ถ้าปี 2017 เป็นปีของ Donald Trump ในฐานะนักการเมืองผู้พลิกประวัติศาสตร์อเมริกา
ปี 2019 ก็เป็นปีของ Alexandria Ocasio-Cortez ส.ส.หญิงหน้าใหม่ของพรรคเดโมแครต จากการเลือกตั้งมิดเทอมปี 2018 ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็น ส.ส. หญิงอายุน้อยที่สุดคือ 29 ปี
เธอเข้ามาเป็น ส.ส. ได้ไม่นานก็เอาชนะได้ทุกกระแสบนโลกโซเชียล เหตุหนึ่งคงเป็นเพราะเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่จริงๆ วิธีคิด วิธีพูด มุมมองต่างๆ จึงต่างจากนักการเมืองรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิง
เนื่องจากชื่อเธอยาวและเรียกยาก (พ่อแม่เป็นเชื้อสายเปอโตริโก) ก็เลยถูกเรียกกันในชื่อย่อว่า AOC แทน ง่ายกว่ากันมาก (ไม่ใช่ยี่ห้อจอมอนิเตอร์นะ)
กรณีของ Trump มากับกระแส Alt-Right “ขวาแบบใหม่” เคสของ AOC ผมก็ขอเรียกว่า “Alt-Left” ละกัน เป็น “ซ้ายแบบใหม่” ที่ไม่เคยมีแบบนี้มากนักในฝั่งเดโมแครต
กระแสข่าวของเธอช่วงนี้มีมากมาย ตั้งแต่ไปสอน ส.ส. เดโมแครตว่าเล่นทวิตเตอร์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ, ไลฟ์เล่นเกมผ่าน Twitch แถมบอกด้วยว่า Nintendo 64 คือเครื่องเกมที่ดีที่สุด 😊 หรือถ้าเป็นช่วงก่อนหน้านี้และเป็นข่าวดังหน่อยคือ คลิปเต้นของเธอสมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ถูกรีพับลิกัน นำมาโจมตีว่า ไม่เหมาะสม (สาวเสื้อดำที่ใส่เสื้อลาย Boston)
ปฏิกิริยาโต้กลับของ AOC หลังถูกโจมตีเรื่องเต้น ก็คือ เต้นตอบมันซะเลย บอกว่าสมัยก่อนฉันเต้น ตอนนี้ฉันเป็น ส.ส. แล้ว ฉันก็เต้นต่อเว้ย
I hear the GOP thinks women dancing are scandalous.
Wait till they find out Congresswomen dance too! 💃🏽
Have a great weekend everyone 🙂 pic.twitter.com/9y6ALOw4F6
— Alexandria Ocasio-Cortez (@AOC) January 4, 2019
ความปั่นป่วนในแวดวงการเมืองที่เกิดขึ้นจาก AOC นี่ผมพยายามหานิยามแบบไทยๆ น่าจะประมาณ “เนติวิทย์ภาคผู้หญิง ที่ได้เป็น ส.ส.” แต่ชั้นเชิงของเธอก็เหนือกว่ากันมาก
ประเด็นน่าสนใจในฝั่งนโยบายคือ AOC เป็นผู้ผลักดันนโยบายชื่อ Green New Deal อยู่ในช่วงนี้
Green New Deal เป็นการล้อชื่อนโยบาย New Deal ของประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐปี 1929 โดยเป็นนโยบายด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (เพื่อจ้างงานคนตกงานจากวิกฤตเศรษฐกิจ และยกเครื่องโครงสร้างของประเทศในระยะยาว) ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น
ส่วน Green New Deal ก็เป็นข้อเสนอคล้ายๆ กันสำหรับยุคสมัยนี้ เช่น เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปอุตสาหกรรมการเงินให้เปิดกว้างมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนลง ฯลฯ
บทความใน Bloomberg เขียนเรื่องนี้ไว้น่าสนใจดี โดยบอกว่าชุดของนโยบายจากฝั่งเดโมแครตตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น Green New Deal, ประกันสุขภาพ, ปฏิรูปหนี้การศึกษา ฯลฯ ล้วนแต่เป็น “นโยบายเพื่อคนรุ่นใหม่ ที่จ่ายเงินโดยคนรุ่นเก่า”
ในขณะที่นโยบายของสหรัฐยุคหลังสงครามโลกเป็นต้นมา เป็น “นโยบายเพื่อคนแก่ ที่จ่ายเงินโดยคนรุ่นใหม่” เช่น ประกันสุขภาพหลังเกษียณไปแล้ว ที่จ่ายเงินสนับสนุนโดยการทำงานของคนรุ่นปัจจุบัน
ปัจจัยนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ยุคนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีที่ยืนในสังคม ทำอะไรก็ไม่เห็นความก้าวหน้าในชีวิต (เพราะผลประโยชน์ถูกแบ่งปันไปสนับสนุนคนรุ่นก่อนซะเกือบหมด) จึงรู้สึกอัดอั้น บีบคั้น จึงกลายมาเป็นนโยบายรุ่น Green New Deal ที่ออกแบบมาเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นตน
มุมมองนี้น่าสนใจมาก ผมก็สัมผัสได้ว่าคนรุ่นใหม่ทั่วโลกเจอปัญหาคล้ายๆ กันมานานประมาณหนึ่ง (โดยเฉพาะ 10 ปีให้หลังนี้) และความอัดอั้นเหล่านี้ ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ เริ่มเข้ามาสู่วงการการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนรุ่นตัวเอง ซึ่ง AOC ก็เป็นหนึ่งในหัวหอก ตัวแทนของคนกลุ่มนี้
ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า มีตัวแทนหน้าใหม่เริ่มโผล่ขึ้นมาแล้ว และจะต้องปะทะกับคนรุ่นเก่าต่อไปอีกมาก ลำพังแค่ AOC มาทำงานไปแป๊บเดียวก็โดนซัดเละเทะแล้ว
ภาพประกอบจาก Facebook Alexandria Ocasio-Cortez