หนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์ Bookscape ที่เพิ่งวางจำหน่ายได้ไม่นาน เล่มใหญ่ สีทั้งเล่ม ภาพประกอบทุกหน้า เหมาะกับเป็นของสะสม และเป็นหนังสือภาพให้เด็กๆ (ที่โตสักหน่อย สักราวประถมปลายหรือมัธยมต้น) ได้อ่านเพื่อเปิดจินตนาการ
ต้องอธิบายก่อนนิดนึงว่า ผู้เขียน Peter Frankopan เป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่ Oxford เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียกลาง (เป็นผู้อำนวยการศูนย์ Byzantine Research) และเพิ่งเริ่มดังในฐานะนักเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คได้ไม่นาน
ตอนนี้เขามีงานเขียนรวม 4 เล่ม
- The First Crusade: The Call from the East เรื่องสงครามครูเสด ออกปี 2012
- The Silk Roads: A New History of the World เส้นทางสายไหมและประวัติศาสตร์ยูเรเชีย ออกปี 2016
- The New Silk Roads: The Present and Future of the World เป็นเรื่องเส้นทางสายไหมและยูเรเชียยุคปัจจุบัน ออกปี 2019
- Leviathan: Russia and The Making of the Modern World หนังสือเล่มใหม่เรื่องประวัติศาสตร์รัสเซีย ออกปี 2022
หนังสือเล่มที่สร้างชื่อให้เขาคือ The Silk Roads ฉบับปี 2016 โดยได้รับเสียงชื่นชมเรื่องมุมมองทางประวัติศาสตร์ และการค้นคว้าหลักฐานใหม่ๆ ที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ตะวันตกอาจไม่คุ้นเคยมากนัก
ส่วนเล่มที่พิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Bookscape มีด้วยกัน 2 เล่มคือ
- เส้นทางสายไหมใหม่ (The New Silk Roads) พิมพ์ก่อนเล่ม The Silk Roads
- เส้นทางสายไหม (The Silk Roads) พิมพ์ทีหลัง แต่ต้องหมายเหตุไว้หน่อยว่า เวอร์ชันที่นำมาพิมพ์ไม่ใช่ The Silk Roads ฉบับเต็ม แต่เป็น Illustrated Edition ที่ปรับลดเนื้อหาลงไปจากเดิมมาก และเพิ่มภาพประกอบเข้าไป เรียกง่ายๆ ว่ามันเป็นหนังสือสำหรับเด็กนั่นเอง
เรื่อง The Silk Roads: Illustrated Edition มีคนเข้าใจผิดกันเยอะ แม้แต่ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษเองก็ตาม (ในรีวิวบน Amazon มีคนเข้ามาด่าเพียบเลย) เพราะมันไม่ใช่เป็นเวอร์ชันเพิ่มรูปประกอบอย่างเดียว แต่จริงๆ คือเป็นเวอร์ชันปรับลดเนื้อหาด้วย
อันนี้เช็คกับทีมบรรณาธิการของ Bookscape แล้ว ได้ความว่า The Silk Roads เล่มเต็มค่อนข้างหนาและเป็นวิชาการ จึงลองนำฉบับ Illustrated มาแปลก่อน เพราะจับตลาดกว้างกว่า และเป็นการลองจับกลุ่มตลาดหนังสือภาพด้วย ส่วนเล่มเต็มจะมีโอกาสแปลด้วยหรือไม่ ก็ต้องรอดูเสียงตอบรับจากตลาดในเล่มอื่นๆ ก่อน
โดยส่วนตัวแล้วต้องบอกว่า เอาเล่ม Illustrated มาแปลนี่ล่ะครับดีแล้ว 555 เพราะขี้เกียจอ่านเล่มเต็ม แต่จริงๆ ก็เห็นด้วยว่าจับกลุ่มตลาดต่างกันมาก เพราะเล่ม Illustrated มีจุดขายเรื่องภาพเป็นหลัก ก็เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มหลักคือ
- เด็กและเยาวชน ที่ใช้ภาพช่วยเล่าเรื่อง
- ผู้ใหญ่ที่อยากได้หนังสือภาพสวยๆ ไว้เก็บสะสม
ในฐานะที่ซื้อมาและอ่านจบในเวลาอันรวดเร็ว (เพราะข้อความในเล่มไม่เยอะ) ก็ต้องบอกว่าถ้าเข้าใจเจตนาของหนังสือว่าเป็นเล่ม Illustrated ก็จะประทับใจมาก เนื่องจากทำมาสวยจริงๆ ตั้งแต่งานวาดภาพประกอบตั้งแต่ต้นทาง (ศิลปินคือ Neil Packer ไปค้นมาแล้วเขาวาดภาพให้หนังสือ Iliad และ Odyssey ด้วย) มีสไตล์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว
ส่วนเล่มฉบับพิมพ์ในไทยก็มีคุณภาพสวยงามปราณีต ทั้งการพิมพ์ สีสัน คุณภาพกระดาษ การเข้าเล่ม ฯลฯ สมราคาค่าตัวที่แพงกว่าหนังสือฉบับพิมพ์ 2 สีอยู่พอสมควร เหมาะกับการเก็บเป็นหนังสือสะสมมาก
หมายเหตุ: ภาพหนังสือเคยถ่ายเองเก็บไว้แต่ขี้เกียจหา ขอเอาภาพจาก Bookscape มาใช้งานละกัน