The Post หนังปี 2017 ของ Steven Spielberg ที่ไม่มีแอคชั่นใดๆ คุยการเมืองกันทั้งเรื่อง แต่คอการเมืองแบบเราก็สนุกมาก
The Post หมายถึงหนังสือพิมพ์ The Washington Post ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ (อีกรายคือ The New York Times)
ก่อนเข้าใจเรื่องในหนัง “The Post” คงต้องปูพื้นบริบทในเรื่องสักหน่อย
The Pentagon Papers
เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 1971 ในช่วงปลายสงครามเวียดนาม ที่สหรัฐอเมริกาติดหล่มมายาวนาน และอยู่ภายใต้รัฐบาลของริชาร์ด นิกสัน (รีพับลิกัน) ที่รับช่วงต่อสงครามเวียดนาม มาจากรัฐบาลเคเนดี้-จอห์นสัน (เดโมแครต) ที่ครองอำนาจมายาวนาน 8 ปี (1960-1968)
สงครามเวียดนามกลายเป็นเผือกร้อนที่ไม่มีรัฐบาลไหนอยาก “ยอมรับความพ่ายแพ้” แต่ในช่วงรัฐบาลจอห์นสัน รัฐมนตรีกลาโหม Robert McNamara ได้สั่งการลับให้กระทรวงกลาโหมจัดทำรายงานศึกษาบทเรียนจากสงครามเวียดนาม (ที่ตัวเขาเองก็รู้ว่าแพ้แน่ๆ แต่ไม่สามารถยอมรับได้) อย่างละเอียด เพื่อเก็บไว้ให้นักประวัติศาสตร์ในอนาคตได้ศึกษา
หนึ่งในผู้จัดทำรายงานฉบับนี้คือ Daniel Ellsberg นักวิเคราะห์ของ RAND สถาบันคลังสมองด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ที่มีบทบาทในการทำรายงานฉบับนี้ด้วย รายงานฉบับนี้ทำเสร็จในช่วงปี 1968 และนำเสนอต่อ McNamara ในฐานะผู้สั่งการ แต่ตอนนั้น McNamara ลงจากตำแหน่งพอดี เลยไม่มีการสานต่อ เมื่อรัฐบาลสหรัฐเปลี่ยนขั้วมาเป็นฝ่ายของนิกสันในการเลือกตั้งปี 1968 รายงานฉบับนี้ก็ถูกเก็บใส่ลิ้นชักไว้ในกระทรวงกลาโหม รวมถึงมีสำเนาเก็บไว้ในตู้เอกสารของ RAND
ในช่วงเวลานั้น Ellsberg เปลี่ยนท่าทีมาต่อต้านสงครามเวียดนาม และในปี 1969 เขาตัดสินใจลักลอบเอาสำเนาของรายงานฉบับนี้ออกมาจาก RAND ซึ่งเอกสารชิ้นนี้ถูกเรียกในภายหลังว่า “Pentagon Papers” และเป็นศูนย์กลางสำคัญของหนังเรื่อง The Post
เอกสาร Pentagon Papers ถูกส่งไปถึงมือ Neil Sheehan นักข่าวของ The New York Times เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ ในขณะที่ The Washington Post คู่แข่งเบอร์รองกว่าของ The Times ก็เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้
The Washington Post
The Washington Post เป็นหนังสือพิมพ์ของเมือง Washington D.C. ตามชื่อ ก่อตั้งในปี 1877 เริ่มต้นจากการเป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ ประจำเมือง มีชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ทางธุรกิจมาตลอด จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดในปี 1933 หลังมหาเศรษฐี Eugene Meyer อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐระหว่างปี 1930-1933 เข้ามาซื้อประมูลกิจการ The Post ที่ล้มละลาย
Meyer เข้ามาปรับปรุง The Post จนกลับมารุ่งเรือง เมื่อถึงปี 1946 เขาต้องไปรับตำแหน่งประธานคนแรกของธนาคารโลก (World Bank) เขาจึงส่งมอบธุรกิจหนังสือพิมพ์ให้กับลูกเขย Phil Graham นักกฎหมายที่มาแต่งงานกับ Katharine Meyer ลูกสาวของเขา โดยแบ่งหุ้นให้ Phil 70% และ Katharine 30%
Phil Graham เป็นนักกฎหมายที่มีความสามารถสูง เขาขยายกิจการของ The Post ไปอีกมาก ทั้งทำสถานีวิทยุ (ภายหลังพัฒนาเป็นสถานีทีวี) และซื้อหนังสือพิมพ์คู่แข่ง (หนึ่งในนั้นคือนิตยสาร Newsweek) แต่เขากลับมีปัญหาทางจิต มีอาการไบโพลาร์ ต้องรับการรักษาอยู่หลายครั้ง และฆ่าตัวตายด้วยปืนช็อตกันในปี 1963
Katharine ที่เป็นสาวไฮโซมาทั้งชีวิต เอาแต่รับบทเป็นภรรยาและแม่ ใช้ชีวิตเป็นสาวสังคม จัดงานปาร์ตี้พบปะไฮโซและนักการเมืองอเมริกัน ต้องกลายมาเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ The Washington Post ที่รับช่วงมาจากพ่อและสามีแต่เพียงผู้เดียว
ในปี 1971 The Washington Post ต้องการขยายธุรกิจให้มั่นคง ก้าวขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติ จึงเลือกระดมทุนในตลาดหุ้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เอกสาร The Pentagon Papers หลุดออกมาสู่สาธารณะ
The Post จึงเป็นหนังของ Katharine Graham ที่ต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ ทั้งการขายหุ้น IPO และการเสนอข่าว The Pentagon Papers ทั้งที่ตัวเธอเองก็ไม่ได้อยากมาอยู่ในตำแหน่งนี้
“The Post”
หนังเรื่อง The Post เล่าผ่านตัวละครหลัก 2 คน คือ
- Katharine Graham (เล่นโดย Meryl Streep) ในฐานะเจ้าของหนังสือพิมพ์ มีชื่อเป็น “ผู้พิมพ์โฆษณา” (Publisher)
- Ben Bradlee (เล่นโดย Tom Hanks) บรรณาธิการบริหารของ The Post ที่พิทักษ์เสรีภาพของสื่ออย่างเต็มที่
หลังเอกสาร The Pentagon Papers หลุดไปยัง The Times แล้วตีพิมพ์เรื่องนี้เป็นรายแรก สร้างผลสะเทือนต่อรัฐบาลนิกสันอย่างมาก ทำให้นิกสันสั่งการรัฐบาลให้ฟ้องศาล ขอคำสั่งคุ้มครองไม่ให้ The Times เล่นข่าวนี้ต่อ โดยอ้างความมั่นคง ซึ่ง Times จำเป็นต้องหยุดตามคำสั่งคุ้มครอง จนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน
ฝั่งของ The Post อยากเล่นข่าวสู้กับ The Times บ้าง Bradlee จึงทำทุกทางเพื่อหาเอกสาร Pentagon Papers ฉบับเต็มมาให้จงได้ ซึ่งผู้ช่วยของเขาคือ Ben Bagdikian เป็นเพื่อนเก่าที่ RAND กับ Ellsberg เขาจึงติดต่อไปและได้เอกสารมาในที่สุด
ในช่วงเวลาเดียวกัน Katharine เพิ่งระดมทุนขายหุ้น IPO ของ The Post ไปหมาดๆ โดยในข้อตกลงขายหุ้นให้นักลงทุน มีเงื่อนไขว่าภายใน 7 วันหลัง IPO หากมีเหตุการณ์ผิดปกติร้ายแรง นักลงทุนมีสิทธิถอนหุ้นได้ ซึ่ง Pentagon Papers ดันเข้ามาในจังหวะนี้พอดี ฝั่งของ The Post ซึ่งไม่โดนคำสั่งห้ามแบบเดียวกับ The Times ถือเป็นโอกาสทองในการเรียกผู้อ่านมาสนใจ
หนังจึงพาเราไปสู่จุดที่เธอในฐานะผู้บริหารสูงสุด ต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับ Pentagon Papers ดี ระหว่างการตีพิมพ์ ซึ่งจะส่งผลสะท้านทางการเมือง ส่งผลต่อนโยบายสงครามเวียดนาม ลดการสูญเสียลูกหลานคนอเมริกันไปในสงคราม กับการไม่ตีพิมพ์ ลดความเสี่ยงจากนักลงทุนถอนหุ้น โดนนักการเมืองวายร้ายอย่างนิกสันเล่นงาน สามารถเอาเธอเข้าคุกตามกฎหมายความมั่นคงได้
สุดท้าย Katharine ตัดสินใจเดินหน้าตีพิมพ์ เพราะเธอเติบโตมากับหนังสือพิมพ์ The Post ทั้งชีวิต และซึมซับจิตวิญญาณของการเป็นสื่อเพื่อสาธารณะมาตลอด แม้ไม่เคยทำงานกับ The Post โดยตรงมาก่อนสามีเสียชีวิตก็ตาม
การตัดสินใจของ Katharine ประสบความสำเร็จ เพราะศาลสูงตัดสินให้สื่อ (ทั้ง Times และ Post) สามารถตีพิมพ์ Pentagon Papers ต่อได้ ภายใต้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการจุดประเด็นให้หนังสือพิมพ์อื่นๆ ร่วมกันเผยแพร่เอกสารชุดนี้อย่างต่อเนื่องด้วย ส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลนิกสันในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม Pentagon Papers ในปี 1971 เป็นเพียงปฐมบทของดราม่าในรัฐบาลนิกสัน เพราะในปีถัดมา 1972 รัฐบาลนิกสันก็ก่อคดี Watergate อันลือลั่น และส่งผลให้นิกสันต้องลาออกในปี 1974 เพื่อเลี่ยงการถูกอิมพีชเมนต์
ฉากสุดท้ายของ The Post จบด้วยการบุกรุกตึก Watergate ที่เป็นจุดเริ่มต้นของคดี Watergate ซึ่งสามารถหาดูได้จากหนังหลายๆ เรื่องที่เล่าถึงเรื่องคดีนี้ (เช่น All The President’s Men) โดยตัวละครหลายคนจาก The Post ก็มีบทบาทต่อ (เช่น Ben Bradlee และ Eugene Bachinski) เพราะ Washington Post ถือเป็นหนังสือพิมพ์แกนกลางที่ทำข่าวคดีนี้
วิจารณ์
หนังเล่าเรื่องได้สนุกน่าติดตาม ทั้งที่ไม่มีฉากแอคชั่นอะไรเลย (ต้องยอมรับฝีมือผู้กำกับระดับ Spielberg) ตัวละครสำคัญ Katharine นั้น Meryl Streep ถ่ายทอดภาพลักษณ์ของ “คุณป้า” ที่ดูไม่มั่นใจในตัวเอง อยู่ผิดที่ผิดทางตลอดเวลา ออกมาได้ดีมาก (ขัดกับภาพนางร้ายใน The Devil Wears Prada แบบสุดๆ) อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าหนังใช้เวลาน้อยไปหน่อยในการเล่ามุมมองของ Katharine ว่าทำไมเธอถึงตัดสินใจ “แทงสวน” ทีมฝ่ายธุรกิจ-กฎหมายของบริษัททุกคน และให้ความมั่นใจกับ Bradlee และทีมบรรณาธิการขนาดนั้น ถ้าเพิ่มรายละเอียดตรงนี้อีกหน่อย น่าจะสมบูรณ์ขึ้นอีกมาก
ในขณะที่ตัวละครของ Bradlee กลับเรียบๆ ไม่มีอะไรมากนัก เป็น “ป๋า” ขาลุย ผู้สวมจิตวิญญาณนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว ต่อสู้เพื่อทหารอเมริกัน ต่อสู้กับรัฐบาลนิกสัน โดยที่ไม่มีมิติขัดแย้งอะไรมากนัก (ยกเว้นตอนท้ายที่เขาเข้าใจ Katharine มากขึ้นว่าแบกสิ่งต่างๆ ไว้มาก แต่นั่นก็นิดเดียว)
หนังไม่เล่าบริบททางการเมืองของสหรัฐอเมริกาตอนนั้นเพื่อปูพื้นสักเท่าไร เพราะถือว่ากลุ่มคนดูมีความรู้อยู่บ้างแล้ว ตอนดูหนังเรื่องนี้ผมต้องหยุดไปอ่าน Wikipedia ประกอบอยู่หลายรอบ ว่าคนนี้คือใครในเรื่อง (หากดูในโรงหนังคงทำแบบนี้ไม่ได้แน่นอน ข้อดีของการดูสตรีมมิ่ง!)
อีกอันที่รู้สึกเท่มากคือ หนังถ่ายให้เห็นกระบวนการทำหนังสือพิมพ์ในยุค 70s อย่างละเอียด ตั้งแต่กองบรรณาธิการพิมพ์ต้นฉบับในพิมพ์ดีด บรรณาธิการแก้ไข ช่างเรียงพิมพ์ เดินเครื่องแท่นพิมพ์ พับและแพ็ก รถส่งหนังสือพิมพ์ออกเดินทางไปแจกจ่ายหนังสือพิมพ์ตามที่ต่างๆ ฯลฯ คงไม่มีให้เห็นอีกแล้วในสมัยนี้ (มีแม้กระทั่งหลอดสุญญากาศสำหรับส่งเอกสารในอาคาร) มีคนตัดคลิปมาให้ดูบน YouTube ด้วย
เกร็ดอื่นๆ ในหนัง
- Robert McNamara (เล่นโดย Bruce Greenwood) อดีตรัฐมนตรีกลาโหมคนก่อนและเพื่อนสนิทของ Katharine ผู้ริเริ่มให้ทำ Pentagon Papers
- McNamara ถือเป็นยอดคนอีกคนหนึ่ง เขาจบการศึกษาที่ดี (Berkley และ Harvard) เป็นทหารฝ่ายวิเคราะห์สถิติในช่วงสงครามโลก จากนั้นมาทำงานกับ Ford Motor และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Ford Lincoln จนได้เป็นประธาน Ford แต่ก็อยู่ไม่นานเพราะต้องมารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลเคเนดี้ ต่อเนื่องมาถึงจอห์นสัน ผ่านวิกฤตนิวเคลียร์คิวบา เมื่อลงจากตำแหน่งแล้วก็ไปเป็นประธานธนาคารโลกต่อในปี 1968-1981
- ในหนังเราจะเห็นว่า Katharine ใกล้ชิดกับ McNamara มาก มีข่าวว่าหลังภรรยาของเขาตาย ทั้งคู่ก็เดทกันจนกระทั่ง Katharine เสียชีวิตในปี 2001
- ฉากของ Bradlee กับภรรยา Antoinette “Tony” Pinchot Bradlee มีการโชว์ภาพถ่ายร่วมกับประธานาธิบดีเคเนดี้ และภรรยาคือ Jackie ด้วย ภาพนี้เป็นภาพจริง เพราะทั้งสองครอบครัวสนิทกันมาก โดย Tony เป็นเพื่อนสนิทของ Jackie และอยู่เคียงข้างเธอตอนที่ JFK โดนลอบสังหาร
- ทั้ง Ben Bradlee และ Tony ต่างเคยแต่งงานมาก่อนรอบหนึ่ง การแต่งงานครั้งนี้เป็นครั้งที่สองของทั้งคู่ และหย่ากันในปี 1977 (Ben แต่งงานใหม่อีกครั้งเป็นครั้งที่สาม)
- Ben และ Tony มีลูกด้วยกันสองคน โดยลูกสาว Marina คือคนขายน้ำมะนาวในเรื่อง
- Katharine มีลูกทั้งหมด 4 คน ปรากฏในหนัง 2 คน คือ ลูกสาวคนโต Lally (ฉากในห้องนอนที่แม่ลูกคุยกันเรื่องความหลัง) ซึ่งก็ประกอบอาชีพนักข่าวด้วยเหมือนกัน และลูกชาย Donald ที่โผล่มาตอนแรกๆ ในเรื่อง
- ภายหลัง เขากลายเป็นผู้ตีพิมพ์ Washington Post คนที่สี่และคนสุดท้ายของตระกูล เพราะขายต่อหนังสือพิมพ์ให้ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon ในปี 2013
- ตัวบริษัท The Washington Post Company เปลี่ยนชื่อมาเป็น Graham Holdings หลังขายกิจการหนังสือพิมพ์ไปแล้ว แต่ยังเป็นเจ้าของสถานีทีวีท้องถิ่นในหลายเมือง อีกทั้งยังแตกแขนงไปทำธุรกิจอื่นๆ ผ่านการซื้อกิจการ อย่างบ้านพักคนชรา-บ้านพักคนป่วย, ธุรกิจการผลิตเครื่องจักร, ร้านอาหาร, ดีลเลอร์รถยนต์ และเป็นเจ้าของบริษัทการศึกษา Kaplan ที่ให้บริการสอบวัดระดับทักษะต่างๆ
- ในหนังมีฉากที่ Katharine ไปกินข้าวกลางวันกับ “Abe” และภรรยา เขาคือ A. M. Rosenthal (A ย่อมาจาก Abraham แล้วเรียกชื่อเล่นเป็น Abe อีกที) บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ The New York Times คู่แข่ง ซึ่งตอนที่ Katharine รับทราบว่า The Times โดนคำสั่งศาล เธอจึงวิ่งไปโทรบอก Ben Bradlee
- Abe โผล่มาอีกครั้งตอนขึ้นศาลท้ายเรื่อง เขาจับมือกับ Ben ในฐานะบรรณาธิการด้วยกัน โดยคนที่นั่งตรงกลางระหว่างทั้งสองคือ Arthur Ochs Sulzberger (ในเรื่องเรียกตามชื่อเล่นว่า “Punch”) เจ้าของ The Times ซึ่งเป็นกิจการของตระกูลเช่นกัน (ประธานของ The Times คนปัจจุบันคือ A. G. Sulzberger ซึ่งเป็นหลานปู่ของ Punch)
- Daniel Ellsberg โดนคดีด้านความมั่นคงที่นำเอกสารลับหลุดออกมา แต่ภายหลังก็หลุดหมดทุกคดี เพราะรัฐบาลนิกสันที่กล่าวหาเขา ไปโดนคดี Watergate ทำให้ศาลมองว่ามีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง Daniel
- เสียงของนิกสันในเรื่องเป็นเทปจริงๆ ของนิกสัน ที่หลุดออกมาในช่วงคดี Watergate
- หนังถูกวิจารณ์จากฝ่าย The New York Times ว่าเป็นการเชิดชู The Washington Post มากเกินไป เพราะ Pentagon Papers เป็นการริเริ่มจาก The Times ก่อน