in Technology

Traitorous Eight

ภาพถ่ายกลุ่มแปดกบฎ ผู้ก่อตั้ง Fairchild Semiconductor ในปี 1957 – Gordon Moore คือคนซ้ายสุด, ผู้นำกลุ่ม Robert Noyce คือคนที่ 4 จากซ้าย – PBS

การเสียชีวิตของ Gordon Moore เจ้าของ “กฎของมัวร์” ด้วยวัย 94 ปี (ถือว่าอายุยืนมาก) นับเป็นการปิดตำนาน “แปดกบฎ” (Traitorous Eight) แห่งโลกเซมิคอนดักเตอร์และฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์

ประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของ Silicon Valley อุตสาหกรรมไฮเทคในแถบชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เริ่มจากช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (Hewlett-Packard ก่อตั้งในปี 1939) จากนั้นพื้นที่แถบนี้ได้รับอานิสงค์จากอุตสาหกรรมทหาร งานวิจัยของภาครัฐ ช่วยให้เติบโต

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จุดกำเนิดของคำว่า “Silicon” ก็กำเนิดขึ้นจากพื้นที่แถบนี้ โดยเป็นตำนานสามบริษัทคือ Shockley → Fairchild → Intel

Shockley Semiconductor

William Shockley นักวิจัยของ Bell Labs (ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอเมริกา) หลังจากหมดงานวิจัยทางทหารช่วงสงครามโลก เขาเป็นผู้บุกเบิกเรื่องทรานซิสเตอร์ในช่วงราวปี 1950 ก่อนลาออกจาก Bell Labs ในปี 1953 มาก่อตั้งบริษัทของตัวเอง Shockley Semiconductor ในปี 1956 ที่เมือง Mountain View ในแคลิฟอร์เนีย

เหตุผลที่ข้ามฝั่งประเทศก็ง่ายๆ เลย เพราะ Shockley เป็นคนแถวนี้ อยากกลับมาดูแม่ที่ Palo Alto ดังนั้นเหตุผลหลักข้อหนึ่งที่ทำให้เกิด Silicon Valley เป็นเพราะ Shockley รักแม่นี่ล่ะ

Shockley ดึงนักวิจัยรุ่นหนุ่มจำนวนมากเข้ามาทำงานด้วย ในจำนวนนั้นมี Robert Noyce และ Gordon Moore ที่จะกลายมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Intel ในภายหลัง

แต่ด้วยสไตล์การทำงานของ Shockley ที่ดุดันไม่เกรงใจใคร บวกกับทิศทางการวิจัยที่เห็นไม่ตรงกัน ทำให้นักวิจัย “ตัวท็อป” เหล่านี้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทในปี 1957

นักวิจัยกลุ่มนี้มีทั้งหมด 8 คน จึงถูกเรียกว่าเป็น “แปดกบฎ” (traitorous eight)

Shockley ย่อมโกรธที่มีกบฎในบริษัท เขาพยายามหาทีมมาทำงานวิจัยต่อ ซึ่งก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก หลังจากนั้นในปี 1961 เขาประสบอุบัติเหตุรถชนหนัก ทำให้ต้องยุติกิจการบริษัทไป

ภาพ Shockley (นั่งหัวโต๊ะ) ฉลองรับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1956 ก่อน “วงแตก” ในเวลาถัดมา ในรูปมีกลุ่มแปดกบฎหลายคน เช่น Noyce (เสื้อดำยืนกลาง) ส่วน Moore น่าจะเป็นคนเสื้อขาวที่ยืนอยู่ติดกัน – Computer History Museum

Fairchild Semiconductor

กลุ่มแปดกบฎลาออกแล้วไปหานายทุนใหม่เพื่อทำวิจัยต่อ และได้ Sherman Fairchild ผู้ก่อตั้งบริษัท Fairchild Aircraft และ Fairchild Camera มาเป็นสปอนเซอร์ให้ ในปี 1957 จึงเกิดบริษัท Fairchild Semiconductor ขึ้นมา

แปดกบฎแยกทีมวิจัยออกเป็น 3 ทีม พัฒนาเทคนิคด้านซิลิคอนแข่งกัน งานวิจัยของ Gordon Moore ออกมาได้ผลดีที่สุด ทำให้เกิดความขัดแย้งกับทีมอื่น หลังจากนั้นในปี 1961 กบฎ 4 คนแยกออกไปทำบริษัทชื่อ Amelco ส่วนอีก 4 คน (รวมถึง Moore และ Noyce) ยังอยู่กับ Fairchild

“กฎของมัวร์” หรือ Moore’s Law ที่มีชื่อเสียง ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ โดยมาจากการให้สัมภาษณ์สื่อของ Moore ในปี 1965 ทำนายอนาคตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่จำนวนทรานซิสเตอร์เพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 2 ปี

ตัวบริษัท Fairchild Semiconductor อยู่ต่อมาได้อีกสักพักใหญ่ๆ ก่อนเสื่อมถอยลงและถูกซื้อกิจการโดย Schlumberger ในปี 1979, ขายต่อให้ National Semiconductor ในปี 1987, เจ้าของรายปัจจุบันคือ On Semiconductor ที่แยกตัวมาจาก Motorola ซื้อกิจการมาในปี 2016

Intel

ถึงแม้ธุรกิจของ Fairchild Semiconductor ไปได้สวยในช่วงปี 1960-1965 แต่ก็เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในตามมาอีก ทำให้ Moore และ Noyce ตัดสินใจลาออกในปี 1968 เพื่อมาเปิดบริษัทใหม่ NM Electronics ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น Intel ในปีเดียวกัน

Noyce เป็นซีอีโอคนแรกของ Intel ก่อนลาออกในปี 1987 เพื่อไปทำงานวิจัยที่ไม่หวังผลกำไร เขาเสียชีวิตในปี 1990 คนแรกในกลุ่มแปดกบฎ

Moore เป็นซีอีโอคนที่สอง ทำงานกับอินเทลจนถึงปี 1997 และส่งมอบไม้ต่อให้ Andrew Grove ซึ่งเป็นพนักงานคนแรกของ Intel (รู้จักกันตั้งแต่ตอนทำ Fairchild) เขาอายุยืนถึง 94 ปี เสียชีวิตในปี 2023 เป็นคนสุดท้ายในกลุ่มแปดกบฎ

คนอื่นๆ ในกลุ่มแปดกบฎที่มีชื่อเสียงหน่อยคือ Eugene Kleiner ที่ภายหลังไปก่อตั้งบริษัทลงทุน Kleiner Perkins Caufield & Byers (KPCB) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำนาน VC ของ Silicon Valley