จากที่เขียนเรื่อง Amazon as the Employer เรื่องนโยบายการจ้างงานและค่าแรงของ Amazon ไป เลยมีโอกาสได้เข้าไปอ่านเว็บไซต์ตำแหน่งงานของ Amazon (Amazon Hiring) ค่อนข้างละเอียด
ปกติเว็บไซต์สมัครงานลักษณะนี้จะมีการจูงใจให้มาทำงานกับเรา ด้วยข้อความชวนเชื่อต่างๆ มากมาย (555) แต่กรณีของ Amazon Hiring ที่เป็นเว็บหางานเน้นไปที่งานจ้างรายชั่วโมงด้วย มีข้อความชักจูงตรง footer ด้านล่างของเว็บที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา เข้าประเด็น
การทำงานแบบรายชั่วโมง (blue collar) คงไม่มีสิทธิประโยชน์ฟู่ฟ่า หรูหรามากเท่ากับงานออฟฟิศ (white collar) อยู่แล้ว และถ้ากล่าวกันอย่างพื้นฐานที่สุดแล้ว นอกจากเรื่องค่าตอบแทนในทางตรง (compensation) สิ่งที่คนทำงานอยากได้จากนายจ้างคงมีแค่ 4 ข้อนี้จริงๆ
- Benefits สิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากค่าจ้างโดยตรง เช่น ประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล วันหยุดวันลาต่างๆ
- Culture มีความสุขทางใจ องค์กรมีวัฒนธรรมการทำงานที่ดี มีความยุติธรรม ไม่กลั่นแกล้ง ไม่เหยียดหยาม เพื่อนร่วมงานดี เจ้านายดี ใช้ชีวิตอยู่แล้วไม่เลวร้าย มีความสุข
- Work-Life Balance มีความสุขทางกาย เวลาทำงานคาดเดาได้-ไม่หนักจนเกินไป มีเวลาให้ตัวเองและครอบครัว หรือสามารถเลือกทำงานได้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง (เช่น เฉพาะวันหยุด เฉพาะพาร์ทไทม์) เลือกจังหวะชีวิตของตัวเองได้
- Career Advancement เห็นเป้าหมาย ทำงานไปนานๆ แล้วมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพ มองเห็นว่าจะไปสู่จุดไหน ไม่ใช่ทำงานกินค่าแรงรายชั่วโมงไปเรื่อยๆ จนเกษียณ ในทางปฏิบัติคือมี career path หรือเปิดโอกาสให้ข้ามสายงาน เปิดโอกาสให้พัฒนาตัวเองผ่านเทรนนิ่งหรือการเรียนเต็มหลักสูตร
กรณีข้อ 1-2 คงเป็นเหตุผลแบบ universal สำหรับงานออฟฟิศนั่งโต๊ะด้วย ใครๆ ย่อมอยากได้สิทธิประโยชน์ที่ดี และวัฒนธรรมที่ดี
แต่ข้อ 3-4 สำหรับชาวออฟฟิศนั้นอาจเป็น default อยู่แล้วทำให้เรามองข้ามกันไป เช่น การทำงานออฟฟิศมีเวลาทำงานที่ค่อนข้างตายตัว (เข้า 9 โมงเลิก 5 โมง ไม่ต้องทำงานวันหยุด) ไม่มีระบบจ้างรายชั่วโมงหรือเป็นกะ ส่วนเรื่อง career advancement ก็มีเรื่องการเลื่อนขั้น ขึ้นเงินเดือนเป็นปกติอยู่แล้ว
ความแตกต่างตรงนี้ สังเกตได้จากอีกเว็บของ Amazon คือ Amazon Jobs ที่เน้นงานออฟฟิศ จะมีแค่สองข้อแรก ส่วนเมนูที่เหลือจะเป็นเรื่องอื่นๆ ที่ชาวออฟฟิศสนใจ เช่น diversity หรือ leadership principles แทน
แต่พอเป็นการชักจูงให้คนทำงานรายชั่วโมงมาทำงานที่นี่ ข้อ 3-4 ที่เป็นพื้นฐานสำคัญจึงต้องถูกขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นถึงขั้นเป็นเมนูแยกต่างหาก ชวนให้ระลึกถึงว่า มันเป็นความจำเป็นพื้นฐานจริงๆ ในการตัดสินใจว่าอยากทำงานที่นี่หรือไม่
และเราก็สามารถนำหลักการทั้ง 4 ข้อ กลับไปถามตัวเองได้เสมอในฐานะนายจ้าง ว่าเราตอบคำถามทั้ง 4 ข้อนี้ให้กับทั้งพนักงานปัจจุบัน และว่าที่พนักงานในอนาคตได้ดีจริงๆ เต็มปากเต็มคำแล้วหรือยัง