in Movies

Turning Red

Turning Red ผลงานภาพยนตร์ยาวลำดับที่ 25 ของ Pixar เป็นเรื่องของเด็กหญิงเชื้อจีนในแคนาดา วัย 13 ปี ที่กำลังเริ่มเข้าสู่วัยสาว ติดเพื่อน บ้าดารา แต่ในอีกทางก็ต้องเผชิญกับการควบคุมที่เข้มงวดของแม่แบบเอเชีย (tiger mom) จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญกับร่างกายของเธอ

พล็อตแบบนี้สามารถใช้เป็นพล็อตหนังดราม่าครอบครัว แม่-ลูกไม่เข้าใจกันแบบมาตรฐานได้ แต่พอมันเป็นหนังแอนิเมชันของ Disney-Pixar เลยต้องมี magic บางอย่างเพิ่มเข้ามาในเรื่อง

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย Mei นางเอกของเรื่อง ไม่ใช่ประจำเดือนครั้งแรก (turning red) แต่เป็นสิ่งสีแดงเหมือนกันคือ การแปลงร่างเป็นแพนด้าแดง (Turning Red) คำสาปประจำตระกูลที่เกิดขึ้นเฉพาะทายาทผู้หญิง

เรื่องราวของ Turning Red จึงเป็นการเติบโตของ Mei ขึ้นมาระหว่างความสับสนในแบบต่างๆ สิ่งที่ต้องเลือกระหว่างเพื่อนที่รักและครอบครัวที่ผูกพัน ภาวะความแปลกแยกต่อสังคมค่านิยมแบบจีนที่บ้านกับค่านิยมตะวันตกที่โรงเรียน โดยขับเน้นเรื่อง “ความเป็นอื่น” ให้เข้มข้นด้วยสัญญะที่กลายร่างจากมนุษย์เป็นแพนด้าแดง

Turning Red เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของ Domee Shi ผู้กำกับหญิงคนแรกของ Pixar และเป็นคนเชื้อสายแคนาดา-จีนด้วย เธอจึงเอาเรื่องราวชีวิตของตัวเองที่มีประสบการณ์ “เด็กหญิงจีนที่เติบโตในโตรอนโต” มาเล่าผ่านภาพยนตร์ (ก่อนหน้านี้เคยมีภาพยนตร์สั้นเรื่อง Bao)

ช่วงหลังเราเห็น Disney-Pixar สนใจเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติ (diversity) เพิ่มขึ้นอย่างมาก (ตามกระแสการเมืองอเมริกันยุคนี้) ภาพยนตร์ในรอบหลายปีให้หลังต้องมีแตะประเด็นนี้ไม่มากก็น้อย ที่จับต้องเรื่องชาติพันธุ์ได้ชัดเจนมาก คือ ตัวเอกคนดำ (Soul), ชีวิตคนละตินอเมริกัน (Encanto), เม็กซิกัน (Coco), เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Raya), ชาวเกาะในแปซิฟิก (Moana) ไปจนถึงการแฝงประเด็นชนชั้นใน Zootopia, ชนกลุ่มน้อยใน Frozen II, ความเป็นอื่น (เงือก) ใน Luca

Turning Red เป็นอีกเรื่องที่เดินตามเส้นทางนี้ แต่นอกจากประเด็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรมจีน-ตะวันตก จากประสบการณ์ตรงของ Domee Shi ที่เล่าผ่านตัว Mei แล้ว อีกประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากใน Turning Red คือวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ที่ออกจะไม่ใช่สไตล์ของ Pixar แบบดั้งเดิมมากนัก พูดง่ายๆ คือมันเปลี่ยนจากหนังเด็กและครอบครัว ใสๆ สวยๆ มาเป็นหนังที่วัยรุ่นมากขึ้น (tween ตามอายุของ Mei ในเรื่อง)

เราจึงเห็นการใช้วงดนตรีบอยแบนด์ (ในเรื่องชื่อวง 4*Town) ที่มีการแต่งเพลงตามธรรมเนียมวงบอยแบนด์ขึ้นมาจริงๆ (มีเพลงเต้น-เพลงช้า-เพลงประจำตัว) การใช้ฉากหรือตัวละครแบบอนิเมญี่ปุ่น เช่น ฉากแพนด้าแดงยักษ์อาละวาด ที่เหมือนหนังก็อดซิลล่าหรือสัตว์ยักษ์ (Kaiju) ทั้งหลาย ตัวของแพนด้าแดงอ้วนๆ ขนฟูน่ากอด ที่ Domee Shi บอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก Totoro เป็นต้น ฉากแพนด้าแดงยักษ์กระโดดไปมาตามถนนในเมือง มันก็คือรถเมล์แมวชัดๆ

Disney ทำ Lyric Video ของวง 4*Town ขึ้นมาจริงๆ และมีเว็บไซต์ของวงด้วย

สไตล์เหล่านี้สะท้อนวิธีคิดของผู้กำกับเจเนเรชันใหม่ของ Pixar ที่ย่อมมีวิธีคิด วิธีมองโลกแตกต่างไปจากผู้กำกับรุ่นก่อนๆ ตัวของ Domee Shi เกิดปี 1989 ปัจจุบันอายุ 32 ปีเท่านั้นเอง (เธอทำเรื่อง Bao และเริ่มเสนอคอนเซปต์ Turning Red ต่อผู้บริหาร Pixar ในปี 2017 ตอนนั้นคืออายุ 28 ปี)

ในประวัติของเธอเล่าว่าโตมากับการดู Ghibli, Disney, Pixar, Harry Potter, อ่านมังงะ-ดูอนิเมะญี่ปุ่น, ซื้อของที่ระลึกจาก One Piece-Zelda, วาดรูปแฟนอาร์ตลง DeviantArt ซึ่งทั้งหมดก็ไม่ต่างอะไรจากวิถีชีวิตของคนรุ่นเดียวกัน (Tumblr วาดเล่นของเธอ)

เมื่อเธอได้โอกาสรับงานใหญ่อย่างการเป็นผู้กำกับหนังยาว Pixar จึงถือเป็นโอกาสดีที่เธอจะนำวิธีการเล่าเรื่องในแบบของคนรุ่นเธอเอง (ซึ่งคงสะท้อนวิถีของแอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ๆ ใน Pixar อีกจำนวนมากด้วย) มานำเสนอต่อผู้ชมรุ่นใหม่ ที่มีมีวิธีการมองโลกต่างไปจากคนรุ่น Toy Story อย่างสิ้นเชิง (อย่างใน Onward เราก็เห็นตัวเอกที่บ้าบอร์ดเกม ซึ่งเป็นสิ่งที่จินตนาการถึงได้ยากในหนัง Disney-Pixar ยุคก่อน)

Turning Red จึงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจของ Pixar ในระยะยาว แม้ว่าสุดท้าย หนังขมวดปมความขัดแย้งของครอบครัวได้อย่างสวยงาม ทุกคนหันมาเข้าใจกันและกันมากขึ้นตามแบบฉบับ Disney-Pixar

แต่วิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ของ Turning Red ก็สะกิดให้เราหันมาจับตาว่า Pixar แห่งทศวรรษ 2020s จะมุ่งหน้าไปในทางไหน