in Politics

บ้านราชครู อยู่ตรงไหนในซอยราชครู

“บ้านราชครู อยู่ตรงไหน” เป็นคำถามที่โผล่ขึ้นมาในหัว ระหว่างไปเยี่ยมมิตรสหายที่เปิดสำนักงานอยู่ในซอยราชครู

คนที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยคงได้ยินชื่อ “กลุ่มราชครู” กันมาพอสมควร กลุ่มราชครู หรือ “บ้านราชครู” หมายถึงตระกูลการเมืองที่ก่อตั้งโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ขั้วอำนาจของยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังรัฐประหาร 2490 ที่ปิดฉากอำนาจของกลุ่มปรีดี-ทหารเรือออกไปจากการเมืองไทย (อีกสองกลุ่มคือกลุ่มของจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์)

ภายใต้หน้าฉากที่จอมพล ป. นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่อำนาจจริงๆ อยู่กับขั้วของจอมพลผิน และจอมพลสฤษดิ์ ที่ต้องมาเผชิญหน้ากัน ชื่อเรียกของขั้วอำนาจทั้งสองกลุ่มจึงอิงกับบ้านของผู้นำทั้งสองคน ได้แก่ “กลุ่มราชครู” ของจอมพลผินที่มาสร้างบ้านอยู่บริเวณซอยราชครู และ “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” บ้านกองทัพบกของจอมพลสฤษดิ์ (รายละเอียดจากบทความในศิลปวัฒนธรรม)

หลังรัฐประหาร 2500 จอมพล ป. ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ กลุ่มจอมพลผินเสื่อมอำนาจลง (ชาติชายต้องไปเป็นทูตที่อาร์เจนตินา) กลายเป็นกลุ่มจอมพลสฤษดิ์-ถนอมที่ครองอำนาจยาวจนถึงปี 2516 แล้วค่อยหมดอำนาจไป ในขณะที่กลุ่มราชครูยังอยู่ยาวมาได้อีกหลายสิบปีหลังจากนั้น

จอมพลผิน มีลูกทั้งหมด 6 คน เป็นชาย 2 หญิง 4 ที่โดดเด่นที่สุดย่อมหนีไม่พ้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ไปไกลถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี (จากการเลือกตั้งด้วย) แต่พี่น้องคนอื่นก็แต่งงานกับตระกูลการเมืองใหญ่ 4 ตระกูลที่เราคุ้นชื่อกันดีคือ ศรียานนท์, ทัพพะรังสี, อดิเรกสาร, สาลีรัฐวิภาค

พลเอกชาติชาย มีเผ่า ศรียานนท์ และ ประมาณ อดิเรกสาร เป็นพี่เขย, มีกร ทัพพะรังสี เป็นหลานอา ดังนั้นพรรคชาติไทย-ชาติพัฒนา ล้วนแต่เชื่อมโยงกับกลุ่มราชครู

ส่วนสายตรงของตระกูลชุณหะวัณ หากนับชาติชายเป็นรุ่นที่สอง ก็มีไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นรุ่นที่สาม (เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) และล่าสุดคือลูกสาวของไกรศักดิ์ ธิษะณา ชุณหะวัณ รุ่นที่สี่ (กำลังลง ส.ส. กับพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งปี 2566)

ดังนั้นกลุ่มราชครูจึงมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่าเป็น “ตระกูล Kenedy ของประเทศไทย” และมีคนยก “บ้านราชครู” เป็น whitehouse ของเมืองไทย

แล้วบ้านราชครูอยู่ตรงไหนในซอยราชครู

สิ่งแรกที่ผมลองหาคือ Google Search ก็ไม่ได้คำตอบชัดเจนนัก พอลองดูจากพิกัดใน Google Maps ก็ค้นพบว่า “บ้านราชครู” เป็นชื่อเรียกกลุ่มบ้านของสายตระกูลจอมพลผิณในละแวกใกล้ๆ กัน (เช่น บ้านทัพพะรังสี) โดยปัจจุบัน “บ้านชุณหะวัณ” ของพลเอกชาติชาย กลายเป็นร้านกาแฟชื่อ Yellow Lane ไปแล้ว

ถ้าดูจากแผนที่ใน Google Maps บริเวณที่ทำสีแดงเข้มไว้ยังเป็นโซน private resident ของคนในตระกูลอยู่ (“ซอยราชครู” ที่เห็นในภาพเป็นซอยส่วนบุคคล) ในขณะที่บ้านชุณหะวัณ อีกฝั่งซอยนั้นเปิดให้เช่าและสามารถเข้าไปชมได้

ลองค้นข้อมูลดูพบว่า ทายาทรุ่นที่สี่อย่างธิษะณา เคยให้สัมภาษณ์เรื่องบ้านชุณหะวัณไว้ในหลายโอกาส เช่น ใน The Momentum ช่วงเดือนมกราคม 2023 ซึ่งเขียนไว้ละเอียดหลายประเด็น

The Momentum พูดคุยกับเธอถึงเรื่องราวของตระกูล ที่บ้านชุณหะวัณ ซอยราชครู บ้านไม้หลังนี้คือบ้านที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เสมอ เป็นบ้านที่ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ย่าของเธอ พักอาศัยในช่วงบั้นปลายชีวิต และเป็นบ้านส่วนตัวของไกรศักดิ์ ที่สะสมของเก่า เครื่องดนตรี และของใช้ส่วนตัวไว้เต็มบ้าน ขณะที่ห่างออกไปเป็นบ้านเดิมของ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ รวมถึงบ้านของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ผู้สมรสกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ชุณหะวัณ (บุตรสาวของจอมพลผิน) ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน

ส่วนบ้านชุณหะวัณหลังที่เราอยู่ เป็นบ้านที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด เพื่อนพ่อมาคุยมาถกกันหลากหลายเรื่อง มีนักการเมืองเวียนหน้ามาพบเสมอ ตัวเราก็เกิดและโตที่บ้านไม้หลังนี้ เมื่อก่อนไม่มีชั้นล่าง เขาทำเป็นบ้านไม้แบบโบราณ ชั้นล่างมาทำทีหลัง เราเกิดทันคุณปู่ (พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ) ทันคุณย่า (ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ) แต่ไม่ทันคุณทวด (จอมพล ผิน ชุณหะวัณ)

คุณปู่จะแยกไปอยู่ที่พหลโยธิน ซอย 3 (ปัจจุบันคือมูลนิธิพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ) เพราะตอนนั้นคุณปู่ไม่ได้อยู่กับคุณย่าแล้ว แต่คนสมัยก่อนเขาไม่หย่ากัน ถือว่าแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันแล้วก็จะแต่งกันไปเลย ไม่มีเลิก ซึ่งที่มูลนิธินั้นก็จะเอาไว้สังสรรค์ทางการเมือง เมื่อก่อนมีดาราฮ่องกงมาร่วมงานด้วย บางทีคุณปู่ก็มาเยี่ยมบ้านชุณหะวัณ แกก็จะนั่งรถกอล์ฟมา ส่วนหลังห่างออกไปเป็นบ้านของจอมพลผิน

ใน มติชนสุดสัปดาห์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 พูดเรื่องการให้เช่าบ้านเพื่อทำออฟฟิศและร้านกาแฟ

วันก่อนนัดสนทนากับหลานสาวอดีตนายกฯ ที่บ้านในซอยราชครู อันเป็นบ้านเก่าแก่ของ พล.อ.ชาติชาย ซึ่งอาจารย์โต้งก็อาศัยอยู่ที่นี่ด้วยจนเสียชีวิตเมื่อกลางปีที่แล้ว แต่อยู่กันคนละหลังในพื้นที่กว้างขวางประมาณ 3 ไร่ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่น้อย โดยตอนนี้แบ่งบ้านสามหลังให้เช่าทั้งออฟฟิศและร้านกาแฟ

บ้านชุณหะวัณ – ภาพโดย BBC Thai

เมื่อครั้งที่ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ทายาทรุ่นที่สาม เสียชีวิตในปี 2562 สื่อหลายหัวมีบทความย้อนประวัติตระกูลการเมืองบ้านราชครู ใน BBC มีพูดถึงบ้าน และภาพถ่ายบ้านชุณหะวัณในอดีตให้ดูด้วย

บ้านเรือนไทยของไกรศักดิ์ตั้งอยู่บนที่ดินราว 3 ไร่ ของครอบครัวชุณหะวัณ ใกล้ ๆ กันเป็นบ้านหลังใหญ่ที่ พล.อ.ชาติชายผู้ล่วงลับ เคยใช้ชีวิตอยู่กับคู่ชีวิต-ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ปัจจุบันท่านผู้หญิงในวัย 100 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่งในซอยเดียวกัน

เมื่อมีโอกาสผ่านไปทำธุระแถวย่านอารีย์อีกรอบ จึงลองไปสำรวจดูว่าบ้านชุณหะวัณในปัจจุบันหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง

จากภาพในมุมเดียวกันที่เห็นป้าย “บ้านชุณหะวัณ” มีผู้เช่าหลายราย ทั้งโบสถ์ Gospel City, คลินิกความงาม Belle Toyko, ร้านกาแฟ Yellow Lane และ 34Eight เป็นต้น

ทางเข้าบ้านชุณหะวัณ ณ พ.ศ. 2566

ทางเข้าบ้านชุณหะวัณ ณ พ.ศ. 2566

จากภาพข้างบน ถนนเข้าบ้านแบ่งโซนออกเป็นซ้าย-ขวา “บ้านเรือนไทย” ของไกรศักดิ์นั้นอยู่ด้านหลัง สุดปลายถนน (ยังเป็นบ้านส่วนตัวเก็บไว้อยู่ ไม่ได้เปิดให้เข้าชม)

บ้านเรือนไทย

บ้านเรือนไทยของไกรศักดิ์ ซ้ายมือในภาพเป็นคลินิก Belle Tokyo

โซนร้านกาแฟอยู่ฝั่งด้านขวามือ โดยแบ่งเป็นร้านกาแฟ Yellow Lane และออฟฟิศของบริษัทแฟชั่นชื่อ Bespokify ซึ่งตัวบ้านหลักของ พล.อ.ชาติชาย ก็คือบ้านสองชั้นหลังใหญ่หลังนี้เอง

เราสามารถเห็น “ร่องรอย” ของสถาปัตยกรรมบ้านยุคเดิม เช่น ประตูทรงโค้ง หลงเหลืออยู่ แม้บ้านถูก renovate ให้สวยงามตามอย่างบ้านยุคโมเดิร์นไปแล้วก็ตาม

อีกมุมของตัวบ้านสองชั้น บรรยากาศร่มรื่น

บรรยายกาศภายในชั้น 1 ตอนนี้เป็นร้านกาแฟชื่อ Yellow Lane เปิดมาแล้วประมาณ 3 ปี มองไปสุดภาพยังเห็นประตูทรงโค้ง ฝั่งซ้ายเป็นสวนภายในที่อยู่กลางบ้าน

นอกจากเป็นร้านกาแฟ ออฟฟิศ โบสถ์ และอื่นๆ แล้ว ปัจจุบันตัวบ้าน “ชุณหะวัณ” ยังมีสถานะเป็น public space ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ด้วย เช่น งานแสดงด้านศิลปะ Light in Two Places หรือกิจกรรมย่านอารีย์ในช่วงเทศกาล Bangkok Design Week 2023