in Technology, Thoughts

The Recorded World

ช่วงนี้มีเหตุการณ์ดราม่าระดับประเทศ 2 เหตุการณ์ไล่เลี่ยกัน

เหตุการณ์แรกคือ หนุ่มแว่นหัวร้อน ที่ไปโวยวายกับคู่กรณีรถกระบะ 6 ล้อ และโดนคู่กรณีถ่ายคลิปไว้ แล้วกลายมาเป็นคลิปดังบนโซเชียล

เหตุการณ์ที่สองอาจดังน้อยกว่าสักนิด แต่รุนแรงกว่ามาก นั่นคือ รถกระบะซิ่งแหกโค้งที่ ม.เกษตร ทำนิสิตบาดเจ็บหลายคน

เรื่องประเด็นข่าวคงไม่ต้องเล่าซ้ำ เพราะรู้กันหมดแล้ว แต่ที่อยากเขียนถึงเพราะ เหตุการณ์ทั้งสองมีจุดร่วมกันตรงที่ มันไม่สามารถเป็นข่าวได้เลย ในโลกยุคที่ไม่มี “กล้องเต็มไปหมด” เหมือนอย่างยุคสมัยนี้

เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นได้เพราะคู่กรณียกมือถือขึ้นมาถ่ายระหว่างเจรจา (smartphone camera)

เหตุการณ์ที่สอง เป็นภาพจากกล้องหน้ารถที่บังเอิญขับสวนกันพอดี (dash camera)

เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมันเริ่มเกิดตั้งแต่ยุค “โฮมวิดีโอ” แล้ว (ถ้าใครโตทัน) พร้อมกับอารยธรรมกล้องวิดีโอแฮนดี้แคมโน่นเลย (Sony Handycam ออกขายครั้งแรกปี 1985) แต่ระดับของความแพร่หลาย (ubiquity) นั้นมันต่างกันมากหลายแมกนิจูด

พลังของกล้องจะกลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตต่อไป (จนถึงระดับกล้องมีทุกเสาไฟฟ้า) คนจะถูกมอนิเตอร์กันจริงจังแบบเดียวกับหนังเรื่อง Enemy of the State และเราจะเห็นการ “บิดเบือน” ภาพจากกล้องเพื่อเปลี่ยนความจริงบางอย่าง (จริงๆ ก็เกิดขึ้นแล้วบ่อยครั้ง จากสภาพการณ์ “กล้องวงจรปิดเสีย” ที่รัฐไทยชอบอ้าง) ดังนั้นพลังของกล้องจากภาคเอกชน พลังของการทำ crowdsourcing camera จะเข้ามาช่วยชดเชยความจริงที่หายไปเหล่านี้ได้

ภาพประกอบจาก Pexels