ผลจากการรับมือ COVID-19 ของประเทศต่างๆ ที่ประสิทธิภาพแตกต่างกัน ทำให้จุดประเด็นความสนใจเรื่อง “อเมริกา vs จีน” กลับมาอีกครั้ง
อย่างที่เขียนไปคือ COVID-19 มีสถานะเป็น “ตัวเร่ง” เทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่แล้วให้เร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เทรนด์ “อเมริกาขาลง จีนขาขึ้น” ก็ถูกเร่งให้เร็วขึ้นเช่นกัน
ประเด็นเรื่อง “อเมริกา vs จีน” เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ผมเองก็เคยเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อปี 2018 ลงในมติชน โดยอิงข้อถกเถียงเรื่อง กับดักของทิวซิดิดีส (Thucydides’s Trap) จากหนังสือ Destined for War
หลายวันนี้อ่านบทความจาก 101 มีนักวิชาการหลายท่านเขียนสรุปประเด็นเหล่านี้ไว้ดีทีเดียว มาจดบันทึกไว้
อ่านงานของ อ.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน 101 เขียนเรื่องนี้ไว้เห็นภาพ ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกและระบบโลก ในด้านระเบียบโลก ในระยะสั้น จีนสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้เร็ว และอาจเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มมีการกระตุ้นและหมุนเวียนใช้จ่ายในตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศ ขณะที่ทางสหรัฐฯ อาจยังอยู่ในภาวะวิกฤตอีกหลายเดือน นอกจากนั้น เราจะเห็นจีนเริ่มออกมาเล่นบทบาทผู้นำในการให้ความช่วยเหลือทางสาธารณสุขกับประเทศต่างๆ ด้วย ส่วนในระยะยาว ผลกระทบต่อระเบียบโลกย่อมอยู่ที่ว่า สุดท้ายแล้ว สหรัฐฯ จะเกิดวิกฤตมากน้อยเพียงใด เศรษฐกิจจะพังยาวหรือพังสั้น ฟื้นตัวเร็วหรือฟื้นตัวช้า
ถ้าจะโฟกัสที่มุมของอเมริกาอย่างเดียว ก็มีงานของ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลงรายละเอียดว่าทำไม อเมริกาถึงเกิดวิกฤต
แรงสะเทือนของวิกฤตโควิด-19 ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต ขึ้นอยู่กับสถานะและสัมพันธภาพทางการเมืองในแต่ละประเทศในปัจจุบัน ว่าดำเนินมาอย่างไรและเกิดเงื่อนไขทางสังคมอย่างไร ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ทางชนชั้นในโครงสร้างอำนาจ ว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในกรณีของการเมืองอเมริกัน วิกฤตรัฐบาลทรัมป์จะเปิดโอกาสให้พรรคเดโมแครตเข้ามาครองอำนาจในทำเนียบขาว แล้วปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ให้ผู้เลือกตั้งพอใจและสนับสนุนพรรคต่อไป
การเปลี่ยนแปลงพลวัตรของการเมืองโลก จีนขาขึ้น อเมริกาขาลง รายละเอียดอยู่ในบทความของ อ.จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ เผชิญกับวิกฤตอย่างน้อย 3 ด้านด้วยกัน คือ ระบบการจัดการปกครองภายในประเทศ บทบาทการเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรสาธารณะระหว่างประเทศ และเจตจำนง/ความสามารถในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลทรัมป์สอบ ‘ตก’ ทั้งสามด้านนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะผู้นำโลกของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อขยับมาดูฝั่งประเทศจีน จะเห็นว่า แม้จีนจะดำเนินมาตรการผิดพลาดในช่วงแรก ทั้งในแง่การปกปิดความรุนแรงและการแพร่กระจายของไวรัส รวมทั้งการข่มขู่ไม่ให้นายแพทย์ Li Wenliang นำเสนอข่าวเรื่องเชื้อไวรัส COVID-19 ต่อสาธารณชน จนบางคนเรียกว่า นี่เป็น ‘Chernobyl ของจีน’ ซึ่งจะท้าทายและลดทอนอำนาจนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ก็ปรับตัวกับวิกฤตการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
ถ้าจีนผงาดขึ้นมารวดเร็วกว่าเดิม แล้วประเทศไทยจะวางตัวอย่างไรในเชิงเศรษฐกิจ เราต้องเลือกข้างอเมริกาหรือจีน
อ.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่ายังไงซะ ไทยต้องอิงกับ supply chain ของเอเชีย แต่ก็แนะนำให้หันไปสนใจ อินเดียและเอเชียใต้ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนมากเกินไป
แน่นอนว่าในปัจจุบัน เราพึ่งพาห่วงโซ่ของทวีปเอเชียอย่างมาก และเมื่อถามไถ่พูดคุยกับผู้ประกอบการ เราก็มักจะพบเสมอว่า การที่ไทยจะไปเชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่าทางด้านอเมริกากลางหรืออเมริกาใต้ เพื่อไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรแรงงาน กลับเป็นเรื่องยากถึงระดับที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งจากปัญหาระยะทางที่ไกล ต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูง รวมทั้งสภาพสังคม-วัฒนธรรม และข้อจำกัดด้านภาษา (ภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกส) ซึ่งผู้ประกอบการไทยแทบจะไม่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ นั่นทำให้ไทยเรายังพึ่งพิง พึ่งพา และเป็นห่วงโซ่อุปทานของเอเชียเป็นหลัก แต่คำถามสำคัญคือ แล้วเราจะลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากจนเกินไปได้อย่างไร
ภาพประกอบ: ทหารจีนมาฝึก Cobra Gold ในไทย ร่วมกับทหารไทยและทหารอเมริกัน จาก กระทรวงกลาโหมจีน