ไปคอมเมนต์ไว้ในโพสต์ของมิตรสหายท่านหนึ่ง คิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เลยมาขยายความต่อ
ประเด็นถกเถียงเรื่อง information bubble และ echo chamber ในโลกโซเชียลนั้นมีมานานแล้ว แต่ดีกรีของผลกระทบต่อสังคมนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นที่แชมป์ยกมาคือ โลกเรายุคนี้มันไม่มี mass media อีกต่อไปแล้ว สื่อออนไลน์และโซเชียลทำให้เกิด very narrow segmentation แบบสุดลึก (จาก Facebook Groups แปลกๆ ทั้งหลายแหล่ เช่น คนรักสเตอร์เจียน และฉลามปากเป็ด ซึ่งผมอ่านแล้วก็ไม่รู้ว่าคือปลาอะไร)
ในเชิงคอนเทนต์ โฆษณา และการพาณิชย์ ถือเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะทุกคนมีพื้นที่ให้แสดงออกและพูดคุยในความรักชอบตามรสนิยมของตัวเอง
แต่ในทางการเมือง ที่สุดท้ายรสนิยมอันหลากหลายจะถูกบีบให้แคบลงจากตัวเลือกพรรคการเมืองที่มีในวันเลือกตั้ง (เมืองไทยมีเป็นร้อยพรรค แต่ที่มีผลจริงในทางปฏิบัติคงไม่เกิน 10 ตัวเลือก และถ้าบีบลงมาเหลือระดับแนวคิด-แนวร่วม ก็เหลือเพียง 2 ขั้วเท่านั้น) การประเมิน “มติมหาชน” บนโลกโซเชียลจึงทำได้ยากมาก
เมื่อพูดถึงคำว่า “โซเชียล” ก็มีคำถามตามมาว่าโซเชียลไหน ซึ่งธรรมชาติของโซเชียลแต่ละแบบก็แตกต่างกัน และมีผลต่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันไปด้วย
- Facebook Page, Instagram คนดัง และ YouTube มีสภาพความเป็น “เจ้าของบ้าน” อยู่มาก เจ้าของเพจหรือช่อง (ที่คนไทยเรียก แอดมิน) มีความสัมพันธ์เชิง “เจ้าบ้าน-ลูกบ้าน” กับลูกเพจหรือคนที่มาคอมเมนต์ ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เราจะเห็น bubble ในเชิงคอมเมนต์เป็นบวกกับเจ้าบ้านซะเยอะ และในด้านกลับกันก็มีเคส “ทัวร์ลง” ที่ฝ่ายตรงข้ามยกพวกมาถล่มในคอมเมนต์ของเจ้าบ้านเช่นกัน
- Facebook Profile และ Twitter แต่ละคนเป็นปัจเจก เป็น individual ที่มีสถานะเท่ากัน (ไม่มีใครเป็นโฮสต์ ทุกคนเป็นเพื่อน) ทุกคนมีสิทธิ follow/unfollow กันตลอดเวลา จึงเกิดสภาพ bubble ตั้งแต่ระดับขั้นของการ follow ตั้งแต่ด้วยซ้ำ (เราจะไป follow คนที่เราเกลียดหรือไม่ชอบความคิดทำไม ซึ่งรวมถึงการ unfollow เมื่อค้นพบว่าคนนั้นไม่ตรงกับจริตเรา)
- กรณีของห้องแชทอย่าง LINE หรือระบบแชทอื่น ยิ่งเป็นสังคมปิดขนาดเล็กลงไปอีก คนเรามีสิทธิเข้าห้อง/ไม่เข้าห้องได้ตั้งแต่แรก ยกเว้นด้วยข้อจำกัดทางสังคมบางอย่าง (เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มที่ทำงาน) ซึ่งคนที่ไม่ชอบมักเลือกใช้วิธีเพิกเฉยต่อแนวคิดที่ไม่ชอบ (เช่น mute group หรือไม่อ่าน) แทน
จุดที่น่าสนใจคือ โซเชียลบางแพลตฟอร์ม (ในที่นี้คือ Twitter) มีพื้นที่ตรงกลาง เป็น “สนามรบกลาง” (common battleground) ที่ทุกคนมีสิทธิเข้าร่วม ซึ่งก็คือระบบแท็กและเทรนด์ของ Twitter มันจึงทำให้เกิดการปะทะกันของแนวคิด 2 ขั้วการเมืองได้ง่ายกว่าแพลตฟอร์มที่ไม่มีระบบนี้ (Facebook/YouTube/LINE)
สนามรบแบบนี้ถือเป็นพื้นที่บ้านป่าเมืองเถื่อน ใช้กฎแห่งป่า เปรียบได้กับเกมแนว Battle Royale ที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงนี้ (คือทุกคนเข้ามาสู้กันมั่วๆ มากๆ)
สิ่งที่เกิดขึ้นในสนามรบทวิตเตอร์การเมืองไทยช่วงหลังๆ คือ ฝ่าย liberal สามารถเอาชนะได้เบ็ดเสร็จ สามารถยึดกุมแท็กหรือ narrative/conversation สำคัญๆ ได้เกือบหมด
สิ่งที่เกิดตามมาในธรรมชาติคือ ฝ่าย conservative ที่เป็นขั้วตรงข้าม จะรู้สึกไม่สะดวกใจที่ต้องเข้ามาร่วมปะทะ (ในสมรภูมิที่ตัวเองแพ้) ก็จะถอนตัว/ลดความ active จากแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ไปซะเลย ซึ่งกรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับ Pantip ห้องราชดำเนินเมื่อหลายปีก่อน
เมื่อเกิดสภาพ liberal ยึดทวิตเตอร์ได้ การประเมินความเห็นทางการเมืองของมหาชนจึงทำได้ยากขึ้นไปอีก ในแง่ของคนที่สนับสนุนแนวคิด liberal เป็นเรื่องดี แต่การประเมินสถิติในทางการเมืองเพื่อไปสู่วันโหวต (ที่ใครประเมินได้ถูกต้องแม่นยำกว่ากัน ก็จะได้เปรียบกว่ากันมาก) ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะจะทำให้เผลอมองข้าม “พลังเงียบ” ที่เข้าไม่ถึงในโลกโซเชียลไป