บทความนี้เป็นภาคต่อของ Readjust โดยพยายามมองโลกยุคหลัง COVID ด้วยกรอบเดิม คือการมองแยกการเคลื่อนไหวของ 3 สิ่ง ข้อมูล มนุษย์ สิ่งของ แต่ขยายผลโดยการลงรายละเอียดมากขึ้น ว่าธุรกิจใดได้รับผลกระทบบ้าง (ทั้งในทางบวกและลบ) ด้วยกรอบของ 3 ประเภท
หมายเหตุ: คุณแชมป์ ทีปกร @tpagon นำประเด็นจาก Readjust ไปเขียนต่อยอดในคอลัมน์ การงานหลังฝันร้าย ว่าด้วยการทำงานที่จะเปลี่ยนไปหลังยุคโควิด ลงในนิตยสาร a day ด้วย ใครสนใจประเด็นนี้ก็แนะนำให้ไปอ่านกัน
ย้อนความเล็กน้อย จากภาพเดิมในตอน Readjust
ผมพัฒนา framework ต่ออีกเล็กน้อย ได้ออกมาเป็นภาพที่สอง (สลับตำแหน่งของแกนนิดหน่อย ด้วยเหตุผลเรื่องความง่ายในการวาดลูกศร)
Information
ในแผนภาพอันที่แล้ว เขียนแยกชั้นของ Information ในแง่วิวัฒนาการของการสื่อสาร แต่แผนภาพเวอร์ชันใหม่ เปลี่ยนมาแยกชั้นตามฟังก์ชันการทำงานแทน
อย่างที่เขียนไปตั้งแต่แรกว่า การเคลื่อนย้ายข้อมูลข่าวสาร ได้รับผลกระทบทางลบน้อยที่สุด (เพราะไม่มี “คน” ที่เป็นพาหะนำโรคอยู่ในนั้นเลย) และได้รับผลกระทบทางบวกเป็นอย่างมากด้วย เนื่องจากการเคลื่อนย้ายคน/ของ มีปัญหา จึงต้องหาทางออกด้วยการสื่อสารแทน
- Network ในที่นี้หมายถึงผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมในภาพรวม ตั้งแต่โอเปอเรเตอร์เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์, เจ้าของเคเบิลใต้น้ำ ไปจนถึงเจ้าของศูนย์ข้อมูล เราจะเห็นการใช้งานโครงข่ายหรือศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนกระทบต่อคุณภาพของการให้บริการในระยะสั้น (แต่ระยะยาวไม่มีปัญหา)
- Hardware ครอบคลุมฮาร์ดแวร์ทุกประเภท ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์ส่วนประกอบ เช่น ซีพียู ในระยะสั้น ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากดีมานด์ลด (เพราะคนไปซื้อของไม่ได้, รายได้หาย) และซัพพลาย (โรงงานในจีนปิด) แต่ระยะยาวแล้ว ดีมานด์จะยังคงอยู่และเพิ่มขึ้นด้วย
- Software ในที่นี้หมายถึงพวกซอฟต์แวร์สาย productivity ทั้งหลาย ที่ช่วยให้การทำงานยุคใหม่ราบรื่น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ได้รับอานิสงค์อย่างมากจากกระแส Work From Home
- ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ ความนิยมของ Zoom (รวมถึงซอฟต์แวร์การประชุมอื่นๆ) รวมถึงซอฟต์แวร์ที่อาจไม่เห็นชัดเจนนัก แต่โตแบบเงียบๆ เช่น พวกระบบบัญชีออนไลน์, ERP, CRM อะไรแบบนี้ด้วย
- Content/Service หมายถึงบริการที่ต้องจ่ายเงิน ส่วนใหญ่ก็ในเชิงความบันเทิง เช่น ดูหนังออนไลน์ ฟังเพลงออนไลน์ เล่นเกม ที่ได้ปัจจัยบวกจากคนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ต้องมีความบันเทิงในบ้านมากขึ้น
- ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ ความนิยมของเกม Animal Crossing, ผลประกอบการของ Netflix พุ่งกระฉูด
- Advertising หมายถึงบริการที่ไม่ได้ใช้โมเดลจ่ายเงินตรงๆ แต่ทำเงินจากโฆษณาแทน (เช่น Google, Facebook) น่าจะเป็นก้อนเดียวในกลุ่ม Information ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจขาลง คนตัดงบโฆษณากัน แต่ก็คงไม่กระทบมากนัก
แบบสรุปๆ คือ ใครมีเงินเย็นตอนนี้ก็ไล่ซื้อหุ้นสายโทรคมนาคม/ไอทีไปเถิดครับ (ฮา) โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้น productivity ที่ไม่อ่อนไหวกับกระแสง่ายๆ เหมือนกับพวกสายโฆษณาหรือบันเทิง น่าจะเติบโตได้อีกยาวๆ
แต่ในแง่ผู้ประกอบการสายไอที ต้องบอกว่าไม่ง่าย เพราะจะกลายเป็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้ (ที่เดิมก็ใหญ่อยู่แล้ว) จะยิ่งมีขนาดใหญ่ ยิ่งทรงอิทธิพลขึ้นไปอีก เพราะบริษัทเหล่านี้แทบไม่ได้รับผลกระทบใดจาก COVID (อาจต้องปิดสำนักงานนิดหน่อย แต่ตัวธุรกิจไม่กระทบเลย) และธุรกิจนี้ต้องใช้เงินลงทุน R&D สูง ไร้พรมแดน เอื้อต่อการผูกขาดตลาดได้ง่าย กลายเป็นกำแพงขวางกั้นรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแข่งขัน ซึ่งประเด็นนี้จะเขียนต่ออย่างละเอียดในโอกาสถัดไป (เคยเขียนไว้บางแล้วในบทความ Break Up Big Tech)
Things
การเคลื่อนย้ายสิ่งของ ยังใช้ framework การมองแบบเดิม คือ ตั้งแต่การวิจัยไปจนถึงการส่งมอบของให้ผู้บริโภค
- R&D/Invention คิดว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นงานนั่งโต๊ะ white collar ที่สามารถทำออนไลน์ได้เกือบหมด อาจมีผลบ้างในบางเคส เช่น แอปเปิลรักษาความลับสินค้าเยอะจัด จนพนักงานทำงานยาก หรือ ประเด็นว่าผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ไม่สามารถเข้าไปสร้างต้นแบบที่โรงงานได้ แต่คิดว่าเป็นปัญหาระยะสั้นที่คลี่คลายได้ไม่ยาก
- Production การผลิตสินค้า เดิมที Automation เข้ามาเบียดบังมนุษย์อย่างช้าๆ อยู่แล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุน (cost) ที่เหนือกว่าแรงงานมนุษย์ แต่ COVID จะเข้ามาช่วยเร่งให้เทรนด์นี้เกิดเร็วขึ้น ด้วยปัจจัยพวกโรงงานจะกลัวคนติดโรค จนทำให้โรงงานถูกสั่งปิด กลายเป็นเจ๊งไปเลย (เหตุผลเรื่อง health) จึงบีบให้เจ้าของโรงงานต้องนำระบบ automation ต่างๆ เข้ามาใช้แทนคนอย่างเร่งด่วน
- ธุรกิจที่รุ่งคือ ระบบ automation หุ่นยนต์ แขนกลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี (ประเทศไทยต้องซื้ออยู่ดี)
- ธุรกิจที่ร่วงคือ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับ “คนงาน” เช่น นิคมอุตสาหกรรม รถรับส่ง หอพักคนงาน น่าจะเข้าสู่ขาลงคือ ค่อยๆ ร่วงในบางเซกเตอร์ที่กระทบหนัก
- นี่ยังไม่รวมถึง ตัวธุรกิจการผลิตเอง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ จนต้องเจ๊งไปเองตามธรรมชาติด้วย (แม้ไม่ติด COVID ก็ตาม)
- Distribution + Buying อันนี้ขอใช้คำอธิบายคู่กัน
- ในอดีตที่ผ่านมา การที่เราในฐานะผู้บริโภคออกไปเดินห้างซื้อของ มันมีกิจกรรมเกิดขึ้นหลายอย่าง ได้แก่ การค้นพบสิ่งของที่น่าซื้อ (discovery/recommendation) จากการมองดูของบนชั้น, การคัดเลือกสิ่งของที่อยากซื้อ (selection), การจ่ายเงินซื้อของ (buying) และการขนสิ่งของนั้นกลับบ้าน (logistics) ด้วยพาหนะของเราเอง
- ในแง่ต้นทุนทางเศรษฐกิจ มันไม่ค่อยคุ้มเท่าไรนัก สมมติว่าคนในบ้าน 4 คน นั่งรถไฟฟ้าออกไปเดินห้างเพื่อซื้อของ 1 ชิ้น แค่ต้นทุนค่ารถ ค่าเสียเวลา ก็ไม่ค่อยคุ้มแล้ว แต่เรายังยอมรับได้เพราะถือเป็นประสบการณ์อันดี (experience) ในการไปจับจ่ายใช้สอย
- แต่ในโลกยุคใหม่ มันมีวิธีที่ดีกว่า (ในเชิงต้นทุน) แทนกระบวนการทั้งหมดข้างต้น ซึ่งก็คือแยกส่วนกระบวนการ [เลือกของ/ซื้อของ] มาเป็น e-commerce และการ [ส่งของ] มาเป็น logistics แทน
- ลงทุนสร้างแพลตฟอร์มการซื้อของ (e.g. Amazon, Shopee, Lazada, Alibaba) คุ้มกว่าการสร้างห้าง เพราะพื้นที่วาง shelf space มีไม่จำกัด ไม่ต้องกระจายสร้างห้างทั่วทุกเมือง เพราะระยะทางไม่มีผล
- การส่งของด้วย messenger คุ้มค่ากว่ามาก คนส่งของ 1 คน ส่งวันละ 50 ชิ้น คุ้มกว่าการให้คน 5 คนนั่งรถไปซื้อของ 1 ชิ้นอยู่แล้ว
- ข้อได้เปรียบเรื่องความสะดวกและต้นทุน ทำให้ e-commerce หรือ O2O เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อ COVID บีบให้คนไม่สามารถออกไปซื้อของได้เอง ยิ่งทำให้การเติบโตพุ่งไปแบบก้าวกระโดด
- ตรงนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจ E-commerce อย่าง Amazon, Shopee, Alibaba หรือ Delivery มีแต่จะโตขึ้น รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น การแพ็กของ โกดังสินค้า fulfillment, ลอจิสติกส์ส่งของ (ปัญหา Kerry ส่งของไม่ทัน)
- ธุรกิจที่เป็นขาลงก็กลับกันคือ พวก retail ทั้งหลาย ตั้งแต่ร้านขนาดเล็ก ห้างขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ที่จะเจอปัญหาคนเช่าน้อยลง ค่าเช่าถูกลง ฯลฯ ตามมา
- ในอนาคตยังจะเกิด automation ในอีกทุกระดับชั้นของ O2O โดยเฉพาะกระบวนการส่งของ ที่ปัจจุบันก็ยังต้องใช้ “คน” อยู่ในทุกระดับชั้น เราเริ่มเห็น รถบรรทุกไร้คนขับ ออกมาแก้ปัญหาการขนส่งของจำนวนมาก (container) ในทางไกลๆ ที่เส้นทางซ้ำๆ หรือ การส่งของแบบ last mile ส่งถึงคอนซูเมอร์ ก็เริ่มมีหุ่นยนต์แบบ Starship ลองใช้งานจริงแล้ว
- ในอดีตที่ผ่านมา การที่เราในฐานะผู้บริโภคออกไปเดินห้างซื้อของ มันมีกิจกรรมเกิดขึ้นหลายอย่าง ได้แก่ การค้นพบสิ่งของที่น่าซื้อ (discovery/recommendation) จากการมองดูของบนชั้น, การคัดเลือกสิ่งของที่อยากซื้อ (selection), การจ่ายเงินซื้อของ (buying) และการขนสิ่งของนั้นกลับบ้าน (logistics) ด้วยพาหนะของเราเอง
- Marketing ประเด็นเรื่องการตลาด กิจกรรมด้านนี้ถูกทดแทนด้วยออนไลน์มานานแล้ว เช่น การบูสต์โพสต์ Facebook หรือการซื้อโฆษณา Google Ads
- ผลกระทบจาก COVID คือร้านค้ารายย่อยๆ จะถูกบีบให้ต้องมาโฆษณาออนไลน์กันมากขึ้น อย่างช่วงที่ผ่านมาผมก็เห็นร้านอาหารรายย่อยๆ บางร้าน ลงโฆษณาแบบ targeting ตามพื้นที่ เพื่อเชิญชวนให้สั่งข้าวเดลิเวอรีด้วย
- เมื่อบวกกับปัจจัยเรื่อง E-commerce/O2O ข้างต้น จะยิ่งทำให้ตัว platform มีสถานะเป็น “ห้างยุคใหม่” ที่อยู่ได้ด้วยค่าเช่ามากขึ้น และเมื่อ platform มีร้านเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก ปัญหาเรื่อง discoverability ย่อมตามมา (คนหาร้านไม่เจอเพราะมีเยอะมาก) ทางออกคือการลงโฆษณา ซึ่งก็จะบีบให้ร้านรายย่อยต้องจ่ายค่าโฆษณาหรือค่าการตลาดให้ platform อีก (ธุรกิจโฆษณาของ Amazon โต 44% ใน Q1/2020)
- ภาพรวมคือ platform (ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นของต่างชาติ) ก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น มีอิทธิพลมากขึ้นไปอีก ร้านค้ารายย่อยขายแทบตายก็โดนกิน margin หมด เทรนด์นี้เดิมมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ COVID เป็นตัวเร่งให้เกิดสภาพการผูกขาดที่เร็วกว่าเดิม
กล่าวโดยสรุปภาพรวมของ Things คือ
- งานด้านการผลิต ถูกทดแทนด้วย automation มีปัญหาคนตกงานตามมา
- งานเรื่อง distribution/buying/marketing ถูกทดแทนด้วย e-commerce platform/O2O ซึ่งเป็นสงครามของยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเท่านั้น อย่างเคส Amazon คือมีทุกอย่างเอง ตั้งแต่หน้าเว็บขาย โกดัง เครือข่ายการจัดส่ง ฯลฯ แถมงานออฟไลน์หายไป จะมาเช่าระบบไอที ก็หนีไม่พ้น AWS อีก เรียกว่า
วิสัยทัศน์กินรวบหมดทุกสิ่งอย่างก็ว่าได้
People
ลองมาคิดต่อจากตอนที่แล้ว การเคลื่อนย้ายคน แยกเป็น 2 แกนได้คือ ไปทำอะไร (what to do/meeting) กับ ไปยังไง (how to go/traveling) ซึ่ง COVID มีผลทำให้การเดินทางของคนได้รับผลกระทบเช่นกัน
จากภาพก็ขอแยกเป็น 2 แกนเช่นกัน
Meeting แยกระดับด้วยจำนวนคนที่ไปเจอ
- การพบหน้ากันขนาดเล็ก (small group) เช่น การออกไปซื้อของที่ร้านค้า การประชุมทีม การไปเยี่ยมญาติ
- บางอย่างไม่หายไป แต่บรรเทาด้วย social distancing ได้บ้าง เช่น การเว้นระยะในร้านค้า เรายังไปซื้อของได้อยู่ แค่มีมาตรการความปลอดภัยบางอย่างเพิ่มเติม
- บางอย่างทดแทนด้วยการสื่อสารได้ เช่น ประชุมทีมก็เปลี่ยนมาเป็น video call แทน
- บางอย่างถูกหยุดชะงักไปก่อน เช่น งดไปเยี่ยมญาติชั่วคราว งดไปสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งชั่วคราว เช่น สวนสัตว์
- การพบหน้ากันขนาดกลาง ส่วนใหญ่คือกิจกรรมเชิงสังคม (social gathering) เช่น ไปทำบุญวันพระใหญ่ ไปกินข้าวในร้านอาหารขนาดใหญ่ ไปเที่ยวผับบาร์ แล้วก็มีเรื่องการเรียน การทำงาน
- กิจกรรมทางสังคมบางอย่างจะลดลงไป เช่น คนคงไปเที่ยวกลางคืนกันน้อยลง ไปนั่งร้านที่เป็น open air แทนการเข้าผับคนแน่นๆ ไม่น่าจะสามารถกลับมาบูมได้ในเร็ววัน
- การเรียน (เอาคน 30-50 คนไปนังในห้องเดียวกัน) จะถูกทดแทนด้วย e-learning (ซึ่งในทางปฏิบัติก็ทำได้ไม่ง่าย แต่ก็ถูกบังคับให้ทำ) เมื่อบวกกับปัจจัยเรื่องการศึกษาในระบบดั้งเดิมถูกท้าทายมานานแล้ว ก็จะมีผลให้การศึกษาแบบดั้งเดิม ถูกท้าทายเข้าไปอีก มุ่งสู่ขาลงไปอีก โดยเฉพาะสถาบันภาคเอกชนที่ไม่มีงบประมาณรัฐเข้ามาอุ้ม
- การทำงาน ตรงนี้ชัดเจนว่า remote working เข้ามาแทนได้หลายส่วน หลายองค์กรที่ผ่านช่วง COVID ไป ถูกบังคับให้ลอง remote เริ่มสะดวกใจกับการให้พนักงานทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ผลคือ office space จะลดความสำคัญลง
- ในด้านกลับ พอคนอยู่บ้านและไม่ “สะดวกใจ” กับการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากนัก งานอดิเรกที่ทำได้ในบ้าน (e.g. ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร) ก็จะได้รับความนิยมสูงขึ้นแทน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือคนแห่ไปทำขนม ทำบราวนี่กันเยอะเต็มโซเชียล หรือ หม้อทอดไร้น้ำมันขายดีมาก เป็นต้น
- กิจกรรมขนาดใหญ่ (mass event) คนเป็นหลักร้อยหลักพัน เช่น คอนเสิร์ต การแข่งกีฬา สัมมนา
- การแข่งกีฬา อาจงดเรื่องผู้เข้าชม (spectator) ในสนามไปก่อน เหลือเพียงการแข่งในสนามว่างแล้วถ่ายทอดสดแทน
- นักกีฬาอาจมีงานทำอยู่บ้าง แต่คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสถานที่หรือคนดู เช่น คนขายตั๋ว ขายอาหาร คนทำความสะอาดสนามกีฬา คงเจอผลกระทบ
- กิจกรรมสัมมนาก็อาจกลายเป็น webinar หรือ live casting แทน เช่น งานสายไอทีที่ปีนี้ยกเลิกกันเกือบหมด แล้วหันมาจัดออนไลน์แทน (แน่นอนว่ารูปแบบของ interaction เปลี่ยน แต่ก็พอทดแทนได้)
- มิตรสหายในวงการหนังสือก็เล่าว่า การไม่มีงานสัปดาห์หนังสือ ส่งผลให้ยอดซื้อลดลงไปมาก ถึงแม้มีออนไลน์ช่วยทดแทนได้ก็ได้เฉพาะขาประจำ แต่ขาดยอดซื้อจากขาจรที่เดินๆ ดูแล้วซื้อในงานไปเยอะ
- หรือ บางอย่างอาจแทนด้วยความบันเทิงออนไลน์แทน เช่น คอนเสิร์ต Travis Scott ในเกม Fortnite ที่มีคนดู 12 ล้านคน
- ดังนั้น ธุรกิจอีเวนต์ ออแกไนเซอร์ จัดอีเวนต์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (คนจัดไฟ MC นักดนตรี คนจัดดอกไม้) ก็ย่อมได้รับผลกระทบ ในทางกลับกัน ธุรกิจด้านออนไลน์ (live broadcast) จะมีคนใช้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติ (อีกแหละ) และเป็นรายใหญ่ (YouTube/Facebook/Twitch/Mixer)
- การแข่งกีฬา อาจงดเรื่องผู้เข้าชม (spectator) ในสนามไปก่อน เหลือเพียงการแข่งในสนามว่างแล้วถ่ายทอดสดแทน
Traveling แยกระดับด้วยรูปแบบของการเดินทาง ทั้งความหนาแน่น/ระยะทาง
พอคนลดการออกไปเจอกัน (meeting) การเดินทางก็ย่อมได้รับผลกระทบ
- การเดินทางไปใกล้ๆ (Local Commute) เช่น ไปซื้อของ ไปทำงาน สิ่งที่ต้องทำทุกวัน ก็คงไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะยังไงซะมันก็ต้องทำอยู่ดี แต่อาจเปลี่ยนโมเดลไป เช่น คนญี่ปุ่นแห่สมัครเรียน “ขับรถ” เพราะกลัวการใช้รถไฟ-รถเมล์ ในช่วง COVID-19 ระบาด แสดงให้เห็นว่า mass transit มีคนใช้ลดลง (Grab ลดคนเพราะรายได้จากการเดินทางลดลง) คนอยากใช้ private commuting กันมากขึ้น (ซึ่งเงินก็เป็นปัจจัยว่าทำได้จริงหรือไม่ด้วย)
- การเดินทางไกลๆ เช่น ข้ามจังหวัด (Long Distance) ย่อมลดลงด้วยปัจจัยข้างต้น นั่นคือ ธุรกิจด้านรถทัวร์หรือเครื่องบินโลว์คอสต์ (เอาคนจำนวนมากไปยัดไว้ในพื้นที่ปิด เป็นเวลานานๆ) อาจต้องคิดกันใหม่หมดว่าจะมีมาตรการอย่างไร เช่น บังคับใส่ face shield หรือ เว้นระยะที่นั่ง ซึ่งก็จะมีปัญหาเรื่องต้นทุนตามมาอีกมาก (หายนะจากโควิด-19 อาจวิกฤตถึงขั้นสายการบิน Low cost ล่มสลายเพราะชีวิตแบบ New Normal)
- การเดินทางแบบข้ามประเทศ (Cross Border) ที่นอกจากมีประเด็นเรื่องความไกล แล้วยังมีประเด็นเรื่องข้ามชาติมาเกี่ยวข้อง ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะ COVID ทำให้คนไม่ไว้ใจคนต่างชาติ ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจท่องเที่ยวที่รับคนต่างชาติ (โรงแรม ทัวร์ สายการบินข้ามทวีป) ก็น่าจะล่มสลายลง และยังไม่เห็นว่าจะมีดีมานด์ฟื้นกลับมาได้ง่ายนัก
- ธุรกิจที่นึกออกว่าน่าจะไปได้คือ ธุรกิจเกี่ยวกับความสะอาด / การรับรองความปลอดภัย (เช่น ออกใบรับรองว่าสถานที่นี้ปลอดภัยแล้วนะ) ตัวอย่างคือ มาตรการรักษาความสะอาดของ Hilton แต่ก็คงเป็นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ในธุรกิจจำนวนมากที่ต้องล่มสลายลงไป
ทั้งหมดนี่คือภาพอนาคตของ “ธุรกิจหลัง COVID” ที่ลงรายละเอียดมากขึ้น (อีกสักหน่อย) และยังไม่ได้พูดถึงมิติด้านสังคม (คนตกงานจะทำอย่างไร) หรือการเมืองด้วยซ้ำ!
ภาพประกอบจากเกม Metro Exodus