อให้มากนัก
จีนเผยท่าทีที่ชัดเจนออกมาแล้ว ที่เหลือคือ ระหว่างตอนนี้ไปจนถึงวันที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2025 ก็เป็นสิ่งที่พวกเราชาวโลกต้องจับตาและประเมินแนวทางของทรัมป์กันต่อไป