in Politics

ความเปลี่ยนแปลง

มีคนส่งบทความของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์มาให้อ่านตั้งแต่สัปดาห์ก่อน แต่รอให้ลงเผยแพร่ในเว็บมติชนก่อน จะได้ทำลิงก์ไปยังต้นฉบับได้ (เว็บมติชนจะลงช้ากว่าในฉบับพิมพ์หลายวัน)

ผมคิดว่า ถึงไม่ต้องอ้าง “ศาสตร์” อะไรเลย ใครๆ ก็มองเห็นอยู่แล้วว่าเมืองไทยกำลังเปลี่ยนในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน ทั้งเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ในทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่รวมมิติอื่นๆ ทุกด้าน แต่จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรนี่สิ ที่ทำนายไม่ได้ เพราะมีความเป็นไปได้หลายทางมาก

เราทุกคนต่างร่วมอยู่ในบรรยากาศ “ตื่นเต้นเร้าใจ, สงสัยกังวลใจ, กระสับกระส่าย” (เอามาจากคำแปล suspense ในดิกชันนารีครับ) เพราะรู้ว่าอะไรสักอย่างที่ใหญ่มากๆ กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า แต่ไม่รู้ว่าอะไรนั้นคืออะไร

สัญญาณที่ทำให้เกิดบรรยากาศดังกล่าวมีให้เห็นได้ รู้สึกได้ คาดการณ์ได้ ในทุกด้านมานานพอสมควรแล้ว

เช่น เศรษฐกิจไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะโควิดนะครับ แต่เพราะระบบการผลิตของเราในเกือบทุกด้านไร้ประสิทธิภาพเสียจนไม่อาจแข่งขันกับใครได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมหรือหัตถอุตสาหกรรม แม้แต่ภาคบริการซึ่งดูเหมือนจะพอไปได้ ก็มีเฉพาะด้านการท่องเที่ยวซึ่งล้ำหน้าเพื่อนบ้าน แต่ไม่ใช่ภาคบริการด้านอื่น เช่น ไม่ใช่ด้านการเงิน, ไม่ใช่ด้านการวิจัย ฯลฯ เป็นต้น ด้านที่ยังพอแข่งขันได้ เช่น การแพทย์, เสริมความงาม, ภาพยนตร์ ฯลฯ ก็เป็นการแข่งขันด้านราคา หรือมีช่องในตลาดที่ยังไม่ถูกแข่งขัน ล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่ยั่งยืนทั้งสิ้น

นิธิ จั่วหัวไว้เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเป็นประเด็นหลักในบทความ ถึงแม้บทความมี “นัย” ในเชิงการเมืองการปกครองเป็นหลัก (มิตรสหายท่านหนึ่งคอมเมนต์ว่า นี่คือ “ไกลที่สุด” ที่นิธิสามารถเขียนได้แล้ว)

แต่สิ่งที่ผมสนใจกลับเป็นเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในเชิงการเมืองการปกครอง (ซึ่งชัดแจ้งอยู่แล้ว) แต่เป็น “ทุกด้าน” (ตามคำของนิธิ) เช่น มิติด้านเศรษฐกิจที่นิธิยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งอันนี้เป็นภาพสะท้อนจากสายตาของนักประวัติศาสตร์-สังคม ว่าโครงสร้างของเมืองไทยในปัจจุบันมันใช้การไม่ได้แล้ว (คำภาษาอังกฤษที่ตรงน่าจะเป็น obsoleted คือไม่ได้พังพินาศ แต่ล้าสมัย)

อีกประเด็นหนึ่งคือ นิธิบอกว่าอนาคตเบื้องหน้ามีความไม่แน่นอนสูง จนไม่สามารถทำนายได้ แต่นั่นคือมุมมองของนักประวัติศาสตร์ที่ทำหน้าที่ “สังเกต” ความเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้เข้าไปยุ่งกับมัน

ผมกลับคิดว่าเราสามารถทำนายได้ และชี้นำหรือชักจูงความเปลี่ยนแปลง (อย่างน้อยก็ได้ในระดับหนึ่ง) ถ้าสามารถมีสายตาที่แหลมคม มองเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ และสามารถมีข้อเสนอที่นำพาสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้