in Books, Economics, Politics

Abundance vs Scarcity

เรื่องที่ผมกำลังสนใจอยู่ในช่วงนี้คือ หนังสือเรื่อง Abundance ของ Ezra Klein และ Derek Thompson ที่เสนอมุมมองต่อปัญหาเชิงโครงสร้างของสหรัฐอเมริกาว่า “ทุกอย่างมันขาดแคลนไปหมด” จนทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง “ราคาแพง”

นี่คือปัญหาสำคัญของพรรคเดโมแครต และนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Trump ชนะเลือกตั้งด้วย

ออกตัวว่าผมเป็นแฟนของ Ezra Klein มานานแล้ว เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการ new media ของอเมริกา เขาเป็นบล็อกเกอร์รุ่นแรกๆ และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว Vox.com (ในเครือ Vox Media ที่เดิมทำสื่อกีฬามาก่อน) เมื่อปี 2014 ก่อนลาออกมาในปี 2020 ปัจจุบันเขาเป็นคอลัมนิสต์ด้านการเมืองของ The New York Times และออกตัวชัดเจนว่าเป็นเดโมแครต ส่วน Thompson เป็นคอลัมนิสต์ใน The Atlantic

ผมเคยยกคำพูดของ David Brooks คอลัมนิสต์ของ The New York Times ที่บอกว่า “Trump is the wrong answer to the right question” ซึ่งหมายความว่าชัยชนะของ Trump เกิดจากการที่เขามองเห็น “ปัญหา” ของอเมริกันชนได้ถูกต้อง แม้ทางแก้ที่เสนอมันไม่ค่อยเวิร์ค (เช่น กำแพงภาษี หรือ ทุบทำลายโครงสร้างรัฐผ่าน DOGE)

แต่พรรคเดโมแครตนั้นแย่ถึงขนาดมองไม่เห็น (หรือมองข้าม) ปัญหาเลยทีเดียว

Ezra Klein และ Derek Thompson ชี้ว่าแกนหลักของการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 ที่ผ่านมานั้นคือ “Affordability Crisis” เป็นปัญหาเศรษฐกิจ ของแพง เงินเฟ้อ อะไรๆ ก็แพง รัฐบาล Biden แก้ปัญหาไม่ได้ คนเลยเทคะแนนไปเลือก Trump

อันนั้นใครๆ ก็รู้

Klein และ Thompson ขยายความว่าถ้าเราเจาะเป็นรายพื้นที่ จะเห็นว่าพื้นที่มีปัญหาของแพง บ้านแพง ค่าเช่าแพง เกิดปัญหาคนไร้บ้านเต็มไปหมด มักเป็นพื้นที่ของพรรคเดโมแครต ตัวอย่างที่ชัดเจนคือนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนีย แพงจนเป็นเหตุให้คนจำนวนมากย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐที่ค่าบ้านถูกกว่าคือ เท็กซัส และ ฟลอริดา ซึ่งเป็นถิ่นรีพับลิกัน

ผู้เขียนให้มุมมองที่กว้างขึ้นว่า ถ้าเป็นวิธีคิดของพรรคเดโมแครต ฝ่ายซ้ายแบบดั้งเดิมที่มองเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ จะแก้ปัญหาบ้านแพงด้วยการจ่ายเงินชดเชย (subsidy) อ๋อ บ้านแพงเหรอ จ่ายค่าชดเชย, อาหารแพงเหรอ ให้คูปองอาหาร, ค่าเทอมแพง ให้ทุนการศึกษาสิ, ค่ารักษาพยาบาลแพงเหรอ เราอัดเงินลงไปทำบริการสุขภาพถ้วนหน้ากันดีกว่า, จนกรอบไม่มีเงินเลยสักนิด เรามาทำ universal basic income กันไหม?

ผู้เขียนบอกว่าการถมเงินลงไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากฝั่งอุปสงค์ (demand / คนไม่มีกำลังจ่าย) แต่เกิดจากฝั่งอุปทาน (supply / ของไม่พอขาย-ให้บริการ) ต่างหาก

ถ้าของมันมีไม่พอ ยิ่งจ่ายเงินอุดหนุนเข้าไปอีก ของมันยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ

แล้วทำไมแคลิฟอร์เนียถึงบ้านแพง? คำตอบคือวิธีคิดแบบเดโมแครตอีกนั่นแหละ ที่ให้ความสำคัญกับหลักการ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม สิ่งแวดล้อม ชนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์ ฯลฯ จนออกเกณฑ์หยุมหยิมเยอะแยะไปหมด จนทำให้เราไม่สามารถสร้างบ้านใหม่ สาธารณูปโภคใหม่ๆ ในแคลิฟอร์เนียได้เลย เพราะกว่าจะสร้างอะไรต้องไปรับฟังความเห็นชุมชนโดยรอบ ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ใช้เวลารวมๆ หลายปีเพื่อสรุปว่า “สร้างไม่ได้”

ต้นทุนทั้งเงินและเวลาของการ “ทำอะไรสักอย่าง” ในพื้นที่ของเดโมแครตจึงสูงมาก แพงมาก และสุดท้ายผลเสียมันวนกลับมาที่พรรคเดโมแครตเอง เสียคะแนนนิยม ฐานเสียงหดหาย เลือกตั้งแพ้อยู่เรื่อยไป

Klein และ Thompson เรียกปัญหานี้ของอเมริกา (และเดโมแครต) ว่า “scarcity” ของทุกอย่างมันขาดแคลนไปหมด ที่อยู่อาศัย ระบบคมนาคม บริการสุขภาพ การศึกษา แม้กระทั่งไข่ไก่! ฯลฯ พอของไม่พอใช้ ความต้องการพุ่ง ราคาก็แพงตามไปด้วย คนที่ซวยคือคนชั้นล่าง หาเช้ากินค่ำ ที่ไม่สามารถจ่ายเงินได้ไหว

ปัญหานี้เกิดกับแทบทุกเรื่องที่พรรคเดโมแครตทำ โดยเฉพาะในระดับรัฐและเมือง ตัวอย่างคือรัฐบาล Biden อนุมัติงบประมาณระดับประเทศในเรื่องที่ก้าวหน้าหลายอย่าง เช่น แผนอุดหนุนบรอดแบนด์แห่งชาติ แผนการสร้างจุดชาร์จ EV ทั่วประเทศ รัฐสภาผ่านงบมาหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เงินน่ะมีแล้ว แต่พอถึงขั้นของรัฐ มณฑล เมือง มาลงรายละเอียดกัน ต้องใช้เวลานานมากกับกฎระเบียบหยุมหยิมเหล่านี้ จน Biden พ้นตำแหน่งตามวาระไปแล้ว หลายเรื่องก็ยังแทบเดินหน้าไม่ได้ เมืองที่ของบบรอดแบนด์ผ่านมีจำนวนหยิบมือ จุดชาร์จ EV ก็สร้างจริงได้นิดเดียว

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่กับรัฐบาลไบเดน เพราะเป็นปัญหาสั่งสมของเดโมแครตมายาวนาน

ในคลิปข้างต้นของ Ezra Klein โชว์แผนการสร้างรถไฟความเร็วสูงของแคลิฟอร์เนีย ซึ่งริเริ่มในสมัยของผู้ว่าการรัฐ Jerry Brown ในช่วงปี 1975-1983 (สมัยหนุ่มๆ หล่อมากเพิ่งเคยเห็นคลิป) จน Brown กลับมาเป็นผู้ว่าการรัฐใหม่อีกรอบในปี 2011-2019 หรืออีก 40 ปีให้หลัง ก็ยังไม่สามารถสร้างได้ และผู้สืบทอดของ Brown คือ Gavin Newsom มาเป็นต่อจนถึงปัจจุบัน (นับจากวันที่ Brown เริ่มเป็นผู้ว่าการรัฐครั้งแรกคือ 50 ปีพอดี) ก็ยังสร้างไม่เสร็จ

โครงการถูกตัดทอนระยะทางให้สั้นลงมาก ในขณะที่ต้นทุนการสร้างก็แพงกว่าเดิมหลายเท่า

ในช่วงเวลาเดียวกัน จีนสร้างรถไฟความเร็วสูงไปกี่หมื่นกิโลเมตร คงไม่ต้องนำมาหยามกันมาก

ปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อเมริกา (โดยเฉพาะเดโมแครต) ต้องทำอะไรผิดไปสักอย่าง (หรือหลายอย่าง) ในช่วงหลัง

เพราะอเมริกาในยุคก่อนหน้านี้คือผู้สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรถไฟใต้ดินของทั้งนครนิวยอร์กเสร็จในเวลาไม่กี่ปี การสร้างไฮเวย์ทั่วอเมริกา การสร้างสรรพสิ่งจำนวนมากในยุค New Deal ของประธานาธิบดี FDR (ที่เป็นตำนานของเดโมแครต!) รวมถึงเทคโนโลยีสารพัด เซมิคอนดักเตอร์ อินเทอร์เน็ต ยารักษาโรค

ปัญหา scarcity ทำให้คนเบื่อหน่ายเดโมแครต และส่งผลให้ Donald Trump (ที่ชี้ปัญหาได้ถูกต้อง) ชนะเลือกตั้ง

แต่อนิจจา สิ่งที่ Trump และเพื่อนอย่าง Elon Musk ทำเมื่อได้รับตำแหน่ง กลับเป็นการ “ทำลายล้าง” ระบบที่ Trump และ Musk มองว่าไม่เวิร์คไปซะทั้งหมด

Musk นั้นไม่พอใจกฎระเบียบหยุมหยิมของแคลิฟอร์เนีย จนย้ายบริษัท Tesla ไปอยู่เท็กซัสแทน แต่สิ่งที่เขาทำผ่าน DOGE แทนที่จะซ่อมระบบ กลับเป็นการทำลายระบบทุกอย่างลงไปทันที ปลดคน ตัดเงิน ปิดโครงการ

ส่วน Trump ก็พยายามแก้ปัญหา scarcity อเมริกาไม่สามารถผลิตของสำคัญๆ ได้ ด้วยการตั้งกำแพงภาษี ซึ่งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา scarcity เข้าไปอีก

มันกลายเป็นว่า ฝ่ายซ้ายเดโมแครตเน้นความเท่าเทียม ออกกฎระเบียบเยอะจนไม่สามารถสร้างผลงานอะไรได้เลย ทุกอย่างขาดแคลน แล้วฝ่ายขวารีพับลิกัน ก็ไม่พอใจสิ่งเหล่านี้ เลยทำลายทุกอย่างให้พังพินาศลงไป ของทุกอย่างก็ยิ่งขาดแคลน ประชาชนจะไหวไหม

แบบนี้ทำไงดี?

ข้อเสนอของ Klein และ Thompson ก็คือทำสิ่งที่ตรงข้ามกับ scarcity ไงล่ะ

นั่นคือ abundance ทำให้ทุกอย่างมีเยอะมากพอกับความต้องการ ราคาจะได้ถูกลง คนจะได้เข้าถึงได้

ไอเดียนี้เริ่มจากบทความของ Klein ในปี 2021 ชื่อ The Economic Mistake the Left Is Finally Confronting เขาเลือกใช้คำว่า “supply-side progressivism”

Derek Thompson ตอบสนองไอเดียนี้ เขาเขียนบทความในเดือนมกราคม 2022 ชื่อ A Simple Plan to Solve All of America’s Problems บอกว่า “we need an abundance agenda”

ไอเดียนี้ก่อรูปขึ้นมาจนกลายเป็นหนังสือที่ทั้งสองคนเขียนร่วมกันคือ Abundance วางขายในเดือนมีนาคม 2025

ข้อเสนอของทั้งสองคนระบุชัดเจนว่า นักการเมืองของพรรคเดโมแครตต้องปรับตัว เลิกคิดเรื่องการจ่ายเงินชดเชย เลิกคิดเรื่องการออกกฎเกณฑ์มากมาย จนสุดท้ายทำไม่ได้จริง แล้วหันมาคิดเรื่อง outcome หรือผลลัพธ์ดีกว่า

เราต้องการ outcome-oriented politics

เราต้องการ outcomes over processes

ทั้งสองคนยังชี้ว่าอเมริกายังสามารถสร้างอะไรบางอย่างได้นะ ถ้าตั้งใจกันจริงๆ ร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ Operation Warp Speed ตอน COVID นั่นไง ที่รัฐบาล Trump ในปี 2020 อนุมัติแผนการนี้ มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการอะไร (วัคซีนที่ได้ผลดีที่สุด กระจายให้กว้างที่สุด) ให้งบประมาณไม่อั้นกับภาคเอกชน ยกเว้นกฎระเบียบให้ทุกอย่าง เงื่อนไขการทดสอบของ FDA ถูกงดเว้นให้หมด แล้วในเวลาไม่ถึงปีเราก็ได้วัคซีน mRNA มากู้วิกฤตให้ชาวโลก ในราคา 0 ดอลลาร์ เพราะอเมริกาไม่คิดเงินค่าประดิษฐ์วัคซีนกับชาติไหนเลย

น่าเสียดายว่ามาถึงตอนนี้ คนลืม Operation Warp Speed กันหมดแล้ว เดโมแครตไม่อยากพูดถึงเพราะเป็นผลงาน Trump แต่ที่ตลกคือ Trump เองก็ไม่อยากพูดถึง เพราะฝ่าย Trump ต่อต้านวัคซีน mRNA (ฮา)

Klein และ Thompson ชี้ว่านี่คือทางออกของฝ่ายเสรีนิยม ของพรรคเดโมแครตในการกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

ในรายการสัมภาษณ์ของ Adam Conover ทั้งสองคนบอกว่ากฎเกณฑ์ของเดโมแครตมันเหมาะสมในยุคสมัยหนึ่ง ที่อเมริกาสร้างทุกอย่างเยอะไป แล้วผู้มีอำนาจมักสร้างแบบไม่ค่อยปรึกษาใคร สร้างผลกระทบให้กับคนเยอะ (เช่น Robert Moses ตำนานนักวางผังเมือง นักสร้างทางด่วนผู้ยิ่งใหญ่ของรัฐนิวยอร์ก ที่รื้อชุมชนคนดำเพื่อสร้างทางให้คนขาว) การมีกฎเกณฑ์เพื่อคุ้มครองคนมันเวิร์คในยุคนั้น แต่พอมาถึงยุคสมัยนี้มันไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้ว

เดโมแครตยุคใหม่ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่า สร้างของได้ ทำงานแล้วออกมาเป็นผลลัพธ์ (หมายเหตุ: ข้อเสนอนี้ค่อนข้างคล้ายกับ Next Frontier ของ Ruy Teixeira ที่บอกว่าเดโมแครตต้องย้อนคืนสู่ยุค FDR กอบกู้เศรษฐกิจด้วยการสร้าง และ JFK พาคนไปดวงจันทร์)

มีนักคิดมาจุดประกายไอเดียให้แล้ว ที่เหลือคงขึ้นกับว่านักการเมืองเดโมแครตยุคปัจจุบันจะตอบรับแค่ไหน

ในรายการ The Daily Show พิธีกร Jordan Klepper ตั้งคำถามว่านี่คือแผนแม่บทของเดโมแครต แบบเดียวกับ Project 2025 ของรีพับลิกันไหม ซึ่ง Ritchie Torres ส.ส. พรรคเดโมแครตของรัฐนิวยอร์ก โพสต์ภาพปกหนังสือเล่มนี้เป็นคำตอบ

หลังมานั่งติดตามเรื่อง Abundance ได้สักพัก ผมมีไอเดียคร่าวๆ ดังนี้

จีนในตอนนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของ Abundance คือสินค้าทุกอย่างผลิตมาจนล้นเกิน ซึ่งเป็นปัญหาด้านกลับอีกแบบหนึ่งที่ต้องดูว่าจะแก้อย่างไร

ส่วนไทยเรา ปัญหาอาจไม่ตรงกันซะทีเดียวแต่ก็มีบางส่วนที่ทับซ้อน ปัญหาหลักของไทยคือการคอร์รัปชันที่ทำให้กลไกรัฐไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น เงินและทรัพยากรรั่วไหลออกไปนอกระบบเยอะมาก (ซึ่งเป็นคนละปัญหากับอเมริกา) แต่ส่วนที่เหมือนกันคือ ในระบบราชการเองก็เจอปัญหา scarcity จากกฎเกณฑ์ที่เยอะแยะเต็มไปหมด จนแทบสร้างอะไรไม่ได้อีกเหมือนกัน ในขณะที่เราเห็นข่าวเก้าอี้ผู้บริหารตัวละแสน เราก็เห็นข่าวบุคลากรการแพทย์ทำงานหนักเจียนตาย แต่ค่าตอบแทนตกเบิกอยู่ตลอดเวลา

คนที่นิยามประเทศไทยตอนนี้ได้เห็นภาพชัดเจนที่สุดคือ คุณพัชรแห่งวง iHearband ที่บอกว่า ประเทศไทยเหมือนถนนที่สร้างลูกระนาด เนินเบรกรถ เอาไว้เพื่อชะลอไม่ให้รถวิ่งเร็วเกินไป แต่มันกลับทำให้คนขับรถดีๆ ทุกคนเจอปัญหาใช้ถนนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รถพังก่อน ในขณะที่คนขับรถไม่ดีก็เล่นนอกระบบ จ่ายเงินเอารถขึ้นไปวิ่งบนฟุตบาทแทน กลายเป็นว่าเนินเบรกรถแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย แถมสร้างปัญหาเพิ่มอีกต่างหาก

สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือแก้สองเรื่องพร้อมกันไป คอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ต้องปราบปราม (คุณอุ้ย ธีรภัทร เขียนไว้ดีมากแล้ว)

ส่วนเรื่องในระบบที่เป็นปัญหา scarcity ก็ต้องเข้ามาจัดการให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว ลื่นไหล และสามารถสร้างผลงานจับต้องได้ มาบริการให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง สมกับชื่อ abundance นั่นเอง

นั่นถึงจะเป็น Make Thailand Great Again อย่างแท้จริง