in Politics

Renegotiate Everything

หลังจากชนะเลือกตั้งมาสองเดือนกว่า เราเริ่มเห็นเทรนด์แล้วว่า Trump และเดอะแก๊ง (ซึ่งนำโดย Elon Musk) กำลังพยายามจะทำอะไร

ในรอบเดือนที่ผ่านมา Trump เปิดประเด็นด้านต่างประเทศอย่างหนักหน่วง แต่ไม่ได้ไปวุ่นอะไรกับจีนอย่างที่หลายคนคาดกัน สิ่งที่ Trump ทำคือการออกมาซัดชาติพันธมิตรใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา ยึดคลองปานามา ซื้อเกาะกรีนแลนด์ โดยลูกชาย Trump Jr. ยังนั่งเครื่องบินแปะตรา Trump ไปลงที่ Greenland ด้วย (อย่างปั่น)

Trump ยังส่ง Elon ลามไปแซะผู้นำยุโรปตะวันตกกันถ้วนหน้า ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ จะมีรอดก็แค่อิตาลี ที่นายกหญิงฝ่ายขวา Giorgia Meloni รีบบินมาอเมริกา มาสร้างพันธมิตรกับ Trump ก่อนใคร

ดีกรีของเรื่องนี้ยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ในรอบสัปดาห์นี้ ผู้นำยุโรปและแคนาดาก็เริ่มทนไม่ไหวต้องออกมาซัด Trump กับ Elon กลับ เตรียมเล่น Tesla บ้างแล้ว คำถามสำคัญคือ Trump กำลังจะทำอะไรกันแน่

ผมคิดว่าคำตอบคือ “Renegotiate Everything” และอันนี้น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศอเมริกาในยุค Trump Doctrine

อเมริกาในยุคหลังสงครามเย็น เป็นตำรวจโลกก็จริง แต่ในอีกด้าน อเมริกาเป็น “เดอะแบก” ที่กินไม่ได้แต่เท่ ภาพลักษณ์ดูดีแต่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนมหาศาลให้หน่วยงานระหว่างประเทศอย่าง UN, ทุ่มงบทำสงครามยืดเยื้อในตะวันออกกลางหลายสมรภูมิ แลกกับความสงบจากการก่อการร้าย หรือเทงบกลาโหมช่วยชาติพันธมิตรอย่างยูเครน โดยที่ชาติพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ ไม่ได้จ่ายเยอะเท่ากับอเมริกา

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Trump บอกว่าแคนาดานั้นกำลัง free ride กำลังทหารของอเมริกาที่ทำให้ทวีปอเมริกาเหนือสุขสงบ โดยที่แคนาดาร่วมจ่ายเงินน้อยมาก

ตอนที่ Trump ชนะเลือกตั้งรอบแรก มีคนแนะนำให้ไปอ่านหนังสือ The Art of the Deal ของ Trump ที่ออกในปี 1987 เพื่อให้เข้าใจวิธีทำธุรกิจของ Trump ที่อาศัยการ leverage ต่อรองไปเรื่อยๆ โดยหาจุดคานงัดที่ช่วยให้เขาสามารถถือไพ่เหนือกว่าในการต่อรองกับคนอื่น ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้สะท้อนตัวตนของ Trump ได้เป็นอย่างดี

ตอนนี้ Trump มีไพ่ในมือที่ยิ่งใหญ่มากกว่าใครในโลก นั่นคือ อำนาจทางการทหาร + พลังเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา แถมอำนาจทางการเมืองในรอบนี้ยังมั่นคงเพราะชนะเลือกตั้งแบบขาดด้วย ไม่มีช่วงเวลาไหนที่เพอร์เฟคต์เท่านี้อีกแล้ว

สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือ Trump กำลังใช้ไพ่สองใบนี้ “ต่อรอง” กับชาติพันธมิตร เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์เดิมๆ ที่อเมริการับบทเป็นพระเอกฮอลลีวู้ดกระเป๋าฉีก หน้าชื่นอกตรม (แบบ Bush/Obama) กลายมาเป็น มาเฟียนิวยอร์กที่กล้าทำอะไรห่ามๆ เถื่อนๆ ภาพลักษณ์ไม่ต้องดีมาก แต่มีรายได้อู้ฟู่ ไปไหนคนเกรงใจ และ “คุ้มครองคนในบ้านได้” แบบเดียวกับดอน คอร์ลีโอเน่
การปั่นในรอบนี้ของ Trump จึงใช้สูตร strike first ถล่มก่อนให้อีกฝ่ายตกใจ (พอเป็นพิธี) แล้วอาศัยความกลัวนี้มาเป็นอำนาจในการต่อรองให้ตัวเองได้เปรียบ ถ้าให้เทียบก็คงเหมือนฉากตัดหัวม้าในตำนานของ The Godfather

คลองปานามาคงไม่กลับไปเป็นของอเมริกา กรีนแลนด์ก็เหมือนกัน แต่แคนาดาจะยอมช่วยจ่ายงบทหารมากขึ้น เม็กซิโกจะเข้มเรื่องพรมแดนมากขึ้น อังกฤษฝรั่งเศสจะยอมจ่ายเงินช่วยยูเครนมากกว่าเดิม อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ Trump ต้องการจริงๆ ชาติพันธมิตรไม่พอใจมันแน่อยู่แล้ว แต่ Trump มีไพ่สองใบ เป็น “ข้อเสนอที่คุณปฏิเสธไม่ได้” An offer you can’t refuse ก็ต้องยอมทำตามอยู่ดี

เมื่อจัดการชาติพันธมิตรตัวเองให้เรียบร้อยแล้ว ประเทศอื่นๆ คงอยู่ในคิวถัดไป จีนนั้นเป็นเป้าหลักอยู่แล้ว พูดถึงกันไปเยอะแล้ว

คำถามสำคัญคือ ไทยจะวางตัวเองอย่างไรในยุค Trump ตีหัวเข้าบ้านแบบนี้ เราจะเข้าร่วม Invest in America ตั้งแต่ระลอกแรก (แบบ Masayoshi Son แห่ง SoftBank), เราจะเพิกเฉย ทำเนียนไป, หนีห่างไปเลย แล้วค่อยกลับมาเข้าร่วมทีหลังถ้าจำเป็น หรือมีท่าอื่นอีกไหม เป็นสิ่งที่ต้องขบคิดและตั้งคำถามกันต่อไป

ในอีกทางคือเราสามารถเรียนรู้อะไรจาก Trump Doctrine แบบนี้ได้หรือไม่ หากผลประโยชน์ของประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แนวทางหรือพิธีกรรมบางเรื่องอาจไม่จำเป็น ช่วงนี้มีเรื่องพม่าและแม่สอดเข้ามาพอดี ก็เป็นสิ่งที่น่าขบคิดเหมือนกันว่า ถ้าเราเอาผลประโยชน์ของคนในประเทศเป็นที่ตั้ง คนไทยปลอดแก๊ง call center เราจะเอาวิธีแบบ Trump มาใช้ได้อย่างไร