ภาพประกอบโดย Tyler Merbler / Flickr / Wikipedia
เหตุการณ์ผู้สนับสนุน Donald Trump บุกอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นภาพที่ช็อคโลกไม่น้อย (แต่คนไทยคุ้นเคย คงไม่ช็อคมาก อุอุ)
รายละเอียดของเหตุการณ์นี้มีเยอะมาก (รวมถึงผลกระทบที่ตามมาหลังจากนั้น) ในแง่ของสื่อออนไลน์และการเซ็นเซอร์ของบริการโซเชียลทั้งหลาย ใน Blognone ก็ติดตามเรื่องนี้อย่างละเอียด
แต่ถ้าถอยออกมาในระยะไกลๆ มองภาพรวมทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงการดำรงตำแหน่งของ Trump ตลอด 4 ปีด้วย ผมคิดว่าเราคงพอใช้คำว่า Testing the Limits สรุปรวบยอดสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้
พอได้มาเลี้ยงเด็กเอง ก็รู้จักคำนี้จากตำราฝรั่งว่าเด็กมัก test the limits ว่ากฎเกณฑ์ที่พ่อแม่ตั้งไว้ มันหนักแน่นแค่ไหน มีการบังคับใช้จริงๆ หรือไม่
testing the limits
attempts by an individual to see how far he or she can test rules before the rules are enforced. An example would be seeing how much talking one can get away with in a class before being reprimanded by the teacher. – source
กรณีของ Trump ทั้งหมด รวมถึงการบุก U.S. Capitol ก็ถือเป็นการ test the limits ของระบบประชาธิปไตยอเมริกาอีกเหมือนกัน
ที่ผ่านมา Trump ขึ้นมาด้วยการ bully ทุกฝ่ายทุกคน แม้แต่คนในพรรค Republican หรือแม้แต่ทีมงานของเขาเอง (เคยอ่านมุมมองหนึ่งที่บอกว่า Trump ไม่ได้เหยียดผิวเหยียดเพศหรอก เพราะคนขาวก็เหยียด ลูกน้องก็เหยียด เหยียดทุกคนต่างหาก) ด้วยฐานอำนาจต่อรองสำคัญที่เขามีคือ ฐานเสียงและชัยชนะจากการเลือกตั้ง (ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามีอยู่จริงๆ และต้องยอมรับความเก่งของเขาตรงนี้)
รอบ 4 ปีที่ผ่านมา Trump จึง test the limits ของทุกเรื่อง ตั้งแต่ระบบสื่อมวลชนแบบเดิม (“CNN fake news!”), กลไกรัฐราชการ ไปจนถึงกลไกภายในของพรรครีพับลิกันเอง แถมเขายังพบว่า เออ limit ที่ตั้งเอาไว้มันไม่ได้มีอยู่จริงๆ นี่นา
ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดคือ การ impeachment กรณียูเครน ที่ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันยังอุ้มเอาไว้ (ด้วยกรอบคิด “ประธานาธิบดีของรีพับลิกันจะถูกโหวตเอาผิดไม่ได้”) ดังนั้น limit ในแง่การเมืองรัฐสภายังไปไม่สุดทาง
หรืออย่างในโลกโซเชียล Trump ก็สามารถโพสต์อะไรก็ได้ ด่าใครก็ได้ เพราะรู้ว่ายังไงเสีย Facebook หรือ Twitter ก็ไม่ทำอะไรเขาหรอก ถ้าใครอ่านโพสต์ของ Mark Zuckerberg มาช่วยปกป้องโพสต์ของ Trump ตอนเดือน มิ.ย. 2020 น่าจะจับอารมณ์ได้ว่าหงอมากๆ
ในอดีต กรณีลักษณะนี้ยังมี soft limit ด้านอื่นๆ มาครอบไว้อีกชั้น เช่น มารยาทหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมือง (เช่น Nixon ชิงลาออกก่อนตอน Watergate) แต่เมื่อเจอกับ Trump ที่เป็นคนไม่มี “ยางอาย” ทางการเมือง ทำให้ soft limit ที่ว่าใช้การไม่ได้ และตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเราเห็นการพังทลายของ soft limit แบบนี้ในทุกๆ ด้าน
อย่างไรก็ตาม กรณีม็อบบุก U.S. Capitol เป็นสิ่งที่ทำให้ Trump, ผู้สนับสนุน (และคนอเมริกันที่เหลือ) ต้องมาเจอกับ hard limit ที่มีอยู่จริงๆ (แต่ไม่เคยถูกทดสอบมาก่อน) ทำให้ยุทธศาสตร์เดิมของ Trump ไม่ได้ผลอีกแล้ว
เราจึงเห็นกลุ่มตัวละครที่ “ถอยสุดซอย” เวลามาเจอกับ Trump ทดสอบดันลิมิต กลับมาตอบโต้ Trump อย่างแข็งกร้าว ไม่ว่าจะเป็นในพรรครีพับลิกันเอง (รัฐมนตรีบางคนลาออก, ส.ส. หรือ ส.ว. บางคนออกมาด่าออกสื่อ แม้แต่ตัวจี๊ดในวุฒิสภาอย่าง Mitch McConnell เองก็ออกมาถล่มเละ) หรือฝั่งของสื่อโซเชียลสายหลักเกือบทุกราย เช่น Twitter, Facebook, Twitch, Reddit, Discord ก็พร้อมใจกันมาแบนบัญชีของ Trump กันหมด
แน่นอนว่าบริบทเรื่องห้วงเวลาก็ย่อมมีผล เช่น ถ้าเหตุการณ์บุก U.S. Capitol เกิดขึ้นในปี 2018 จังหวะที่ Trump กำลังพีคสุดๆ ก็อาจไม่มีคนกล้าขัดขนาดนี้ (มีแค่ Mitt Romney คนเดียวที่กล้าโหวตเอาผิด Trump ตอน impeachment) แต่พอมาเกิดขึ้นในช่วงปลายวาระ แถมเป็นช่วงที่ชัดเจนแล้วว่า Trump แพ้แน่ๆ หลายคนที่เคยลังเลก็เลยมั่นใจในการออกมาตีจาก แต่โพสต์นี้จะชี้ว่าลำพังแค่ตัวการกระทำของ Trump เองก็สำคัญเช่นกัน การ test the limits รอบนี้มัน “เกินเลย” เกินไป
ถ้ามองในเชิงบริบททางประวัติศาสตร์ด้วย ต้องชมเลยว่าระบอบและวัฒนธรรมประชาธิปไตยของอเมริกานั้นเข้มแข็งมาก ต่อให้คนอย่าง Trump ขึ้นมามีอำนาจ ก็ไม่สามารถทำอะไรตามใจชอบได้ง่ายนัก (ดูอย่าง “กำแพงเม็กซิโก” ก็ไม่สามารถสร้างได้อย่างที่ฝัน) หากเทียบกับกรณีอื่นๆ อย่างเช่นการขึ้นมาของฮิตเลอร์ เราจะเห็นว่าระบอบของสาธารณรัฐไวมาร์ไม่ได้เข้มแข็งแบบเดียวกันนี้ (และแน่นอนว่าบริบทก็แตกต่างกันมาก)
อัพเดต: หลังเขียนโพสต์นี้ Arnold Schwarzenegger ออกมาโพสต์วิดีโอ เล่าเปรียบเทียบสถานการณ์ในเยอรมันยุคหลังสงครามโลก ที่เขาเติบโตมาในตอนเด็กๆ กับอเมริกาในยุคปัจจุบัน ว่าอย่าให้ซ้ำรอยอีก
My message to my fellow Americans and friends around the world following this week's attack on the Capitol. pic.twitter.com/blOy35LWJ5
— Arnold (@Schwarzenegger) January 10, 2021
ผมคิดว่าเราน่าจะพอนิยามได้ว่า Trump เป็น “สิ่งแปลกปลอม” ทางประวัติศาสตร์ (เหมือน “มโนมัย” ในสถาบันสถาปนา) ที่เข้ามา stress test ระบอบการเมืองของสหรัฐดูว่า มีช่องว่างช่องโหว่ตรงไหนบ้าง ซึ่งสิ่งที่พบคือ มีจุดโหว่เต็มเลยที่เป็น soft limit ในเชิงวัฒนธรรม พิธีการ แต่ตัว hard infrastructure ทางการเมืองกลับยังเข้มแข็งมาก
สิ่งที่น่าสนใจในระยะยาวคือ สิ่งมีชีวิตที่ชื่ออเมริกาในยุค Post-Trump จะปรับแก้ (ในที่นี้คือ correction) ตัวเองอย่างไร เพื่อปิดจุดบกพร่องเหล่านี้ วัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างที่ “ทำสืบๆ กันมา” โดยไม่ถูกทบทวน ขบคิดโดยรากฐาน ไม่เคยทดสอบ fundamental truths (ภาษา Elon Musk เรียก “First Principles”) ก็จะต้องมาวางรากฐานกันใหม่
ในระยะยาวแล้ว เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้อเมริกาปรับฐานตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยได้ และยืนหยัดต่อไปได้อีกหลายสิบปี