ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดย Marek Ślusarczyk / Wikipedia
ตอนนี้กำลังอ่านหนังสือ “รัฐราชาชาติ” ของธงชัย วินิจจะกูล
เรื่องตัวหนังสือคงจะเขียนถึงอีกทีในภายหลัง แต่ระหว่างอ่านก็ได้ระลึกและทบทวนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา
ต้องยอมรับความจริงว่า ประวัติศาสตร์ในแบบเรียน (ชั้นมาตรฐาน) ไม่ใคร่จะสอนเหตุการณ์หลังปี 2475 ละเอียดนัก เรามักท่องจำกันแต่ว่าประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีกี่คน (คนแรกคือใคร ออกสอบ) และมีรัฐประหารทั้งหมดกี่ครั้ง
แต่เรากลับไม่ได้เรียนรู้ถึงบริบทของเหตุการณ์แต่ละช่วง ไม่รู้เหตุผลว่ารัฐประหารแต่ละครั้งเกิดขึ้นเพราะอะไร มีตัวละครใดบ้าง
การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในยุคนี้ง่ายขึ้นเยอะ มีแหล่งข้อมูลมากมาย ทั้งหนังสือเล่มใหม่ๆ หรือบทความในอินเทอร์เน็ต
แต่สำหรับผู้เริ่มต้นแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี เพราะไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน เริ่มอย่างไร เพราะประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาเกือบ 100 ปี (2475-ปัจจุบัน) มีความซับซ้อนสูง มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงพลิกผันอย่างมาก
ผมคิดว่าแนวทางที่เริ่มต้นง่ายที่สุดคือ เข้าใจถึง “ยุค” แบบกว้างๆ ก่อน เมื่อเห็นภาพ top view แล้วจะลงรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น จะทำให้ลำดับเรื่องราวได้ง่ายขึ้น
นำเรื่องนี้ไปโพสต์ลงทวิตเตอร์และได้รับเสียงตอบรับดี เลยคิดว่าควรเขียนขยายความเพิ่มเติม
การเริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยที่ซับซ้อน ต้องหัดแบ่งยุคให้ได้ก่อน
น่าจะแบ่งได้คร่าวๆ 5 ยุค
2475-2490 คณะราษฎร
2490-2516 เผด็จการทหารเบ็ดเสร็จ
2516-2535 ประชาธิปไตยครึ่งใบ
2535-2549 ประชาธิไตยรัฐสภา ไม่มีทหาร
2549-ปัจจุบัน ทหารใต้กษัตริย์ vs สภาเลือกตั้ง— Isriya Paireepairit (@markpeak) December 28, 2020
ยุคที่หนึ่ง 2475-2490 ยุคคณะราษฎร (15 ปี)
เหตุการณ์นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในปี 2475 มาจนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 โดยจอมพลผิณ ชุณหะวัณ (พ่อของพลเอกชาติชาย) ซึ่งโค่นอำนาจของคณะราษฎรปีกของปรีดีลง
ยุคที่หนึ่งเป็นยุคที่คณะราษฎรเอาชนะฝ่ายเจ้า (ร.7) และมีอำนาจเต็มรูปแบบเป็นช่วงเวลาสั้นๆ 15 ปี ที่จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายทหาร (แปลก) ในขณะที่ฝ่ายของปรีดีต้องลี้ภัยและไม่ได้กลับมาอีกเลย
ส่วนเหตุการณ์แทรกซ้อนในช่วงนี้คือ สงครามโลกครั้งที่สอง (เสรีไทย) และการสวรรคตของ ร.8 ในปี 2489
ตัวละคร: คณะราษฎรปีกพลเรือน (ปรีดี) + คณะราษฎรปีกทหาร (แปลก) vs ฝ่ายเจ้า
ยุคที่สอง 2490-2516 เผด็จการทหารเบ็ดเสร็จ (26 ปี)
ภาพรวมของยุคที่สองคือ ประเทศไทยใต้เผด็จการทหาร โดยแบ่งทหารออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (2490-2500) และกลุ่มของสฤษดิ์-ถนอม (2500-2516)
หลังจากโค่นฝ่ายของปรีดีไปได้แล้ว จอมพล ป. ก็ครองอำนาจอยู่ประมาณ 10 ปี โดยต้องบาลานซ์อำนาจกับฝ่ายทหารอีกกลุ่ม (ผิณ/สฤษดิ์) ที่รวมกำลังกับฝ่ายเจ้า โค่นอำนาจของจอมพล ป. ลงในปี 2500 (ปิดฉากคณะราษฎรฝ่ายทหาร)
จากนั้นประเทศไทยก็เข้าสู่การปกครองของขุนศึก (สฤษดิ์-ถนอม) จนถึงเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชน 2516 ที่ปิดฉากขั้วของสฤษดิ์-ถนอมลงไป
เหตุการณ์แทรกซ้อนในช่วงนี้คือ สงครามเย็น การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา และรัชสมัยของในหลวง ร.9
ตัวละคร: คณะราษฎรฝ่ายทหาร (แปลก) vs ทหารปีกใหม่ (สฤษดิ์-ถนอม) + ฝ่ายเจ้า (ร.9)
ยุคที่สาม 2516-2535 ประชาธิปไตยครึ่งใบ (19 ปี)
ปรีดี แปลก สฤษดิ์-ถนอม ถูกขจัดออกไปแล้ว ขั้วอำนาจในยุค 2516-2535 เป็นการบาลานซ์กันระหว่างฝ่ายเจ้าและฝ่ายทหาร ต่างจากยุคก่อนหน้านี้ที่ทหารเป็นแกนหลัก
ในยุคนี้มีช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานสั้นๆ คือช่วงปี 2516-2519 จากนั้นก็เป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบบทหาร (เกรียงศักดิ์-เปรม) หลังเปรมวางมือ ก็มีช่วงประชาธิปไตยสั้นๆ อีกช่วงคือ 2531-2534 แล้วมีรัฐประหาร 2534 กับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ที่ปิดฉากระบอบทหารแบบดั้งเดิม
เหตุการณ์แทรกซ้อนในช่วงนี้คือ สงครามเย็น และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ตัวละคร: ฝ่ายทหาร (เกรียงศักดิ์-เปรม) + ฝ่ายเจ้า (ร.9) vs พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ยุคที่สี่ 2535-2549 ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง (14 ปี)
พฤษภาทมิฬ 35 ทำให้ทหารกลับเข้ากรมกอง ประเทศไทยกลับมาสู่ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีนักการเมืองอาชีพเข้ามามากขึ้น
แต่จะเรียกว่าประชาธิปไตยเต็มใบก็อาจไม่ได้นัก ถ้าใช้คำของธงชัย ก็จะบอกว่าระบอบรัฐสภาสามารถทำงานได้เต็มที่ แต่ก็ต้องไม่ไปล้ำเส้นของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นอำนาจอย่างไม่เป็นทางการ
ระบอบประชาธิปไตยไทยเบ่งบานภายใต้รัฐธรรมนูญปี 40 และมีตัวละครอย่างทักษิณกับพรรคไทยรักไทยเข้ามา แต่ก็อยู่ได้ไม่นานมากนัก (5 ปี) เพราะต้องเจอกับการโต้กลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ผ่านรัฐประหาร 49
ตัวละคร: นักการเมือง (ทักษิณ) vs ทหาร-ข้าราชการ-ตุลาการ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ยุคที่ห้า 2549-ปัจจุบัน ทหารของพระราชา (14 ปีแล้ว so far)
หากยุคที่สองคือทหารเหนือพระราชา และยุคที่สามคือการบาลานซ์อำนาจของทหาร-สถาบันกษัตริย์ ในยุคที่ห้าก็ต้องบอกว่า เป็นระบอบทหารภายใต้สถาบันกษัตริย์อย่างเต็มตัว
เราเห็นรัฐบาลที่ไม่มั่นคงหลายชุด และรัฐประหารสองครั้ง (49 และ 57) เพื่อขจัดอิทธิพลของนักการเมืองในยุคที่สี่อออกไป และเห็นการผนึกกำลังกันของทหาร ข้าราชการ ตุลาการ และหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้อุดมการณ์นิยมกษัตริย์ (ใช้คำของเกษียร เตชะพีระคือ “ฉันทามติภูมิพล”)
เหตุการณ์ยุคที่ห้าจะจบลงในช่วงใด คงเป็นเรื่องของคนในอนาคตที่จะมองย้อนกลับมา