เขียนเรื่องขั้วโลกไป ก็ชวนให้สนใจเรื่องขั้วโลกใต้ กับคำถามพื้นฐานว่า “ใครเป็นคนค้นพบทวีปแอนตาร์กติกาเป็นคนแรก”
ตำนานเล่าขานเรื่อง “ทวีปทางใต้” มีมานานตั้งแต่ยุคของอริสโตเติล (Terra Australis หรือแปลว่า ดินแดนทางใต้) โดยตรรกะมาจากแนวคิดว่า ต้องมีทวีปทางใต้มา “คานน้ำหนัก” กับทวีปทางตอนเหนือ -_-
การคาดเดาเปะปะดันถูกต้อง โดยทวีปทางใต้ที่ถูกค้นพบก่อนคือ ออสเตรเลีย (ถึงได้ตั้งชื่อว่า Australia ตามรากศัพท์ภาษาละติน Australis) แต่บรรดานักสำรวจทั้งหลายก็คาดเดาว่า มันน่าจะมีทวีปที่อยู่ใต้กว่านั้นอีก (ชื่อ Antarctica = Anti Arctic)
แต่ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็น และเทคโนโลยีการเดินเรือในอดีตยังไม่พร้อม (ศตวรรษที่ 16-17 ยุคทองของการเดินเรือรอบโลก) ขนาดนักสำรวจชื่อดังในยุคถัดมาอย่าง James Cook ยังเดินทางไปไม่ถึง เพราะไปติดทะเลน้ำแข็งเข้าซะก่อน (ปี 1773) โดยห่างชายฝั่งไปประมาณ 120 กิโลเมตร
กว่าจะมีคนเห็นแอนตาร์กติกา (และสามารถยืนยันได้จริงๆ ไม่ใช่คำกล่าวอ้าง) ก็ต้องรอจนถึงปี 1820 ที่มีคณะสำรวจ 3 คณะจาก 3 ประเทศ ค้นพบแอนตาร์กติกาในเวลาไล่เลี่ยกัน
ผู้ที่ค้นพบเป็นรายแรกคือ Fabian Gottlieb von Bellingshausen หัวหน้าคณะนักสำรวจของรัสเซีย ที่เฉือนเอาชนะคณะสำรวจจากอังกฤษไปเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น (คณะสำรวจจากอเมริกาตามมาหลังจากนั้นอีก 10 เดือน)
ก่อนหน้านั้นมีคณะสำรวจบางคณะ อ้างว่าไปเหยียบทวีปแอนตาร์กติกาได้ก่อน เช่น คณะของสเปนในปี 1819 แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน หรือคณะของอังกฤษในปี 1819 เช่นกัน แต่เป็นการค้นพบเกาะแถวนั้น ไม่ใช่พื้นทวีปหลัก ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ก็ต้องถือว่าคณะของรัสเซีย เป็นผู้ค้นพบทวีปแอนตาร์กติกาเป็นรายแรก
แต่กว่าจะมีคนเดินทางไปถึงขั้วโลกใต้ (South Pole) ก็ต้องใช้เวลาอีกเกือบ 100 ปี โดยคณะของ Amundsen ที่เดินทางไปถึงในปี 1911 นั่นเอง
ภาพจาก NASA