in Business, Movies, Technology

The Playlist – Spotify Story

ได้ดูซีรีส์ The Playlist ทาง Netflix ที่เล่าประวัติของการก่อตั้ง Spotify (แม้เป็นประวัติเวอร์ชันแต่งเพิ่ม fictionalized ให้ดราม่ามากขึ้น) คิดว่าเป็นซีรีส์ที่น่าสนใจสำหรับผู้สนใจประวัติของวงการเทคโนโลยี

เนื้อหาในซีรีส์ ดัดแปลงบางส่วนมาจากหนังสือชื่อ Spotify Untold เล่าประวัติของ Spotify (เวอร์ชัน non-fiction) ของนักข่าวชาวสวีเดนที่ติดตามเรื่องราวมานาน แล้วใส่เรื่องแต่งของผู้สร้างซีรีส์ไปอีกประมาณหนึ่ง (Spotify ไม่ได้จ้างทำซีรีส์นี้ ผู้สร้างมีอิสระในการดัดแปลงและเล่าในเชิงวิพากษ์วิจารณ์)

The Playlist เป็นซีรีส์ความยาว 6 ตอน ที่ใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านตัวละคร 6 คนใน 6 บทบาท จาก 6 มุมมองที่แตกต่างกัน (สไตล์คล้ายราโชมอน แต่อาจเป็นคนละช่วงเวลา) ซึ่งถือเป็นวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ดี แม้อาจงงๆ อยู่บ้างในตอนแรกๆ โดยตัวละครของตอนถัดไปจะโผล่เข้ามาแทรก คุยกับผู้ชม (breaking the fourth wall) ในตอนจบของตอนก่อนหน้า เพื่อแนะนำมุมมองในตอนถัดไปของตัวเอง

ทั้ง 6 ตอนเรียงตามลำดับดังนี้

  1. The Vision – เล่าจากมุมมอง Daniel Ek ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ
  2. The Industry – เล่าจากมุมมองค่ายเพลง โดย Per Sundin ผู้บริหารของ Sony Music Sweden
  3. The Law – เล่าจากมุมมอง Petra Hansson นักกฎหมายมือทองที่ Spotify จ้างมาเจรจากับค่ายเพลง
  4. The Coder – เล่าจากมุมมองของ Andreas Ehn โปรแกรมเมอร์และ CTO คนแรกของ Spotify
  5. The Partner – เล่าจากมุมมองของ Martin Lorentzon ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน และนายทุนคนแรกของ Spotify
  6. The Artist – เล่าจากมุมมองของ Bobbi Thomasson นักดนตรี เพื่อนร่วมชั้นของ Daniel Ek ในวัยเยาว์ ที่หันมาประท้วงการแชร์รายได้ของ Spotify

ตัวละคร 5 คนแรกมีตัวตนจริงๆ ส่วน Bobbi Thomasson เป็นตัวละครที่แต่งขึ้นมาใหม่ (แต่แสดงโดยนักดนตรีจริงๆ) แถมเหตุการณ์ใน Episode 6 เป็นเรื่องของอนาคตปี 2024-2025 (เอางั้นเลย?) ไม่ได้เป็นการเล่าประวัติของ Spotify ย้อนหลังเหมือน 5 ตอนแรก

Bobbi Thomasson ตัวละครสมมติในเรื่อง

ใจความสำคัญของซีรีส์อยู่ที่ 3 ตอนแรก ที่เป็นการต่อสู้ 3 ฝ่าย ระหว่างค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ยึดติดกับโมเดลธุรกิจแบบดั้งเดิม และกลุ่ม The Pirate Bay (ที่เป็นคนสวีเดนด้วย) ที่ปฏิวัติวงการด้วย BitTorrent และโมเดลของเถื่อน 100%

Spotify พยายามเป็นโมเดลทางเลือกที่สาม โดยนำเสนอบริการสตรีมมิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่เข้าถึงได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า สิ่งที่น่าสนใจคือบริบทของการต่อสู้เรื่องอนาคตของวงการเพลงมีศูนย์กลางอยู่ที่สวีเดนล้วนๆ เพราะทั้ง The Pirate Bay และ Spotify ต่างเป็นองค์กรของคนสวีเดน และการเกิดขึ้นของ Spotify ก็อยู่บนบริบททางการเมืองของสวีเดน ที่บรรดาค่ายเพลงต่อสู้กับ The Pirate Bay กันมาในหลายแนวรบ (เช่น ผ่านตำรวจ ศาล สื่อ นักการเมือง) ก่อนแล้ว การผุดขึ้นมาของ Spotify ในฐานะทางเลือกใหม่จึงเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่คนสวีเดนสนใจและติดตามเรื่องนี้มายาวนาน

ส่วนตอนที่ 4 และ 5 เป็นการเติมเต็มรายละเอียดในจุดอื่นๆ เช่น การสร้างระบบสตรีมมิ่งที่ “คลิกแล้วเพลงขึ้นเลย” ว่ายากแค่ไหน และการหาเงินทุนมาช่วยให้บริษัทตั้งตัวนั้นทำอย่างไร ทั้งสองตอนนี้นำเสนอภาพด้านลบของ Daniel Ek ที่ต่างไปจาก 3 ตอนแรก ว่าสุดท้ายเขาก็เป็นคนเลือดเย็น และต้องหักกับเพื่อนที่ร่วมก่อตั้งบริษัทมาด้วยกัน

ตอนสุดท้ายเป็นการจำลองสถานการณ์ว่าสิ่งที่ Spotify จะต้องเผชิญในอนาคตคืออะไร เคสนี้คือบรรดาศิลปินออกมาประท้วงเรื่องส่วนแบ่ง ซึ่งจะลามไปจนถึงการที่ Daniel Ek ต้องไปให้การกับกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐ (เข้าใจว่าจำลองมาจากที่ Mark Zuckerberg เคยโดน) ฉายภาพการต่อสู้ทางนโยบายสาธารณะได้ดี แต่ฉากจบทำได้งงๆ ไปหน่อย ตรงนี้เป็นจุดที่หลายคน (รวมถึง The Guardian) วิจารณ์ว่าทำเสียของ ซึ่งผมก็เห็นด้วย

ซีรีส์ The Playlist ทำโดยทีมผู้สร้างชาวสวีเดน-สแกนดิเนเวียเป็นหลัก นักแสดงเกือบทั้งหมดเป็นชาวสวีเดน (เสียงแบบเนทีฟคือสวีเดน แต่มีแบบพากย์อังกฤษทับให้ดู) งานโปรดักชั่นช่วง 3 ตอนแรกดูราคาถูกไปนิดนึง ห้องออฟฟิศเดิมใช้กันวนไปวนมา แต่พอตอนหลังๆ เริ่มมีโปรดักชั่นราคาแพงเข้ามา เช่น งานแต่งงานของ Daniel Ek ที่ริมทะเลสาบ Como ในอิตาลี, ฉากอาคารรัฐสภา, งานปาร์ตี้หรือการประท้วงที่ต้องมีคนจำนวนมากๆ ทำให้ซีรีส์ดูสมจริงขึ้นมาก

ในแง่เนื้อเรื่องถือว่าให้รายละเอียดครบถ้วนดี ได้ข้อมูลและแง่คิดดี มีดราม่าประมาณหนึ่ง (แม้ไม่มี thriller มากนัก) นักแสดงหลายคนเล่นได้ดี โดยเฉพาะ Gizem Erdogan คนเล่นเป็นทนายหญิงแกร่ง Petra Hansson, Janice Kavander คนเล่นเป็น Bobbi T นักร้องที่กลายเป็นนักเคลื่อนไหว และ Christian Hillborg เล่นเป็น Martin Lorentzon ผู้ร่วมก่อตั้งสุดเพี้ยน แต่คนเล่นเป็น Daniel Ek ดูมึนๆ ไปหน่อย (หน้าตา Daniel Ek ตัวจริงดูโหดกว่ามาก)

Daniel Ek ตัวจริง

เกร็ดอื่นๆ ที่เพิ่มเติมจากในเรื่อง

  • Petra อยู่กับ Spotify ถึงปี 2017 (อยู่กันนาน 10 ปี) ซึ่งภายหลังเธอกับ Niklas Ivarsson เพื่อนทนายอีกคนในเรื่อง ไปช่วยกันทำบริษัทสตาร์ตอัพชื่อ TrackLib – source
  • Andreas Ehn ที่เป็น CTO คนแรกของ Spotify ลาออกในปี 2009 จากนั้นไปทำบริษัทชื่อ Wrapp (2011-2014) แล้วผันตัวมาเป็น VC อยู่ที่สิงคโปร์ – LinkedIn, Twitter
  • Martin Lorentzon ผู้ร่วมก่อตั้ง ลงจากตำแหน่งประธานบอร์ดในปี 2016 ที่งานแต่งงานของ Elk (ซึ่งมี Mark Zuckerberg มาร่วมงานด้วยจริงๆ) หลังจากนั้นไปทำงานสายการเมือง-การกุศล – Wikipedia
  • Per Sundin อยู่กับ Sony Music ถึงปี 2008 แล้วย้ายค่ายไปอยู่กับ Universal Music Sweden (มีพูดถึงเรื่องนี้ในซีรีส์) จนถึงปี 2019 งานล่าสุดคือเป็นซีอีโอของ Pophouse Entertainment บริษัทเพลง-ปั้นดาราของสวีเดน – LinkedIn
  • เหตุการณ์ Taylor Swift ประท้วง Spotify เกิดขึ้นในปี 2014 (Wikipedia, Blognone) แต่ไม่ได้ประท้วงแค่ Spotify อย่างเดียว เพราะหมายถึงบริการสตรีมมิ่งอื่นๆ ด้วย (Apple Music) ภายหลังเคลียร์กันได้ และเธอยอมนำเพลงกลับเข้าระบบสตรีมมิ่งในปี 2017