สรุปเนื้อหาจากหนังสือ Origins: How the Earth Shaped Human History บทที่ 7 Silk Roads and Steppe People
เรารู้จัก “เส้นทางสายไหม” (Silk Road) กันมานาน มันคือเครือข่ายเส้นทาง (network of roads) จากประเทศจีนไปยังยุโรปมาตั้งแต่ยุคโบราณ
จุดกำเนิดของมันคือการเชื่อมต่อ 2 จักรวรรดิใหญ่ที่คนละสุดปลายทวีป แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันคือราว 2000 กว่าปีที่แล้ว นั่นคือ จักรวรรดิโรมัน และจักรวรรดิต้าฮั่น โดยมีสินค้าสำคัญคือ “ผ้าไหม” จูงใจให้พ่อค้าตั้งขบวนคาราวานเดินทางรอนแรมข้ามทวีป เพราะขายผ้าไหมได้ในราคาสูงมากๆ นั่นเอง
การเดินทางผ่านเส้นทางสายไหม มีความลำบากอยู่มาก เพราะใจกลางของทวีปเอเชียมีเทือกเขาสูงบริเวณทิเบตขวางกั้นไว้ (แนวเทือกเขาต่อยาวมาถึงอิหร่าน) และ “ด้านหลัง” ของทิเบตยังเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เพราะความชื้นจากทะเลไม่สามารถพัดเข้ามาได้ พื้นที่บริเวณเอเชียกลาง ฝั่งตะวันตกของทิเบตไปจนถึงทะเลสาบแคสเปี้ยนจึงเป็นทะเลทราย
การเดินทางผ่านเส้นทางสายไหมแถบเอเชียกลาง จึงเป็นการเดินทางผ่านทะเลทรายและช่องเขา โดยใช้อูฐ พาหนะอย่างเดียวที่สามารถขนสินค้าน้ำหนักมากข้ามทะเลทรายได้ และมีเมืองโอเอซิสเป็นจุดเชื่อมต่อเพื่อเติมน้ำและเสบียง
เมืองในเอเชียกลางปัจจุบัน เช่น Samarkand, Bukhara, Almaty ล้วนแล้วแต่เป็นเมืองโอเอซิสบนเส้นทางการค้าเหล่านี้มาก่อน
แต่ถ้าเราขยับขึ้นสูงไปจากเส้นทางเหล่านี้อีกหน่อย มหาทวีปยูเรเชียแทบไม่มีเทือกเขาอีกแล้ว กลายเป็นที่ราบกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งหญ้าที่เรียกว่า Steppe
Steppe เป็นภูมิประเทศที่เกิดจากสภาพอากาศของโลก หากเรานับตั้งแต่ขั้วโลกลงมา ชั้นถัดมาเราจะเจอภูมิอากาศแบบทุนดรา (Tundra) ที่เหน็บหนาว จากนั้นเป็นภูมิอากาศแบบไทกา (Taiga) และป่าเขตหนาว (Temperate Forest)
ถัดลงมาอีกหน่อยถึงเป็นภูมิอากาศแบบ Steppe ที่แห้งแล้ง (เพราะโดนภูเขากั้น) ไม่มีความชื้นและเมฆฝนมากพอให้ต้นไม้ใหญ่เติบโตได้ แต่เพียงพอสำหรับต้นหญ้า ทำให้เกิดสภาพ “ทะเลหญ้า” (Sea of Grass) เป็นแถบ (band) ยาวจากตะวันตกไปตะวันออก
ภูมิประเทศแบบ Steppe นั้นไม่เหมาะกับการทำเกษตร เพราะความชื้นไม่พอ ไม่มีแหล่งน้ำ แม่น้ำ แต่กลับเหมาะสำหรับสัตว์ประเภทหนึ่งคือ ม้า ที่กินหญ้าเป็นอาหาร (หญ้าเยอะ กินจนเปรม) และเกิดเป็นวิถีชีวิตแบบชนเผ่าเร่ร่อน (nomadic) ย้ายที่ไปมาตามสภาพอาหารในแต่ละช่วงเวลา
ชนเผ่าเร่ร่อนในทุ่งหญ้ากลางทวีป ที่สามารถเคลื่อนตัวไปมาได้อย่างรวดเร็ว (เพราะขี่ม้า) ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งชัดเจน กลับกลายเป็นชนเผ่าที่กำหนดประวัติศาสตร์ของอารยธรรมต่างๆ ในเอเชียและยุโรป
หากใครคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์จีน จะทราบว่าชาวจีนต้องเผชิญกับ “ชนเผ่านอกด่าน” มาตั้งแต่ยุคโบราณ รบกับเผ่าเซียงหนู (Xiongnu) มาตั้งแต่ก่อนตั้งประเทศฮั่นด้วยซ้ำ ในภายหลังก็มีชนเผ่าอื่นๆ หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันมารุกราน เช่น เซียนเปย (Xianbei) ถูเจี๋ย (Göktürks) คีตัน/ชี่ตัน (Khitan) และมาถึงจุดสูงสุดในยุคของเผ่ามองโกล (Mongol) ที่รบชนะจักรวรรดิจีน สถาปนาราชวงศ์หยวนปกครองคนจีนได้สำเร็จ
ฝั่งของยุโรปเองก็ต้องเผชิญกับชนเผ่าเร่ร่อนเหล่านี้มาตั้งแต่สมัยโรมัน และเอาเข้าจริงแล้ว ชนเผ่าป่าเถื่อนไร้อารยธรรมที่อาศัยอยู่ในยุโรปตอนเหนือ จนสุดท้ายถล่มจักรวรรดิโรมันลงได้ ก็ล้วนแต่เป็นชนเผ่าลักษณะนี้ เช่น Goths, Vandals, Visigoth, Frank, Huns และกลายมาเป็นต้นตระกูลของคนฝรั่งเศส-เยอรมันในปัจจุบัน (คาดว่า Huns กับ Xiongnu คือเผ่าเดียวกันแต่คนละชื่อเรียก)
ภัยคุกคามเหล่านี้ทำให้จักรวรรดิเก่าล่มสลาย (โรมันตะวันตก) หรือชาวเผ่าที่อาศัยอยู่ก่อนต้องรวมตัวกันเพื่อความแข็งแกร่ง (โรมันอันศักดิ์สิทธิ์) กลายเป็นตัวกำหนดอารยธรรมยุโรปในยุคกลาง
ชนเผ่าที่ใช้ประโยชน์จาก “ทางด่วนทุ่งหญ้า” ได้สูงสุดย่อมไม่มีใครเกินเผ่ามองโกล ที่เริ่มจากชนเผ่าเล็กๆ กลายมาเป็นจักรวรรดิใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกภายในเวลาเพียงชั่วคนเดียวของเจงกีสข่าน ใช้การเดินทางด้วยขบวนม้าอย่างรวดเร็วจากตะวันออกไปตะวันตก และเมื่อศูนย์กลางอำนาจที่มองโกเลียมีวิกฤตผู้สืบทอด ขบวนม้าเหล่านี้ก็สามารถถอนตัวกลับได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
อารยธรรมเกษตรในอดีตไม่สามารถรับมือกับผู้รุกรานแบบนี้ได้มากนัก ทำได้มากที่สุดคือตั้งรับในกำแพงเมืองสูงใหญ่ (เช่น คอนสแตนติโนเปิล ทำสำเร็จมาก่อน) อาจต้องยอมจ่ายส่วยหรือบรรณาการให้เพื่อแลกกับการไม่รุกราน เพราะการทำสงครามกับชนเผ่าเหล่านี้เป็นเรื่องยาก ทั้งในแง่การทหาร ที่กองทหารราบเคลื่อนตัวช้า ต่อให้รบชนะบางคราวก็ไม่สามารถไล่ตามกองทัพม้าที่หนีกลับไปในทุ่งหญ้าได้ง่ายนัก แถมไม่มีอาหารที่หล่อเลี้ยงกองทัพทหารราบในทุ่งหญ้าได้อีก
เรารู้ว่า กำแพงเมืองจีน ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ เพื่อป้องกันผู้บุกรุกจากทางเหนือเหล่านี้ แต่ในเอเชียกลางก็มี Persian Wall (Great Wall of Gorgan) ที่ชาวเปอร์เซียสร้างขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน และมีความยาวเป็นรองแค่กำแพงเมืองจีนเท่านั้น
สิ่งที่เอาชนะชนเผ่าเร่ร่อนเหล่านี้ได้มีเพียง 2 อย่าง
- ธรรมชาติ ที่อาจแปรปรวน อาหารไม่เพียงพอ บีบให้ชนเผ่าเหล่านี้ต้องอพยพลงใต้ ปรับตัวเข้าสู่สังคมเกษตรเพื่อมีอาหารกิน เช่นที่เกิดมาแล้วกับมองโกล แมนจู หรือเผ่า Huns, Bulkars (บัลแกเรีย), Magyars (ฮังการี)
- วิวัฒนาการของการทหาร (Military Revolution) การเกิดขึ้นของอาวุธไฟ ดินปืน ปืนใหญ่ ทำให้อารยธรรมเมืองสามารถต่อต้านการบุกรุกของเผ่าเร่ร่อนได้ดีกว่าเดิมมาก, ระบบลอจิสติกส์ที่ดีขึ้น และการที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย ทำให้สามารถเลี้ยงกองทหารอาชีพขนาดใหญ่ (standing army) ไว้รับมือกับศัตรูได้ตลอดเวลา
จุดเปลี่ยนสำคัญคือ อาณาจักรชิงรบชนะเผ่ามองโกลในช่วงปี 1750 (เกิดเป็นมณฑลซินเกียง) ทำให้ชนเผ่าเร่ร่อนไม่สามารถกลับมามีอำนาจได้อีกเลย