เขียนเรื่อง ประเมินสถานการณ์ประเทศไทยปี 2021 ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากงานสัมมนา Breakthrough Thailand 2021 ของเครือมติชนไปแล้ว
วิทยากรอีกคนที่น่าสนใจคือ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของ “ม็อบราษฎร 2563” อย่างใกล้ชิด และให้มุมมองที่แหลมคมอย่างมาก (เคยเขียนถึง อ.กนกรัตน์ ไปแล้วครั้งหนึ่ง)

การบรรยายนี้ของ อ.กนกรัตน์ เปรียบเสมือนอัพเดตการวิเคราะห์ “ม็อบราษฎร 2563” เวอร์ชันต้นปี 2564 ซึ่งตัวม็อบเองก็มีพัฒนาการที่เพิ่มจากช่วงแรกๆ มาก
ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดในการบรรยายนี้คือ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้มีแต่นักเรียน-นักศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังขยายไปยังคนอีก 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- คนรุ่นใหม่ในองค์กรเอกชน
- คนรุ่นใหม่ในองค์กรภาครัฐ
“ในระยะหลัง ดิฉันจึงเริ่มสนใจสัมภาษณ์คนที่ไม่ใช่นิสิตนักศึกษามากขึ้น สิ่งที่ค้นพบและน่าสนใจมากคือ คนรุ่นใหม่ในองค์กรเอกชนแบบที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อน คือองค์กรที่เป็นสตาร์ทอัพ ภาคธุรกิจขนาดเล็กมากมายและหลายคนอยู่ในองค์กรกึ่งเอกชน กึ่งรัฐบาลที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ทั้งหมด
“คนเหล่านี้อยู่ในบรรยากาศวัฒนธรรมทางธุรกิจอีกแบบหนึ่งเลย คนเหล่านี้เสรีนิยมมาก สนใจ ตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาของสังคม เท่าที่ไปสัมภาษณ์มา จะเห็นการขยายตัวของคนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ” ผศ.ดร. กนกรัตน์กล่าว
ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ในองค์กรภาครัฐ สิ่งที่น่าสนใจมากคือ เรากำลังเห็นการผลัดใบของหน่วยงานราชการ เท่าที่สำรวจ 6-7 หน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยงานความมั่นคงของรัฐบางหน่วยงาน ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่อาชีพต่ำกว่า 35 ปีลงไปมีถึง 60-70 เปอร์เซนต์ในหลายองค์กร นั่นแปลว่าคนเหล่านี้คือคนที่ร่วมสมัยกับคนที่กำลังเรียกร้องและสะท้อนถึงปัญหา เพราะฉะนั้นเขาอยู่ในหน่วยงานภาครัฐแบบที่เข้าใจ และมีความอยากที่จะเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ระบบยังคงแข็งตัว แต่คนเหล่านี้ก็มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
มิตินี้ของ อ.กนกรัตน์ ชี้ให้เห็นว่า generation is real การต่อสู้ของเมืองไทยตอนนี้ไม่ได้เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์อย่างเดียว (ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการเมืองอเมริกัน [1], [2]) แต่เป็นการต่อสู้ในเชิงโลกทัศน์ (perception) ซึ่งปัจจัยเรื่องอายุมีผลอย่างมาก ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน องค์กรอะไร แต่อายุเป็นตัวกำหนดกรอบคิดของคุณแน่นอน
อ.กนกรัตน์ ยังเสนอให้ดึงคนที่อายุเพิ่มขึ้นอีก 1 รุ่น (Gen X ที่อายุ 40-50 ในปัจจุบัน) มาเป็นแนวร่วมสนับสนุนขบวนการด้วย ซึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลมากต่อคนกลุ่มนี้
“อย่างแรกคือการสร้างเครือข่ายซึ่งสำคัญมาก จะทำหรือไม่ทำ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นทางเลือก คืออย่างไรก็ตาม ต้องทำ คือต้องสร้างเครือข่ายกับคนเจนเนเรชั่นเอ็กซ์ วาย และคนที่ยังไม่สนใจทางการเมือง รู้ว่ายากแต่ก็ต้องทำ เพราะคนเจนวายเป็นคนกลุ่มที่สนับสนุนการชุมนุมมากที่สุด ที่สำคัญคือการจะไปทำให้คนเจนเอ็กซ์ซึ่งหมายถึงคนอายุ 40-50 มาสนับสนุนขบวนการนี้ คือเรื่องจำเป็นมาก
“คนเหล่านี้กำลังจะได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด เพราะเมื่อเศรษฐกิจแย่ไปมากกว่านี้ คนเจนเอ็กซ์จะได้รับผลกระทบมากที่สุด การเลย์ออฟจากองค์กร คนอายุ 40-50 จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว
ประเด็นที่สองคือ การต่อสู้ในมิติของวัฒนธรรม ชีวิตประจำวัน ซึ่งอยู่นอกม็อบ นอกถนนด้วย แต่คนนอกมองไม่เห็น
กลายเป็นว่าการลุกขึ้นของคนรุ่นใหม่ เป็นการลุกขึ้นสู้กับหลายเรื่องในชีวิต และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เล็กๆ แต่สำคัญ และคนรุ่นเก่ามองไม่เห็น (เพราะไปโฟกัสกับ “การลงถนน” ของม็อบแบบดั้งเดิมซะหมด)
สิ่งที่เขาต่อสู้มาไม่ใช่เพียงบนท้องถนนแบบที่เราเห็น สิ่งที่เขาต่อสู้ในทุกวันที่เรามองไม่เห็นคือการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงขนบทางสังคมในโรงเรียนและในครอบครัว จากที่สัมภาณ์คนรุ่นใหม่นับไม่ถ้วนที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทุกวันในการทำให้พ่อแม่สนใจการเมืองมากขึ้น ยอมรับมากขึ้นว่าปัญหามีจริง หรือหลายคนประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้นานมากในการผลักดันการต่อต้านคอร์รัปชั่นในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งชัยชนะในการชู 3 นิ้ว ในการแต่งชุดไปรเวท มันทำให้คนรุ่นนี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเขาประสบความสำเร็จในพื้นที่ที่เขาใช้ชีวิตอยู่
“ถ้าไปสัมภษณ์เด็กหลายโรงเรียนที่เริ่มต้นรณรงค์ชู 3 นิ้ว จะเห็นเลยว่าหลายพื้นที่ในโรงเรียนยอมให้นักเรียนไม่ต้องเข้าแถวเคารพธงชาติในพื้นที่ที่ต้องตากแดด แค่นี้สำหรับคนรุ่นใหม่ก็ชนะแล้ว บางโรงเรียนยอมให้มีการแต่งชุดไปรเวทแล้วในบางวัน
“สำหรับผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องมีสาระอะไร แต่สำหรับคนุร่นใหม่มันคือการผลักดันการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกๆ ของเขา
ประเด็นที่สาม คือ แนวคิดในการตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่สะท้อนความต้องการของคนรุ่นใหม่จริงๆ ซึ่งจะไปไกลกว่า พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ที่เป็นภาพสะท้อนของคน Gen Y (แต่ไม่ใช่ Gen Z)
เรื่องนี้ส่วนตัวคิดว่าไม่ง่าย เพราะการสร้างพรรคการเมืองต้องใช้พลังและทรัพยากรสูงมาก แต่ในระยะยาว (เช่น 10 ปี) ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะมีความต้องการผลักดันโดยธรรมชาติ โดยตัวมันเองอยู่แล้ว
หลายคนเขาเชื่อว่าเขาสำเร็จ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย คือการสร้างพรรคการเมืองของเขาเอง คือการสนับสนุนและผลักดันจนพรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จ แม้พรรคถูกยุบไปแล้ว แต่เขามองว่านั่นเป็นแค่การปฏิบัติการทางการเมือง ความสำเร็จของเขา เขามองว่า เขาตั้งพรรคหนึ่งได้ในอนาคตและเรากำลังจะเห็นการเติบโตขึ้นของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่ คือพรรคที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง มันจะเริ่มขยายตัวและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นที่สี่ คือปี 2563 เป็นปีที่ออกมาพูดเรื่องปัญหา (problems) ส่วนปี 2564 จะเป็นปีที่ต้องพูดเรื่องแนวทางแก้ไข (solutions) การพูดเรื่องปัญหาอย่างเดียว ไม่เพียงพอแล้ว
“ปีที่แล้วเป็นปีแห่งการบอกว่าปัญหาคืออะไร แต่ปีนี้เสียงถูกได้ยินแล้ว ปีนี้คือปีแห่งการนำเสนอทางเลือกเพราะขบวนการจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ทางเลือกในการแก้ปัญหาจะต้องมาจากคนรุ่นใหม่” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว