in Politics

Republicans vs Donald Trump

ประเด็นหนึ่งในการเมืองอเมริกาที่ส่วนตัวสนใจมาสักพักแล้ว คือ ความสัมพันธ์ของ Donald Trump กับพรรครีพับลิกัน

ถ้ามองย้อนกลับไป Trump คือบุคคลนอกพรรค (เพราะไม่เคยเล่นการเมือง) ที่กระโดดเข้ามาสังกัดพรรครีพับลิกัน แล้วอาศัยฐานเสียงของรีพับลิกัน บวกกับวิธีการหาเสียงเฉพาะตัว ไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นประธานาธิบดี

(วิธีการแบบนี้เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป อย่างกรณีของ Bernie Sanders ก็คือมาอาศัยฐานเสียงเดโมแครตเหมือนกัน แม้จะไม่สำเร็จแบบ Trump ก็ตาม)

ชัยชนะของ Trump กลายเป็นตัวฉุดให้รีพับลิกันไปในทิศทาง “ขวา” (ในที่นี้คือขวาแบบ Alt-Right) มากขึ้นตามกระแสโลก หรือสามารถเรียกได้อีกอย่างว่า กระแสขวาแบบ Alt-Right ก่อตัวมาสักพักแล้วในหมู่ฐานเสียงรีพับลิกัน โดย Trump สังเกตเห็นและใช้พลังนี้จนได้เป็นประธานาธิบดี

ระบบพรรคการเมืองใหญ่ 2 ขั้วของอเมริกา ย่อมทำให้ในแต่ละพรรคมีหลายปีก หลายก๊วนที่แตกต่างกันไป เมื่อมีคนเห็นด้วยกับ Trump ก็ย่อมมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับ Trump ทั้งในมิติว่า Trump รุนแรงเกินไป, เลอะเทอะเกินไป หรือเป็น “ผู้มาทีหลัง” แต่ดันมีอำนาจนำเหนือพรรคได้

กระแสความไม่พอใจ Trump ในหมู่ชาวรีพับลิกัน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งปี 2016 แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมาอ่านพบว่า อดีตประธานาธิบดี George W. Bush เคยพูดไว้ก่อนเลือกตั้งว่า เขาเกรงว่าเขาจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายของรีพับลิกัน

“I’m worried,” Bush told them, “that I will be the last Republican president.”

ความหมายของ Bush คือ Trump จะพาพรรคลงเหวไปแบบกู่ไม่กลับ ซึ่งมาพูดเรื่องนี้กันตอนนี้ เราก็รู้แล้วว่า Bush ประเมินผิด เพราะ Trump ชนะเลือกตั้ง

www.politico.com

แม้อเมริกามีการเมืองหลายระดับ ทั้ง ส.ส., ส.ว., ผู้ว่าการรัฐ, การเมืองท้องถิ่นระดับเมือง ฯลฯ แต่ชัยชนะของการเลือกตั้งประธานาธิบดี บุคคลผู้มีอำนาจที่สุดในโลก ย่อมสำคัญที่สุด แนวทางของ Trump จึงเป็นตัวกำหนดทิศทางของรีพับลิกันหลังปี 2016 อย่างชัดเจน

ดังนั้นไม่ว่า Trump จะทำอะไรล้ำเส้นไปบ้าง (จริงๆ ก็ล้ำไปเยอะ) แต่เมื่อเขาสามารถนำพารีพับลิกันชนะเลือกตั้งได้สำเร็จ อำนาจต่อรองของเขาจึงสูงมาก

นักการเมืองจากฝั่งรีพับลิกันเองก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่พอสมควร เพราะในมุมหนึ่งก็ไม่พอใจ Trump (เพิ่งเห็นว่ามีรายชื่อนักการเมืองรีพับลิกันที่ต้าน Trump ในปี 2016) แต่ในอีกด้านก็น่าจะเกลียดเดโมแครตมากกว่า (ฮา) ถ้าต้องเลือกระหว่าง Trump กับเดโมแครต ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่ยากนัก

ในการอิมพีชเมนต์ Trump เมื่อต้นปี 2020 วุฒิสภาของอเมริกา (ที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมากมาตั้งแต่ปี 2014) จึงลงคะแนนให้ Trump รอดได้แบบชิวๆ ไม่ต้องสนใจอะไรมากนัก

เรียกง่ายๆ ว่าความผิดถูกตามหลักการช่างมัน เอาคนของพรรคเรารอดไว้ก่อน 👌 ดีกว่าปล่อยให้เดโมแครตถอดประธานาธิบดีออกได้

อย่างไรก็ตาม ในหมู่ ส.ว. รีพับลิกันเองก็มีคน “โหวตสวน” Trump อยู่หนึ่งคนคือ Mitt Romney ซึ่งเคยเป็นตัวแทนพรรคไปชิงประธานาธิบดีในปี 2012 (และแพ้ Obama) เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้วทีหนึ่ง

(ส่วนตัวแล้วคิดว่า Romney น่าสงสารเหมือนกัน คือ มาชิงตำแหน่งผิดปีไปหน่อย)

การหลุดอิมพีชเมนต์ ดูจะทำให้บรรลังก์ของ Trump และรีพับลิกันยุค Trump ดูมั่นคงดี กลายเป็นพยัคฆ์ติดปีก และการเมืองยุคปัจจุบันก็ทำให้แนวทาง unconventional ของ Trump กลายเป็น new normal ไปซะอย่างนั้น

แต่หลังจากนั้นไม่นาน COVID-19 ก็ทำให้โลกเปลี่ยนไป กลายเป็นว่า Trump รับมือวิกฤตครั้งนี้ได้แย่ คะแนนนิยมตก และยิ่งพอมีเรื่อง George Floyd ตามมา ซึ่ง Trump ก็รับมือได้แย่เข้าไปอีก

กระนั้นก็ตาม ส.ว. รีพับลิกันหลายๆ คนก็ยังเกรงใจ Trump อยู่ โดยพยายามหลบคำถามของนักข่าวเรื่องข้อความทวีตของ Trump ที่พยายามสร้างความรุนแรง  ว่าไม่ได้ติดตามเรื่องนี้บ้าง หรือ ไม่ได้สนใจบ้าง

แต่กรณีการไปถ่ายรูปที่โบสถ์ St. John ในวอชิงตันดีซี (อยู่คนละฝั่งถนนกับทำเนียบขาว) ที่ต้องให้ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเคลียร์ผู้ชุมนุม กลับกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนในรีพับลิกันเองก็เริ่ม “รับไม่ได้”

ปฏิบัติการถ่ายรูปของ Trump มีใน USA Today ทำไว้ละเอียดมาก  😂 ทั้งแผนที่และลำดับเวลา

งานนี้ นักการเมืองรีพับลิกันหลายๆ คนจึงออกมาประณาม Trump ซึ่งกรณีของ “ขาประจำ” อย่าง Romney หรือ Bush (รวมถึงนักการเมืองคนอื่นๆ เช่น Susan Collins) คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก

แต่เซอร์ไพร์สกลับเป็น James Mattis อดีต รมว. กลาโหมในยุค Trump ที่ลาออกไปในปี 2018 ออกมาซัด Trump รัวๆ จนสื่อพาดหัวว่า เขาเลือกอเมริกาเหนือ Trump

หรือแม้แต่ รมว. กลาโหมคนปัจจุบัน Mark Esper ที่แม้ไม่ได้ออกมาซัด Trump ตรงๆ แต่ก็แสดงความไม่เห็นด้วยในการใช้ทหารประจำการ มาปราบผู้ชุมนุม

อัพเดต 8 ส.ค. Colin Powell อดีตนายพล 4 ดาว และรัฐมนตรีต่างประเทศยุค Bush เป็นรีพับลิกันคนล่าสุดที่ออกมาประกาศว่าจะลงคะแนนให้ Joe Biden

ท่าทีที่เปลี่ยนไปของนักการเมืองฝ่ายรีพับลิกัน จึงน่าจับตาว่า ยุคสมัยอันมั่นคงของ Trump กำลังสั่นคลอนหรือไม่ (ยังไม่ต้องพูดถึงการเลือกตั้งเดือน พ.ย. นี้เลยด้วย เพราะยังไง Trump อยู่ไปถึงเดือนมกราคม 2021 แน่ๆ อยู่แล้ว)

เรื่องนี้ถูกพูดถึงในบทความของ FiveThirtyEight ที่วิเคราะห์ว่า จังหวะนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะกระแสความไม่พอใจ Trump ในพรรครีพับลิกันก่อตัวมานานแล้ว แค่ยังไม่มีใคร “กล้า” ลุกขึ้นสู้เท่านั้น (จังหวะเวลาก็สำคัญ) และถ้าเกิดกระแสจุดติด บทที่คนจะตีตัวออกห่าง Trump (เช่น รัฐมนตรีลาออก) ก็จะมาเป็นชุดรัวๆ เลย

ย้อนกลับไปคำถามข้างต้นว่า หากนักการเมืองรีพับลิกันต้องเลือกระหว่าง Trump กับเดโมแครต คำตอบคงเป็น Trump ได้ไม่ยาก แต่ถ้าต้องเลือกระหว่าง Trump กับตัวเอง ก็ต้องเลือกตัวเองไว้ก่อนเช่นกัน

ขาขึ้นของ Trump ทำให้นักการเมืองรีพับลิกันต้องเกาะ Trump ตามไปด้วย แต่ขาลงของ Trump ก็ฉุดความนิยมของรีพับลิกันลงด้วยเช่นกัน

ท่าทีของ Trump ส่งผลให้คะแนนเสียงของเดโมแครตตีตื้นขึ้นในการเลือกตั้งมิดเทอมปี 2018 ทั้งสภาล่าง (ส.ส.) และในหมู่ผู้ว่าการรัฐ ทำให้ฐานที่มั่นของรีพับลิกันจึงอยู่ที่สภาสูง (ส.ว.) ที่มีคะแนนนำเดโมแครตอยู่ไม่เยอะนักด้วย (53:47)

พอ Trump พาคะแนนนิยมของรีพับลิกันตกลงในช่วงนี้ จึงทำให้บรรดา ส.ว. รีพับลิกันก็เริ่มเสียววาบเหมือนกัน ว่าตัวเองจะแพ้เลือกตั้งในสมัยหน้า

หรืออย่างตอนนี้ก็เริ่มมีแคมเปญ Republican Voters Against Trump ที่เชิญชวนให้ฐานเสียงรีพับลิกันออกมาต้าน Trump กันแล้ว (เพิ่งเริ่มก่อตั้งในเดือน พ.ค. 2020) ส่วนผลของแคมเปญก็ต้องรอติดตามกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจกว่าในระยะยาวคือ รีพับลิกันจะปรับตัวอย่างไรในยุค Post-Trump ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว (อย่างเร็ว 2020 อย่างช้า 2024) ซึ่งยังไม่ค่อยเห็นการถกเถียงกันในเรื่องนี้มากนัก