in Politics, Thoughts

Toxic Fandom

ได้อ่านบทความของ Alan Moore ผู้เขียนเนื้อเรื่องของคอมิก Watchmen และ V for Vendetta ออกมาเขียนเรื่อง Fandom ใน The Guardian เลยมาจดบันทึกไว้

ปัญหาความคลั่งไคล้และความเป็นพิษเป็นภัยของ fandom / fanatic / fanboys (แล้วแต่จะเรียก) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นมานานแล้ว วิจารณ์กันมานานแล้ว เพียงแต่นานๆ ทีเราถึงจะเห็นมุมมองของผู้สร้างสรรค์มาเล่าให้ฟังว่ารู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะคนเขียนระดับตำนานอย่าง Alan Moore

ความน่าสนใจไปอีกขั้นคือ Moore บอกว่าเขาเองก็เคยเป็น fandom มาก่อนเช่นกัน โดยสมัยยังเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 14 เขาก็ไปร่วมงาน comic convention ในลอนดอนปี 1969 ที่กลุ่มแฟนๆ คอมิกในยุคนั้นมารวมกันเพื่อพูดคุยในเรื่องที่ชอบ แนวทางของ fandom ในยุคนั้นยังใสๆ เน้นทำหนังสือทำมือ (fanzine) ที่คุณภาพก็ไม่ได้ดีเท่าไรนัก

หลังจากนั้น เมื่อ Moore โตขึ้น เขาก็ว่างเว้นจากวงการคอมิกไปหลายปี ก่อนกลับเข้ามาใหม่ในฐานะผู้สร้าง แล้วพบว่าบรรยากาศใสๆ มีแต่มือสมัครเล่นเริ่มหายไป วงการ fandom เริ่มมีความพาณิชย์มากขึ้น มีความสนใจตัวผู้สร้าง (creator) มากกว่าจะเป็นตัวชิ้นงาน บรรยากาศเหล่านี้ทำให้เขาถอนตัวจากวงการโซเชียลของคอมิก หันไปสร้างงานอย่างเดียว

Moore ชี้ว่าวงการคอมิกพัฒนาขึ้นจากสื่อบันเทิงราคาถูก จับตลาดชนชั้นแรงงาน กลายเป็นสื่อที่จับกลุ่มราคาแพง พร้อมเปย์พร้อมจ่าย ด้านกลุ่ม fandom เองก็เริ่มอายุมากขึ้น รวยขึ้น การเปลี่ยนแปลงทั้งอายุและสถานะทำให้ fandom กลายเป็น “สิทธิพิเศษ” (privilege) ในการควบคุม วิพากษ์วิจารณ์ แทนการร่วมสร้างสรรค์แบบยุคแรกๆ

This boost in fandom’s age and status possibly explains its current sense of privilege, its tendency to carp and cavil rather than contribute or create.

Moore บอกว่าเขารู้เฉพาะ fandom ของวงการคอมิกเท่านั้น แต่พฤติกรรมแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นกับวงการ fandom อื่นๆ ด้วย และวัฒนธรรม fandom เริ่มขยายขอบเขตไปในทางขวางโลกหรือประสงค์ร้ายต่อผู้สร้าง

Unnervingly rapidly, our culture has become a fan-based landscape that the rest of us are merely living in. Our entertainments may be cancelled prematurely through an adverse fan reaction, and we may endure largely misogynist crusades

fan attitudes have toxified the world surrounding us, most obviously in our politics.

Moore เขียนบทความนี้เพื่อโยงกับการเมือง เขาบอกว่าการเมืองโลกตะวันตกยุคปัจจุบัน ฐานเสียงของคนอย่าง Donald Trump หรือ Boris Johnson มองคนเหล่านี้ที่ตัวบุคคล ไม่ได้มองที่นโยบาย คนเริ่มเอาวัฒนธรรม fandom ไปใช้กับการเมือง และบรรยากาศแบบนี้เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

Moore สรุปจบโดยบอกว่า การชื่นชอบในสิ่งใดๆ เป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องระวังไม่ให้เอาความไม่พอใจของตัวเองไปสร้างมลพิษทางสังคมกับคนอื่น

An enthusiasm that is fertile and productive can enrich life and society, just as displacing personal frustrations into venomous tirades about your boyhood hobby can devalue them. Quite liking something is OK. You don’t need the machete or the megaphone.

หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ Moore พูดมาเกิดขึ้นกับทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นสื่อบันเทิงแขนงต่างๆ หนัง เกม เพลง K-Pop กีฬา การเมือง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ต ทำให้ fandom สื่อสารกันได้กว้างขวางและเร็วขึ้น การเผยแพร่ความคิด (ที่ sensational ซึ่งมักเป็นความคิดในเชิงลบ) จึงขยายตัวได้กว้างและเร็วมาก

ตัวอย่างบรรยากาศ toxic fandom ที่ชัดเจนคือ วงการวิดีโอเกมปี 2024 ที่เป็นสงครามครูเสดระหว่างกลุ่ม woke และ antiwoke โดยมีเกมอย่าง Concord เป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง แล้วลามไปยังเกม Stellar Blade, Wukong (ฝ่าย antiwoke) และ Star Wars Outlaws, Dragon Age: The Veilguard กับ Assassin’s Creed Shadow (ฝ่าย woke) จนตอนนี้แทบไม่มีใครสนใจเรื่องคุณภาพหรือเกมเพลย์ของเกมกันสักเท่าไรแล้ว ซัดกันที่เรื่อง ideology เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ตรงไหนเหมือนกัน