in Politics

Trump and Prayuth

ในช่วงที่การเมืองกำลังร้อนแรงทั้งสหรัฐอเมริกาและไทย และในคืนก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งสหรัฐ ก็คิดว่าต้องเขียนอะไรสักหน่อย

Trump คงจะแพ้ตามโพล สาเหตุสำคัญคือความผิดพลาดหลายอย่างในการรับมือกับ COVID แต่ที่น่าสนใจคือฐานเสียงของ Trump ในกลุ่มรีพับลิกันเองกลับคะแนนไม่ตกมากนัก

หากการเลือกตั้งปี 2016 เป็นการผสมผสานระหว่างอุดมการณ์ (ideology) + ตัวบุคคล (persona) ซึ่ง Trump มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นกว่า Hilary มากๆ อยู่แล้ว เมื่อขี่กระแสคนเบื่อ identity politics และหลักการแบบเดโมแครต ก็ทำให้ได้รับชัยชนะแบบ surprise

แต่ 4 ปีของ Trump สิ่งที่เกิดขึ้นคือการผลัก ideology ไปเป็นขวาแบบสุดทาง (แถมเป็นขวา Alt Right ด้วย ไม่ใช่ขวาแบบดั้งเดิมที่มีกรอบธรรมเนียมบางอย่างบีบไว้ไม่ให้สุดขั้วจนเกินไป) ทำให้คนกลางๆ สาย moderate เริ่มไม่พอใจ บวกกับคาแรกเตอร์ของ Trump เองก็กลายเป็นภัยในยามวิกฤต

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คาแรกเตอร์ของ Trump เริ่มไม่ได้ผลอีกแล้ว (ปกติแล้วการเลือกตั้งสมัยสอง ความนิยมในตัวบุคคลก็เริ่มไม่สดใหม่อีก แต่เคสของ Trump คือหลุดไปไกลกว่าปกติมาก) แต่ในอีกด้าน คาแรกเตอร์ของ Biden เองก็กลับไม่โดดเด่นนักเช่นกัน (เมื่อเทียบกับคู่แข่งในพรรคคนอื่นๆ เช่น Sanders)

การเลือกตั้งปี 2020 จึงกลายเป็นการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ล้วนๆ นั่นคือ ฐานเสียงของรีพับลิกันเอง ก็มีบางส่วน (เยอะเลยแหละ) ที่ไม่ได้ชอบคาแรกเตอร์ นิสัยใจคอ วิถีปฏิบัติของ Trump สักเท่าไรหรอก แต่ก็ยังเลือกหรือสนับสนุน Trump ต่อไป เพราะเป็นการเลือกเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อหรืออุดมคติของตัวเองต่างหาก

ภาพจาก BBC

ภาพจาก FiveThirtyEight

เคสของ Biden จะมีบางส่วนที่คล้ายกัน แต่จะซับซ้อนกว่าเพราะมีส่วนที่เลือกเพราะต้องการต้าน Trump ด้วย

ในแวดวงการเมืองสหรัฐมีประเด็นที่พูดกันมาสักพักใหญ่ๆ แล้วว่า partisan politics หรือ polarization มันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความเชื่อ ความคิด คุณค่าที่ยึดถือของสองขั้วการเมือง มันถ่างออกจากกันมาก (ในทุกๆ เรื่องไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกผู้นำ) จนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันได้ยากแล้ว

กลับมาที่เมืองไทย ในกระแส “ประยุทธ์ออกไป” ก็คล้ายกัน ผมคิดว่า ณ เดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ม็อบคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงพลังสะเทือนประเทศ เราน่าจะพูดได้ค่อนข้างเต็มปากแล้วว่า คนที่ชื่นชอบ “ตัวประยุทธ์” หรือ “ระบอบประยุทธ์” โดยลำพัง มีน้อยมากแล้ว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมหลายๆ คน แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ยอมให้ม็อบออกมาประท้วงประยุทธ์ ประท้วงรัฐบาลได้ ขอแค่อย่าไปยุ่งกับสถาบันก็พอ

การเมืองไทยปี 2020 เป็นเรื่อง 2 เลเยอร์คือ ประท้วงรัฐบาล และประเด็นเรื่องที่ทางของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ในขณะที่เลเยอร์ของสถาบันฯ มีความเห็นที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว แต่เลเยอร์ของรัฐบาล ความเห็นเทมาค่อนข้างชัดเจนว่าไม่เอา “ตัวประยุทธ์” แล้ว

แต่ทำไม “ระบอบประยุทธ์” ยังอยู่ได้ (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) คิดว่าสาเหตุเหมือนกันกับกรณี Trump คือ ประยุทธ์เป็นตัวแทนของระบอบคุณค่า/ความเชื่อบางอย่าง ที่ถึงแม้ตัวของประยุทธ์ไม่เป็นที่นิยม ไม่ป๊อปปูลาร์ แต่คนจำนวนหนึ่ง (ซึ่งก็ไม่น้อยเช่นกัน) ยังต้องเลือกประยุทธ์ต่อไป ด้วยเหตุผลว่าต้องการระบอบประยุทธ์ค้ำยันอุดมการณ์นี้ไว้

ต้องหมายเหตุไว้อีกว่า แต่ถ้า “ระบอบประยุทธ์” สามารถหาตัวแทนของประยุทธ์ที่ดีกว่าหรือเท่าเทียมกัน (แต่ไม่มีบาดแผลเหวอะหวะแบบประยุทธ์) ระบอบประยุทธ์ก็จะเขี่ยตัวประยุทธ์ออกได้โดยง่าย เหตุเพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานประยุทธ์อีกแล้วนั่นเอง

เพียงแต่ในระยะสั้นเรายังไม่มีตัวแทนของประยุทธ์ ทำให้ตัวของประยุทธ์ก็ยังจำเป็นอยู่ ดังที่เขียนไปแล้วข้างต้น กลุ่ม core group ฐานเสียงเดิมของประยุทธ์จึงยังเหนียวแน่นอยู่ เพราะระบอบคุณค่าที่ยังเหนียวแน่นอยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประยุทธ์แตกต่างกับ Trump คือการเมืองไทยดันเป็น 2-layer politics ทำให้ประเด็นการถกเถียงนั้นข้ามจาก “ตัวแทน” ไปยังเลเยอร์ที่ใหญ่กว่าแล้ว ดังที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ สรุปไว้ดีว่า “เปรียบม็อบไม่ได้ทะเลาะกับหมา แต่ทะเลาะกับเจ้าของหมา” นั่นเอง

ส่วนเรื่อง partisan politics / polarization ในประเทศไทยนั้นก็ชัดเจนว่า แตกแยกมานานแล้ว และจะยิ่งแตกแยกหนักกว่าเดิมอีกเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ