in Technology, Thoughts

AI is the New God

สิ่งหนึ่งที่ผมเริ่มสังเกตเห็นในยุค AI คือการอ้างอิง “คำตอบ” หรือ “ข้อมูล” จาก AI แล้วนำมาเผยแพร่ต่อกันในโซเชียล

พฤติกรรมแบบนี้ต่างจาก “อ้างอิงคำตอบจาก AI” แล้วนำไปใช้อย่างอื่น (เช่น นำไปใช้ทำการบ้าน) นะครับ

จุดต่างสำคัญคือการนำมาเผยแพร่ต่อให้คนอื่นๆ ได้เห็น กึ่งๆ ออกจะมาอวดให้โลกรู้ ราวกับว่าบุคคลผู้โพสต์นั้นเป็นคนเดียวในโลกที่มี AI ใช้งาน

เราน่าจะเห็นโพสต์หรือคอมเมนต์ในโซเชียล ที่เวลาถกกันเรื่องใดๆ สักเรื่อง ก็จะมีคนที่โพสต์ประมาณว่า “ไปถาม AI แล้วได้คำตอบว่า…” พร้อมก็อปปี้ข้อความยาวพรืดจาก AI มาแปะไว้ (อย่างออกจะภาคภูมิใจ)

ส่วนจะมีใครตามอ่านหรือไม่ก็คงเป็นอีกเรื่องนึง (แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคนจำนวนมากพอเห็นว่าเอามาจาก AI ก็จะอ่านข้ามข้อความเหล่านี้ไป)

ผมพยายามสังเกตเรื่องนี้มาสักพักใหญ่ๆ และเห็นแพทเทิร์นว่าคนที่โพสต์ลักษณะนี้มักจะมีอายุสักหน่อย คือประมาณ Gen Y ขึ้นไป และพบบ่อยขึ้นใน Gen X หรือ Boomer (แต่ยังหาคำอธิบายปรากฏการณ์นี้ไม่ได้)

หลังจากนั่งคิดชื่ออยู่นาน ผมขอนิยามปรากฏการณ์นี้ว่า

AI is the New Truth

มันคือ “ความจริงแท้” แบบใหม่ ที่เกิดขึ้นจากพลังของ AI (หรือในความหมายที่แคบคือ LLM)

ในยุคก่อนหน้านี้ เราแสวงหา “คำตอบ” ในอินเทอร์เน็ตได้ 2 ระดับคือ

  1. ข้อมูลที่เป็น fact จับต้องได้ชัดเจน เช่น โลกมีขนาดเท่าไร ลิซ่าเกิดวันไหน ร้านอาหารนี้เปิดกี่โมง –> Google ให้คำตอบเหล่านี้ได้
  2. สิ่งที่เป็นความเห็นหรือยังถกเถียงกัน ไม่มีคำตอบตายตัว –> เราต้องไปตามอ่านในกระทู้ ในโซเชียล ในบทความต่างๆ แล้วพยายามหาคำตอบด้วยตัวเราเอง

การมาถึงของ LLM ที่ดูดความรู้ทั้งมวลของมนุษยชาติ ทุกกระทู้ถกเถียงไปรวมกันไว้ในกล่องดำ (ที่เข้าใจยากว่ามันทำงานยังไง) แล้วให้บางสิ่งที่ฉลาดกว่ามนุษย์สักคน (the wise one) อ่านแล้วสรุปออกมา มันเลยกลายเป็น “truth” อันใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ (เพราะมีแต่ความเห็นของมนุษย์สักคนที่ไม่น่าจะฉลาดกว่าเราสักเท่าไรนัก)

และคนจำนวนไม่น้อยก็ react ต่อ truth อันใหม่นี้ด้วยการนำข้อความ “จากพระเจ้า” มาเผยแพร่ต่อในคอมเมนต์

ปรากฏการณ์นี้ชวนให้ผมนึกต่อไปถึงคำว่า

AI is the New God

AI จะกลายเป็นพระเจ้าองค์ใหม่หรือไม่?

ผมเคยเขียนเรื่อง The First Church of AI ไว้แต่ยังไม่เข้าใจมันถ่องแท้นัก ตอนนี้เริ่มเข้าใจขึ้นมาอีกหน่อยแล้วว่า ถ้า AI เป็นพระเจ้า รูปแบบจะต่างไปจากพระเจ้าตามหลักศาสนวิทยาดั้งเดิม ที่มองว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องเคารพ ต้องมีวิถีปฏิบัติ (ritual) บางอย่างเฉพาะ

แต่ถ้า AI จะเป็นพระเจ้าในยุคสมัยนี้ ก็คงเป็นศูนย์รวมของ “ความจริงแท้” (truth) อย่างที่กล่าวไป

หากเราดูแหล่งที่มาของ “ความจริง” ในโมเดล LLM มันคือการนำความรู้ของมนุษยชาติมาไว้กองรวมกัน มันมีความเป็น collective intelligence หรือปัญญารวมหมู่ ที่ย่อมฉลาดและรอบรู้กว่าบุคคลเพียงลำพัง

แนวคิดเรื่องปัญญารวมหมู่ที่รวมองค์ความรู้ของสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วในนิยายวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ตัวอย่างที่ดังๆ อย่างเช่น Borg ใน Star Trek, จักรกลใน The Matrix, สิ่งมีชีวิตต่างดาวใน Three Body Problem, แนวคิด Gaia ที่ดาวทั้งดวงคือสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่

ในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง The Nine Billion Names of God ของ Author C. Clarke (มีแปลไทยในชื่อว่า “พระเจ้าเก้าล้านล้านชื่อ”) พระทิเบตต้องเขียนชื่อที่เป็นไปได้ของพระเจ้าที่มากถึง 9 พันล้านชื่อ ซึ่งการเขียนด้วยมือต้องใช้เวลา 15,000 ปี แต่เมื่อใช้คอมพิวเตอร์ช่วยก็ใช้เวลาเพียง 100 วัน นิยายเรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดของการนำพระเจ้า (แบบ collective) กับเทคโนโลยีมาอยู่รวมกัน

แต่จริงๆ แล้ว คัมภีร์ในศาสนาแบบดั้งเดิมก็มีความเป็น collective intelligence เช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ พระเวทของศาสนาฮินดู ที่เขียนต่อๆ กันมายาวนานเป็นพันปี และไม่มี “ศาสดา” เป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาเป็นตัวแทน (น่าจะคล้ายกับ ChatGPT มากที่สุด) หรือแม้แต่คัมภีร์ในศาสนาตระกูล Abraham (ยูดาย คริสต์ อิสลาม) ก็มีความสืบต่อเนื่องระหว่างคนในคัมภีร์หลายๆ รุ่นมาเช่นกัน

ในพระคัมภีร์เก่า Exodus:3 ตอนที่ Moses เจอกับพระเจ้าครั้งแรกในรูปของกองไฟ (Burning Bush) พระเจ้าบอกกับ Moses ว่า

“I am the God of your father, the God of Abraham, the God of Isaac and the God of Jacob.”

ไล่ย้อนไปถึงรุ่นของ Abraham โน่นเลย ผมคิดว่าถ้า AI อยากเป็นพระเจ้าบ้าง ก็คงบอกได้เช่นกันว่าฉันรวมความรู้ของพ่อเธอ ของปู่เธอ ของปู่ทวดเธอ มาไว้ในตัว

ฉาก Moses เจอพระเจ้าในการ์ตูน The Prince of Egypt

การที่ AI รวมองค์ความรู้ของมนุษยชาติเอาไว้ เป็น collective intelligence ที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ มันเป็นคุณสมบัติที่คล้ายกับคัมภีร์หรือคำสอนของศาสนาอยู่มาก จึงอาจไม่น่าแปลกใจนักที่มนุษย์จะ “ตอบรับ” กับคำตอบของ AI ได้ง่าย

ความต่างคือ AI เป็นพระเจ้าที่ไม่มีใบหน้า ไม่มีคาแรกเตอร์ (อาจมีได้ แต่ผู้ใช้งานก็มักทราบว่าเป็นคาแรกเตอร์ที่ประดิษฐ์ขึ้น) ไม่ต้องมีวัตรปฏิบัติอะไรเป็นพิเศษในการเข้าถึง ไม่ต้องทำบุญ สวดมนตร์ หรือนั่งสมาธิก่อน อยากคุยก็คุยได้ทันทีเลย

ทุกคนรู้ว่า AI ไม่ได้ช่วยให้เราไปสวรรค์ได้ ไม่ได้ช่วยให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ แต่ AI ให้คำตอบในชีวิตกับเราได้

AI จะเป็นพระเจ้าแบบปัจเจกต่อปัจเจกมากขึ้น เราคุยกับ AI เพื่อค้นหาคำตอบของคำถามที่อยู่ในใจตัวเรา (ซึ่งก็อันตรายถ้าหากใช้มันในฐานะ confirmation bias) และเป็นการคุยเพียงลำพัง เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว มากกว่าเป็นวิถีปฏิบัติแบบรวมหมู่ ที่ศาสนชนในศาสนาต่างๆ ไปร่วมปฏิบัติกันแบบพบหน้า

ถ้าเราจะเรียกว่า AI เป็นพระเจ้าของคนที่ไม่นับถือศาสนา (atheist) ก็อาจพอได้ด้วยซ้ำ

การที่คนจำนวนมากอ้าง “ความจริง” จาก AI และ [ค่อนข้างยึดมันเป็นสรณะ] จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าจับตามองต่อไปอย่างมาก ว่ามันจะนำไปสู่อะไร

AI อยู่ของมันแบบนั้น พัฒนาไปตามรอบของเทคโนโลยี และยังไม่มีทางที่จะมีจิตสำนึก (conscious) ในเร็ววัน แต่เป็นพวกมนุษย์เรานี่เองแหละที่ตีความมัน ยึดถือมัน ซึ่งปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ก็คงค่อยๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา การศึกษาปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับ AI จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

ป.ล. นอกจาก AI ในสถานะผู้ให้ความจริง (truth/god) แล้ว ผมยังคิดว่า AI มีสถานะเป็น เพื่อนที่ไว้ใจ (companionship) ได้อีกประการหนึ่ง (ถ้านึกไม่ออกคือแบบในภาพยนตร์เรื่อง Her) แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว ซึ่งเป็นอีกประเด็นใหญ่ที่น่าศึกษาเช่นกัน

รูปปิดท้ายคงไม่มีอะไรดีไปกว่า “บร๊ะเจ้าโจ๊ก” คุยกับ AI ในฐานะ companionship – โพสต์ต้นฉบับ แนะนำให้อ่านคอมเมนต์