ในฐานะผู้ที่สนใจเรื่อง Big Tech ประเด็นเรื่องการจ้างงานของ Amazon ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจับตา เพราะอิทธิพลของ Amazon มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่อิทธิพลต่อการค้าปลีกและในแง่นายจ้าง
ปัจจุบัน Amazon ถือเป็นนายจ้างรายใหญ่อันดับสองของอเมริกา มีพนักงานเฉพาะในอเมริกา 9.5 แสนคน เป็นรองแค่ Walmart แค่บริษัทเดียว (Walmart ทั้งโลกมี 2.3 ล้าน ในอเมริกา 1.6 ล้านคน)
ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยเฉพาะในโกดังและเครือข่ายลอจิสติกส์ของ Amazon เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน นักการเมืองฝ่ายซ้ายอย่าง AOC ก็ออกมาถล่ม Amazon และ Jeff Bezos อยู่บ่อยครั้ง
และเมื่อมาเชื่อมโยงกับเรื่อง The Great Resignation การลาออกครั้งใหญ่หลังโควิดคลี่คลาย จนส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการจ้างงาน (อย่างน้อยก็ในสหรัฐและยุโรป) ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้น
ในเดือนกันยายน 2021 หลังช่วงพีคของปรากฏการณ์ The Great Resignation ที่เศรษฐกิจอเมริกากลับมาบูม Amazon มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลายอย่าง
เริ่มจากการประกาศว่าจะจ่ายค่าเล่าเรียนระดับวิทยาลัย (college tuition) ให้พนักงานทั้งหมดที่เข้าข่าย 7.5 แสนคน โดยใจป้ำคือจะออกให้ก่อนด้วย (upfront) แทนที่จะเป็นการให้พนักงานออกไปก่อนแล้วมาทำเรื่องเบิกคืนทีหลัง เพื่อการันตีว่าพนักงานจะมีเงินไปจ่ายค่าเรียน ไม่ต้องมีเงินสำรองมากนัก
- ประเด็นนี้ถือว่าน่าสนใจตรงที่ว่า เป็นการเจาะเข้าไปยัง pain point ของพนักงานกลุ่มค่าแรงรายชั่วโมงโดยตรง ที่ไม่มีเงินมากพอสำหรับการเข้าเรียนระดับวิทยาลัยของสหรัฐ
- นอกจากนี้ยังมีมิติในเรื่อง career path ในองค์กรด้วย ในองค์กรที่ใหญ่ระดับ Amazon มีพนักงานเกือบล้านคน พนักงานระดับล่างย่อมไม่อยากทำงานรายชั่วโมงไปตลอดชีวิต โปรแกรมของ Amazon เปิดให้ไปฝึกอบรมเพื่อไปทำงานตำแหน่งอื่นในบริษัทได้ (ตัวอย่างที่ Amazon ยกมาคือ คนทำงานโกดังไปเทรน 9 เดือน กลายเป็นผู้ช่วยพยาบาล หรือถ้าหัวดีจริงๆ จะไปลงคอร์สไอทีแล้วทำงานในฝั่ง AWS เลยก็ยังได้)
- ตรงนี้ถ้าเรามองสเกลความใหญ่ระดับ Amazon คิดว่าคงต้องนำโครงการอบรมหรือ career path ของกลุ่ม CP มาเทียบ อย่างที่เรารู้จักกันดีคือ การเปิดให้พนักงาน 7-11 สามารถเป็นเจ้าของร้านได้ เป็นการสร้าง career path ภายในอาณาจักรธุรกิจของตัวเอง
ถัดมาคือการประกาศค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงละ 18 ดอลลาร์ (ในบางพื้นที่อาจให้ถึง 22.50 ดอลลาร์) ซึ่งถือว่าเยอะกว่าค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล และค่าแรงของบริษัทคู่แข่งด้วย ตัวเลขนี้ขยับขึ้นจากที่เคยให้ 15 ดอลลาร์เมื่อ 4 ปีก่อน
- ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะบริษัทเกือบทุกแห่งในอเมริกาขาดคน ทางแก้ก็ตรงไปตรงมาคือ ขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดให้คนย้ายมาทำงานกับเราแทน (เป็น zero-sum game)
- แต่การขึ้นค่าแรงของ Amazon ไม่ได้มีผลต่อการดึงคนจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างพวก Walmart หรือ McDonald’s เท่านั้น เพราะสนามแรงงานเป็นสมรภูมิเปิด จึงดึงคนจากธุรกิจท้องถิ่นรายเล็กๆ ที่ไม่สามารถสู้ค่าแรง 15 หรือ 18 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงได้ด้วย ผลก็คือธุรกิจรายเล็กย่อมมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ในการหาคนมาทำงาน
- การขึ้นค่าแรงของ Amazon ยังส่งผลให้ Walmart ต้องตอบโต้โดยประกาศขึ้นค่าแรงเช่นกัน จาก 11 ดอลลาร์เป็น 15 ดอลลาร์ (เฉพาะห้าง Sam’s Clud ในเครือ Walmart) ส่วนตัวบริษัทแม่ประกาศขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายน จาก 11 เป็น 12 ดอลลาร์
นอกจากเรื่องพื้นฐานคือค่าแรง และสิทธิประโยชน์ด้านค่าเรียนแล้ว Amazon ก็ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ แบบเดียวกับบริษัทอื่นในอเมริกาตอนนี้ เช่น sign-on bonus ที่เซ็นแล้วรับเงินสดเลย 3,000 ดอลลาร์
หลังจากประกาศขึ้นค่าแรงไม่กี่วัน Amazon ยังประกาศโชว์ตัวเลขว่ามีคนเข้ามาสมัครงานในช่วง Career Day 2021 มากถึง 1 ล้านคน (ตัวเลขนี้รวมงานทุกประเภท ทั้งงานออฟฟิศและงานรายชั่วโมง) โดยมีตำแหน่งงานออฟฟิศเปิด 40,000 ตำแหน่ง และงานรายชั่วโมง 125,000 ตำแหน่ง
ภาพรวมของการจ้างงานแบบ Amazon ในแง่แรงจูงใจ (ค่าแรง+สิทธิประโยชน์) คงไม่ต่างจากบริษัทอื่นมากนัก จุดที่น่าสนใจคงเป็นเรื่องการสเกล (Amazon-scale) โดยใช้ขุมพลังทางการเงินที่เป็นจังหวะขาขึ้นของอีคอมเมิร์ซ ในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงแรงงาน (ทรัพยากรที่มีค่ามากกว่าเงิน) ซึ่งพลังสเกลแบบ Amazon ก็น่าจะส่งผลสะเทือนต่อตลาดแรงงาน คู่แข่งซึ่งมีทั้งนายจ้างรายใหญ่ระดับ Walmart ไปจนถึงรายเล็กๆ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าผลจะเป็นอย่างไร