ถ้าให้สรุปว่า COVID-19 คืออะไรในเชิงผลกระทบต่อโลก ผมคิดว่าน่าจะมีบทบาทเป็น “ตัวเร่ง” (accelerator) ให้โลกหมุนเร็วขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เราเห็นกันมานานแล้ว
ยกตัวอย่าง
- เราพูดถึงเรื่อง Work from Home / Remote Working กันมานานแล้ว แต่ยังมีองค์กรเพียงสัดส่วนน้อยมากๆ ที่ทำจริงจัง
- เราพูดถึง Online Streaming จะมาแย่งตลาดหนังโรง แต่คนก็ยังไปดูหนังโรงกันอยู่มาก
- เราพูดถึง Home School / การเรียนทางไกล ก็ยังเป็นแค่ “โรงเรียนทางเลือกของทางเลือก”
- เราพูดถึง การสั่งอาหาร delivery แต่สุดท้าย มันก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับร้านอาหารแบบเดิมๆ
- เราพูดถึง e-commerce จะมาทำลายวงการค้าปลีก มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนแหละ แต่ยังไม่เร็ว สัดส่วนก็ยังน้อย
การมาถึงของ COVID-19 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเทรนด์เหล่านี้เลย แต่เป็นการบีบให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งขยับตัวไปตามเทรนด์ (ของเดิม) ให้เร็วขึ้นอีกหลายเท่าตัว
บทความใน Fast Company เขียนไว้ดีว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุค massive work-from-home experiment และถ้าลองแล้วมันเวิร์ค โลกการทำงานจะไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป
ในเชิงเศรษฐกิจ-การเมือง โลกทุนนิยมในปัจจุบันก็อุดมไปด้วยปัญหามากมาย ทั้งปัญหาเรื่องหนี้สะสมของชาติต่างๆ, ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนในสังคม ไปจนถึงปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของขั้วอำนาจทางการเมือง ที่อิงกับพลวัตรด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในประเทศนั้นด้วย (กลุ่มทุน+การเมือง)
เหมือนกับใบไม้ที่ทับถมมานาน ปัญหาหมักหมม จะมานั่งกวาดทิ้งทีละใบก็ไม่ง่ายนัก เอาไฟเผาเลยอาจจะง่ายกว่า เพื่อเปิดหน้าดินให้ต้นอ่อนใหม่ๆ มีพื้นที่เติบโตบ้าง
การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทับซ้อนเหล่านี้ ด้วยกลไกปกติอาจเป็นไปได้ยาก ซึ่งในประวัติศาสตร์มักสะสางปัญหานี้ด้วย “การปฏิวัติ” (ในระดับชาติ) หรือ “สงคราม” (ในระดับภูมิภาค)
ผมเคยอ่านหนังสือเรื่อง “ดาวแดงเหนือแผ่นดินจีน” (Red Star Over China) ที่นักข่าวฝรั่ง Edgar Snow ตามไปดูพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่างสงครามกับพรรคก๊กมินตั๋ง สิ่งที่ Snow พบคือคนในชุมชนท้องถิ่น บ้านนอกของจีน ให้การตอบรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นอย่างดี เพราะเข้ามา “ปลดปล่อย” คนยากไร้จากขุนนางหรือเศรษฐีท้องถิ่นที่ขูดรีด เอาเปรียบ ซึ่งเป็นโครงสร้างสังคมที่กดทับมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ชิง (ในขณะที่พรรคก๊กมินตั๋ง โค่นอำนาจจักรพรรดิ แต่ไม่ได้ลงมาแตะที่ขุนศึกท้องถิ่นระดับนี้)
คงวิจารณ์ได้ยากว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีนโยบายเหมาะสมแค่ไหน (แต่พูดได้ว่าสุดท้ายชนะ ซึ่งอาจเป็นเพราะยุทธศาสตร์ถูกต้อง) แต่มันสะท้อนให้เห็นว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ๆ มันต้องอาศัยการกด “รีเซ็ต” แบบนี้ ที่ก็ต้องแลกด้วยการมีคนตายเป็นเบือ มีความสูญเสียมากมาย
ทิศทางของเศรษฐกิจ-การเมืองโลกในปัจจุบัน ไม่สามารถปลดล็อคได้ด้วยวิธีการปกติ แต่โลกสมัยใหม่ก็เรียนรู้ว่าสงครามมีผลกระทบมหาศาล ดังนั้นจึงเลี่ยงการทำสงครามขนาดใหญ่เท่าที่เป็นไปได้ ผลคือไม่เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถปลดล็อคปัญหาใหญ่ๆ ได้เช่นกัน
มันจึงน่าจะเป็นปัญหาคาราคาซังไปอีกพักใหญ่ๆ โลกก็จะอึนๆ มึนๆ แบบนี้ไปอีก 10-20 ปีเป็นอย่างน้อย
ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความ ทศวรรษซึมเศร้า ต้อนรับปี 2020
แต่การมาถึงของ COVID-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปทันที เพราะมันมาตีเข้าที่รากเหง้าของสังคมมนุษย์โดยตรง ทุกคนจึงถูกบีบให้ต้อง “เร่ง” เปลี่ยนแปลง
COVID-19 สร้างผลกระทบทางลบมากมาย ทั้งทางสุขภาพ (คนตายเป็นหมื่นเป็นแสน) ทางเศรษฐกิจ (คนตกงาน ธุรกิจเจ๊ง) ทางการเมือง (รัฐบาลที่แก้ปัญหาไม่ได้ก็ไปไม่รอด เปลี่ยนขั้วอำนาจ) แต่มองในอีกแง่ มันอาจเป็นวิธีการ soft reset โลกโดยไม่ต้องมีสงครามก็เป็นได้ (แถมสงครามยังจำกัดเฉพาะพื้นที่บางจุด แต่ COVID กระทบทั้งโลก ทุกจุดที่มีมนุษย์)
ดังนั้น COVID-19 มีสถานะเป็น “ตัวเร่ง” ให้ปัญหาต่างๆ ขมวดปมรวดเร็วขึ้น คลี่คลายเร็วกว่าเดิม เหมือนมีคนกด fast forward ให้ประวัติศาสตร์เดินหน้าแบบ 2X อะไรที่สมควรพังก็ควรพัง อะไรที่สมควรเกิดก็ควรเกิด ไม่ต้องรอกันให้นาน
คำถามสำคัญในฐานะปัจเจกคือ งานนี้มีคนเจ็บ มีคนเจ๊ง คงไม่มีใครอยากเป็นคนเจ๊งอยู่แล้ว แล้วเราจะไปยืนอยู่ฝั่งคนที่เหลือรอดได้อย่างไร
อันนี้ผมก็ไม่มีคำตอบเหมือนกัน
ภาพประกอบ: Large Hadron Collider (LHC) ตัวเร่งอนุภาคที่มนุษย์สร้าง ภาพจาก CERN