in Politics

World of Youth

ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ คำว่า “คนรุ่นใหม่” กำลังเป็นประเด็นร้อนแรง จากม็อบนักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศ ที่สั่นไหวความเชื่อและคนนิยมของคนรุ่นเก่า

ในฐานะคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ก็ต้องยอมรับว่ามีหลายอย่างที่ผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจคนรุ่นใหม่แล้วมากนัก (แม้พยายามทำความเข้าใจก็ตาม) และในประเด็นเรื่องม็อบรอบนี้ คนที่เข้าใจความต้องการของคนรุ่นใหม่มากที่สุด หนีไม่พ้น รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ในม็อบทั่วไทยมาอย่างละเอียด

เขียนถึงวิดีโอการให้สัมภาษณ์ของ อ. ไปในบล็อกตอนก่อน แต่เห็นบทสัมภาษณ์ใน The Matter ที่ลงรายละเอียดมากขึ้นมาก จึงนำมาแปะไว้อีก

เปิดมาประเด็นแรกก็น่าสนใจแล้วคือ ความแตกต่างระหว่างเด็กมหาวิทยาลัย และเด็กมัธยม

ดิฉันคิดว่าจากที่คุยในหลากหลายจังหวัด เด็กมัธยมกับเด็กมหาวิทยาลัยมีข้อเรียกร้องและปัญหาในใจที่แตกต่างกัน

เด็กมหาวิทยาลัย ผ่านประสบการณ์การเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา และบางคนก็เคยโหวตร่างรัฐธรรมนูญ (2560) ซึ่งสิ่งที่เขาอึดอัดมากคือ พรรคการเมืองที่เขาเลือกถูกยุบ ดังนั้น การลุกขึ้นมาของเขา มันคือการเรียกร้องให้มีระบบและการจัดการทางการเมืองที่เป็นไปตามเจตจำนงของเขา

ในขณะที่เด็กมัธยม ประเด็นข้อเรียกร้องของเขาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับความอึดอัดของเขาในโรงเรียน สังคม หรือครอบครัว พวกเขารู้สึกว่าถูกละเมิดในร่างกายและตัวตน เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องของเขาจึงไปไกลกว่าเด็กมหาวิทยาลัยอย่างน่าตกใจ เขาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงฐานคิดของสังคม และสถาบันที่เอื้อแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย

ดิฉันคิดว่า เด็กมหาวิทยาลัยมีความระมัดระวังต่อข้อเรียกร้อง พวกเขาคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ขบวนการปลอดภัย เขาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ว่า ถ้ามีการพูดถึงสถาบันที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย อาจจะนำไปสู่การยั่วยุหรือความไม่พอใจของสังคม เขาเลยพยายามทำให้ขบวนการดูน่ารัก น่าเอ็นดู

แต่สำหรับเด็กมัธยมปลาย พวกเขาบอกว่า เบื่อมากม็อบแฮมทาโร่ พวกเขาอยากได้ม็อบที่มีข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรม อยากให้ผู้ใหญ่มองเขาเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนที่เท่าเทียมกัน เด็กมัธยมพูดคล้ายกันว่า ปัญหาของเขาคือถูกปฏิบัติแบบคนที่มาทีหลัง ไม่มีประสบการณ์ และมีความรู้น้อยกว่า

อีกประเด็นที่คิดว่าดีคือ “จินตนาการของโลก” ที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น

อ่านแล้วคือกดดันเลย คนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่อย่างเรา ที่ต้องรับบทบาทสร้าง “โลกที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น” จะสามารถทำมันขึ้นมาได้จริงๆ ตามที่คนรุ่นใหม่จินตนาการไว้ได้หรือไม่ อันนี้ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองมากนัก

ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะบอกว่า “โอ๊ย อยู่เมืองไทยนี่ก็ดีแล้วนะ ไปดูประเทศอื่นสิที่เป็นสังคมที่ยากจนกว่านี้ คุณลองไปอยู่เวียดนามสิ” หรือพูดว่า “คุณไปอยู่ในหลายประเทศที่เป็นเผด็จการจริงๆ มันน่ากลัวกว่านี้นะ”

ดิฉันคิดว่าจินตนาการของโลกที่คนรุ่นใหม่อยากไปมันไปไกลกว่านั้นมาก เขาไม่ได้เปรียบเทียบไทยกับประเทศที่เป็นประเทศที่ด้อยกว่า แต่เขาเทียบไทยกับประเทศที่ไปไกลกว่านั้น พวกเราสอนพวกเขาอยู่ตลอดว่าคนไทยมีศักยภาพ คนไทยไปไกลได้ระดับโลก แต่เขามองไม่เห็นว่าโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่เป็นอย่างปัจจุบันจะพาเขาไปไกลระดับโลกได้อย่างไร

สุดท้ายคือเรื่อง Twitter อันนี้โดนใจมาก 555

สำหรับพ่อ-แม่ๆ ขอให้ทุกคนหยิบมือถือขึ้นมา แล้วก็ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทวิตเตอร์ แล้วเข้าไปดูว่าโลกของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร ดิฉันเพิ่งเล่นได้ 8-9 วัน บอกเลยว่าเข้าใจคนรุ่นใหม่ขึ้นเยอะมาก

ช่วงแรกๆคุณอาจจะรู้สึกว่า ‘โอ้โห เด็กพวกนี้รุนแรง หยาบคาย แต่พอคุณเห็นสิ่งที่เขาพูดคุยกัน มันเป็นเพียงวัฒนธรรมภาษาที่เขาใช้ในโลกทวิตเตอร์ แต่ข้างในของเขามันไม่ได้ต่างอะไรกับคนที่มีอายุมากกว่า พวกเขามีวุฒิภาวะทางการเมือง อ่านข่าวสารบ้านเมือง และแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ในระดับที่เร็วและแรงกว่าคนอีกรุ่นหนึ่งมาก
“เพราะฉะนั้นถ้าอยากเข้าใจลูกๆก็ไปเล่นทวิตเตอร์ค่ะ”