in Movies

Onward

Onward เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันปี 2020 ของ Pixar ซึ่งน่าสงสารตรงที่เริ่มฉายได้ 1 สัปดาห์กว่าๆ โรงหนังทั่วโลกต้องปิดเพราะ covid รอบแรก จึงทำรายได้ไปเพียง 141 ล้านดอลลาร์แล้วต้องไปฉายในสตรีมมิ่งต่อ (เทียบกับ Toy Story 4 ที่ฉายก่อนนั้นครึ่งปี กวาดรายได้ไปเกินพันล้านดอลลาร์)

Onward เป็นเรื่องของพี่น้องเอลฟ์ที่ต้องเดินทางเพื่อตามหาเวทย์มนตร์ที่ใช้ปลุกชีพพ่อที่ตายไปแล้วขึ้นมาเจอหน้า (แม้ได้เพียง 1 วัน) โดยมีเซ็ตติ้งที่น่าสนใจคือ urban fantasy หรือโลกแฟนตาซี พ่อมด เวทย์มนตร์ ที่กลายเป็นสังคมเมืองสมัยใหม่ (ลักษณะคล้ายๆ Harry Potter แต่อันนี้เป็นสังคมอเมริกันจัดๆ)

พล็อตหลักของเรื่องนำมาจากชีวิตจริงของ Dan Scanlon ผู้กำกับเรื่องนี้ (เคยกำกับ Monster University มาก่อน ซึ่งมีสไตล์เป็น urban scifi มีภาพของสังคมมหาวิทยาลัยอเมริกันชัดเจนคล้ายกัน) ที่พ่อของเขาเสียชีวิตตั้งแต่ตอนเด็กๆ และความสัมพันธ์ของเขากับพี่ชายที่เติบโตแบบไม่มีพ่อมาด้วยกัน

แกนหลักของ Onward จึงเป็นเรื่องของคู่พี่น้องที่โหยหาพ่อ (และมีวิธีแสดงออกที่แตกต่างกันไป ถ้าเอานิยามของแม่ก็พูดไว้ชัดว่าคือ “คนนึงไม่กลัวอะไรเลย อีกคนนึงกลัวทุกอย่าง”) แต่แทนที่จะเป็นหนังดราม่า coming of age ทั่วไป ก็ใส่เซ็ตติ้งแปลกใหม่เป็น urban fantasy เข้ามา

แล้วหยอดด้วย twist สไตล์ Pixar อีกสักนิด โดยแต่งพล็อตว่าตอนแรกดันคืนชีพพ่อมาได้แค่ครึ่งล่าง (ตั้งแต่เอวลงไป) ต้องไปตามหาอัญมณีเพื่อให้คืนชีพพ่ออีกครึ่งที่เหลือให้ได้ก่อนพระอาทิตย์ตก

เท่ากับว่าเรามีไดนามิกของคู่พี่น้องที่โหยหาพ่อ เดินทางไกลเพื่อคืนชีพให้พ่อ โดยมี “พ่อ” ครึ่งตัวที่พูดไม่ได้ติดตามไปด้วย บนเซ็ตติ้งแบบ urban fantasy ถือเป็นความแปลกใหม่ที่น่าสนใจดี

แกนหลักของเรื่องคือความสัมพันธ์ระหว่างน้องชาย (Ian) และพี่ชาย (Barley) ที่มีนิสัยแตกต่างคนละขั้ว (ตรงนี้มองว่าเป็นด้านกลับของ Frozen ที่เป็นพี่สาว-น้องสาวก็ว่าได้) แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ต้องเดินทางไปด้วยกัน (เป็น road movie) มีทะเลาะกันระหว่างทาง แต่สุดท้ายก็กลับมาเข้าใจกันและกันได้ ไดนามิกตรงนี้ทำได้ดีเลย

ปัญหาของ Onward คือมันยังไปไม่สุด ในขณะที่คู่พี่ชาย-น้องชายทำได้ดี Onward ดันใส่ตัว “พ่อ” เข้ามาแบบครึ่งตัวด้วย แล้วตอนขมวดปมตอนสุดท้ายกลับไม่ค่อย climax เต็มที่นัก หนังพยายามใช้วิธีการเล่าเรื่องสมัยใหม่ ที่ตั้งใจให้ subtle เพื่อให้ผู้ชมแต่ละคนตีความกันเอง (ผ่านสายตาของ Ian ที่อยู่ไกล มองไม่เห็นหน้าพ่อและไม่ได้ยินว่าพ่อพูดอะไร ก่อนร่างสลายไป) แต่ผมคิดว่าตรงนี้พูดออกมาให้ explicit ตามการ์ตูนสมัยเก่าน่าจะดีกว่า

การเลือกวิธีเล่าเรื่องแบบนี้ทำให้การเดินทางของ Onward จบแบบไม่สุดเท่าไรนัก (ผมมีปัญหากับการเล่าเรื่องแบบนี้พอสมควร ดังที่เขียนไว้ใน Soul)

ตัวละครอีกชุดที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้คือ คู่ของแม่ Laurel และป้ามอนสเตอร์ Manticore ที่ออกเดินทางคู่ขนานกันไป สิ่งที่คาดหวังคือเราจะได้เห็นปมของตัวละครรุ่นใหญ่ แม่ม่ายสามีตาย เลี้ยงลูกชายสองคนที่ต่อต้านแฟนใหม่ของแม่ กับ คุณป้าอดีตนักรบอันเกรียงไกรที่เจอ career crisis มาปรับทุกข์กัน แล้วเจอทางออกร่วมกัน จนเส้นเรื่องมาทับกับคู่ตัวเอง แต่สุดท้ายหนังตัดปมตรงนี้ออกไปเกือบหมด เหลือแต่บทแอคชั่นล้วนๆ

ประเด็นเล็กๆ อันสุดท้ายที่ไม่ส่งผลมาก แต่ไม่ค่อยชอบนักคือ หนังไม่อธิบายเหตุผลว่าทำไม Ian ถึงมีเวทย์มนตร์ (หนังดิสนีย์ช่วงหลังชอบมาแนวนี้) ส่วนตัวแล้วชอบหนังที่อธิบายกลไกของโลกในเรื่องให้ชัดเจน เข้าใจได้มากกว่า

ชื่อของหนังเองก็มีความงงนิดนึง ตรงที่หนังไม่พูดออกมาชัดๆ ว่า Onward แปลว่าอะไร แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าหมายถึงการเดินทางมุ่งหน้าไป ซึ่งเป็นการเดินทางธีมหลักของเรื่อง

มาพูดถึงสิ่งที่ชอบกันบ้าง อันที่ประทับใจคือ

  • คาแรกเตอร์ของ Barley ที่เป็น “เนิร์ดบอร์ดเกม” ก็ไม่นึกว่าจะมีวันที่เราเห็นตัวละครแบบนี้กลายมาเป็นตัวเอกการ์ตูน Disney/Pixar ได้ (แถมบทดีด้วย) แสดงให้เห็นโลกที่เปลี่ยนไป ยอมรับงานอดิเรกที่ในอดีตเคยเป็นกระแสรองมากขึ้น และสะท้อนความนิยมของกลุ่มคนเล่นบอร์ดเกม-การ์ดเกมที่เพิ่มขึ้นด้วย
  • ไอเดียรถ Guinevere นี่แจ่มมาก แปลกใหม่
  • บทสไตล์ Pixar ที่ใช้ประโยชน์จากจุดเล็กๆ น้อยๆ ที่วางไว้ตอนต้นเรื่อง ให้กลับมาเป็นตัวผลักดันเรื่องในช่วงหลัง อย่างเวทย์มนตร์ทุกอันที่ Ian หัดใช้ในตอนแรกๆ ซึ่งอาจดูไร้สาระ สุดท้ายได้ใช้ประโยชน์ทั้งหมด
  • เซ็ตติ้งแบบ urban fantasy ที่เอาแนวทางแฟนตาซีจัดๆ (หลายฉากในเรื่องคือตั้งใจล้อหรืออิง Lord of the Rings หรือ Dungeon & Dragon อย่างชัดเจน) แล้วมารวมกับสังคมเมืองอเมริกัน (โรงเรียน ปั๊มน้ำมัน ฟรีเวย์) ทำออกมาได้ดีจนอยากเห็นเซ็ตติ้งนี้ถูกนำมาใช้ต่อ อีกเยอะๆ Pixar โปรดทำหนังสั้นตามมาหน่อยเถิด

ภาพรวมแล้ว Onward ถือว่าค่อนข้างดี (ชอบกว่า Soul) ถึงแม้จะไม่ถึงขั้น Pixar Classic แบบที่นักวิจารณ์หลายคนเขียนถึงไว้ ซึ่งก็เห็นด้วยในประเด็นนี้

ภาพทั้งหมดจาก Pixar