พยายามเขียนเรื่องนี้มาประมาณ 1 สัปดาห์แต่ติดภารกิจอื่นมากมาย วันนี้พอมีเวลาก็ลองเขียนดูสักหน่อย แม้ยังไม่ตกผลึกดีนัก แต่ก็คิดว่าควรเขียนออกมา
ถ้ามีคำไหนที่เหมาะกับโลกหลังยุค Covid ที่สุด ที่ผมนึกออกคือคำว่า “readjust” ซึ่งน่าจะดีกว่าคำว่า “adapt” เพราะมันมีเซนส์ของการต้องทำใหม่ (re) และปรับระดับ/ปรับจูน (adjust) ที่เหมาะกับบริบทดีมาก
เราต้องปรับตัวกันใหม่ (readjust) เพื่อเข้ากับชีวิตใหม่ที่เป็น new normal
คำถามที่ตามมาคือ เราต้องปรับอะไรกันบ้าง ผมพยายามคิดหา framework ที่สะท้อนภาพรวมของการเปลี่ยนแปลง และมาจบที่แนวคิดแบบหยาบๆ ว่า โลกในยุค globalization นั้นเรามีการเคลื่อนย้ายของ 3 อย่างได้แก่
- ข้อมูล (information) ซึ่งก็คือ การสื่อสาร
- คน (people) ตั้งแต่การท่องเที่ยว การเดินทางไปเจรจาค้า-ธุรกิจ
- สิ่งของ (things) ก็คือ การขนส่งสิ่งของมาขายนั่นแหละ
ระดับของการเคลื่อนย้ายของทั้ง 3 แบบ ก็พัฒนาขึ้นตามระดับของ globalization เช่น ในยุคก่อนเปิดเสรีสายการบิน ยุคที่ยังไม่มีสายการบินโลว์คอสต์ การเดินทางไปต่างจังหวัดไกลๆ ก็ถือเป็นเรื่องยาก หรือ โลกยุคก่อน The World is Flat ก็ยังไม่มีแนวคิดการย้ายโรงงานไปผลิตสิ่งของ ในสถานที่ค่าแรงถูกมากๆ (เช่น จีน) แต่เป็นการตั้งโรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงกับตลาดเป้าหมาย เป็นต้น
Globalization เต็มขั้นในยุคหลังปี 2000 เป็นต้นมา (หรือที่ให้ละเอียดกว่านั้นคือ 2010) เราเข้าสู่ยุคนั่งโลว์คอสต์ไปเที่ยวญี่ปุ่นกันชิลๆ
ส่วนในแง่การผลิตสิ่งของ ผมไปคุยกับผู้ใหญ่ระดับชาติท่านหนึ่งมา ก็ได้คำนิยามที่ตรงไปตรงมาว่า การผลิตยุคนี้ไม่สนใจข้อจำกัดอะไรอีกแล้ว ขอเพียงมีไฟฟ้าให้ใช้ (พลังงาน) กับมีเส้นทางส่งของไปยังท่าเรือสักแห่ง (เพื่อส่งออกตลาดโลก) ก็พอแล้ว มันสะท้อนถึงความลื่นไหลและ dynamic ของระบบ supply chain ของโลกได้เป็นอย่างดี
อย่างที่เขียนไปหลายครั้งแล้วว่า การมาถึงของ COVID-19 มันตีเข้าที่ฐานรากของสังคมมนุษย์อย่างจังๆ นั่นก็คือ การพบเจอหน้ากันระหว่างคนกับคน เราไม่สามารถมี physical interaction ใกล้ชิดกันได้เหมือนเดิม
ปัจจัยนี้ทำให้อัตราของ globalization ทั้งสามแกน (ของสามประเภท) จึงถดถอยตามลงไปด้วย และนี่คือภาพสะท้อนของโลกยุคหลัง COVID-19
ลองวาดตารางแบบง่ายๆ ใน Powerpoint เพื่อให้เห็นภาพ แกนนอนคือหมวดหมู่ของการเคลื่อนย้าย ส่วนแกนตั้งคือระดับของการเคลื่อนย้าย (จากน้อยลงไปมาก)
Information
จากภาพจะเห็นว่า การเคลื่อนย้ายข้อมูล (information) ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะหลังจากมนุษย์สามารถปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร โดยการ digitize ข้อมูลทุกประเภท ทุกความละเอียดที่เป็นไปได้ (ทุกวันนี้เราเล่นเกมผ่านคลาวด์ Stadia หรือดูหนัง 4K ได้สบายๆ) และสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่ครอบคลุมทั้งโลก (Fiber/4G/5G/ดาวเทียม) ได้แล้ว เราก็สามารถส่งผ่านข้อมูลไปมาทั่วโลก โดยไม่ต้องใช้มนุษย์มาเดินส่งแพ็กเกจอีกเลย
ในอดีตยุคที่อินเทอร์เน็ตยังช้า เราอาจต้องส่งหนัง (ในที่นี้คือก้อนข้อมูล) ในรูปแบบ DVD ทางไปรษณีย์ (Netflix ยุคแรก) ซึ่งยังต้องใช้มนุษย์เดินไปส่ง แต่ปัจจุบันก็คือไม่จำเป็นอีกแล้ว
ดังนั้นพอเกิดปัญหา COVID ขึ้น ระบบการสื่อสารโลกจึงไม่ได้รับผลกระทบในแง่ลบเลย เพราะไวรัสทำอะไรสายไฟเบอร์ไม่ได้
People
ระดับของการเคลื่อนย้ายคน มาจากทั้งปัจจัยทางเทคโนโลยีการเดินทาง (เช่น ม้า, รถ, เรือกลไฟ, เครื่องบินเจ็ต) และปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะราคา (มีเครื่องบินเจ็ต แต่ถ้าราคาแพงไป คนที่ขึ้นได้ก็น้อย)
พัฒนาการของเครื่องบินและเครือข่ายคมนาคมสมัยใหม่ บวกกับโมเดลธุรกิจใหม่ๆ (เช่น โลว์คอสต์) ทำให้คนทั่วโลกออกมาเดินทางกันมากขึ้น (ไม่เชื่อก็ดูคนจีนมาเชียงใหม่ช่วงก่อนหน้านี้สิ) ในทางสังคมก็เกิดความร่วมมือในระดับภูมิภาค (เช่น อาเซียน ทั้งภาครัฐและสมาคมภาคเอกชน) หรือระดับโลก (เช่น UN, G7, G20) เราเห็นพัฒนาการของ EU ที่เริ่มจาก EC และค่อยๆ มาเป็น EU ผ่านการยกระดับในเรื่องต่างๆ เช่น พรมแดนเชงเก้น หรือ รวมสกุลเงินยูโรโซน
แต่พอเกิดปัญหา COVID ความร่วมมือระดับภูมิภาค-นานาชาติ ไม่ตอบโจทย์เรื่องการคุ้มภัยมนุษย์ เพราะองค์กรนานาชาติไม่มีพันธะผูกพันในการคุ้มครองประชากรโลก แต่ชาติมีพันธะในการคุ้มครองประชากรของตน (ซึ่งในทางปฏิบัติก็ว่ากันอีกเรื่อง)
อันนี้เขียนไว้ในบล็อก The World After Covid
We will see a further retreat from hyperglobalization, as citizens look to national governments to protect them and as states and firms seek to reduce future vulnerabilities.
ดังนั้น ประชาชนจึงถอยหนีจากระดับนานาชาติ กลับสู่ยูนิตที่เล็กลงมากกว่า ที่จับต้องได้มากที่สุดก็คือ “ชาติ” (modern nation state ในนิยามสมัยใหม่)
สิ่งที่ตามมาก็คือ นโยาย/อุดมการณ์ชาตินิยม ซึ่งก็เริ่มเห็นบ้างแล้วในหลายประเทศ เช่น ข้อเรียกร้องว่าต้องเอาคนในชาติตัวเองให้รอดก่อน ค่อยไปช่วยชาติอื่น หรือการเหยียดคนจีน/คนเอเชีย ในช่วงแรกๆ ที่ COVID เริ่มระบาดในโลกตะวันตก เป็นต้น
ผลในระยะยาวคือ การค้าระหว่างประเทศย่อมลดลง การเดินทางไปต่างประเทศก็น้อยลงไปด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงการท่องเที่ยวที่ก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไร
Things
ในการผลิตสิ่งของสักชิ้น เราต้องเริ่มจากการคิดค้นวิจัย ออกแบบสินค้า จากนั้นเข้าสู่กระบวนการผลิต (manufacturing) ในโรงงาน ก่อนจะกระจายไปขายผ่าน supply chain มาสู่หน้าร้าน ซึ่งก็ต้องมีประสบการณ์ที่ดี ที่ชวนให้เข้าไปสัมผัส (ศาสตร์แห่ง retail) รวมถึงการโปรโมท การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำตลาดให้คนรู้จักด้วย
เมื่อ COVID เข้ามาเปลี่ยนสมการการติดต่อของมนุษย์ ตรงนี้เป็นการท้าทายทั้ง supply chain ของการผลิตสิ่งของเลยก็ว่าได้
- การค้นคว้า ออกแบบ คงต้องใช้มนุษย์ต่อไป แต่ก็ใช้คนไม่เยอะอยู่แล้ว
- การผลิต อาจยังต้องใช้มนุษย์อยู่ แต่โรงงานก็เจอความเสี่ยงว่า มนุษย์ในโรงงานนี่แหละจะติดโรค ดังนั้นโลกการผลิตยุคถัดไปก็จะเริ่มใช้หุ่นยนต์ ใช้ automation กันมากขึ้น
- การกระจายสินค้า การขนส่ง ยังต้องใช้มนุษย์อยู่เช่นกัน แต่เราก็เริ่มเห็นศูนย์กระจายสินค้าของ Alibaba หรือ Amazon ที่นำหุ่นยนต์มาช่วยบ้างแล้ว ส่วนระดับของ last mile ที่มาส่งสินค้าถึงบ้าน น่าจะยังใช้มนุษย์ขับรถมาส่งอยู่อีกนาน
- การขายหน้าร้าน การปิดห้างสรรพสินค้า ทำลายเลเยอร์ของการขายหน้าร้านลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อบวกกับช่องทางเลือกอื่น (ซื้อผ่าน e-commerce) แปลว่ากระบวนการ “ซื้อ” นั้นเราไม่จำเป็นต้องไปหน้าร้านอีกต่อไป ตรงนี้จะเปลี่ยนโฉมเรื่อง retail ไปอีกมาก
- การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ทำตลาด ตรงนี้ทำผ่านออนไลน์ได้หมดอยู่แล้ว ยิ่งมี COVID การตลาดโดยใช้คน เช่น พนักงานขาย พริตตี้ จะยิ่งลดลงไปอีก
แน่นอนเรายังต้องบริโภคสิ่งของกันอยู่ เสื้อผ้า อาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของฟุ่มเฟือยต่างๆ ฯลฯ แต่กระบวนการของทั้ง chain จะลดการใช้คนลงอย่างมาก
ตัวอย่างของอุตสาหกรรมอาหาร ยิ่งเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะการขายหน้าร้านแทบจะหายไป 100% และกระบวนการซื้ออาหารจะเปลี่ยนไป โดยไม่ต้องมีหน้าร้านเลย (ทดแทนการซื้อด้วย digital channel และทดแทนการนำส่งสินค้าด้วย delivery)
วงการร้านอาหารจึงถูก disrupt เข้าอย่างจัง ตั้งแต่เมนูอาหาร (ที่ต้องเหมาะกับ delivery), ระดับราคา, ทำเล, การออกแบบร้าน ฯลฯ
กล่าวโดยสรุปคือ โลกหลังยุค COVID ต้องปรับตัวตามสภาพการณ์ใหม่ที่ต้องใช้ “คน” น้อยลงจากเดิมมาก การเคลื่อนย้ายคนและสิ่งของจะถดถอยลงไป (regression) และงานหลายๆ อย่างจะถูกโอนย้ายไปสู่ช่องทางดิจิทัลแทน (เพราะการสื่อสารไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัส)
ย่อหน้าข้างต้นคือภาพรวม ส่วนในรายละเอียดของแต่ละอุตสาหกรรม จะต้องปรับตัว ต้อง readjust กันอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่ต้องลงรายละเอียดกันต่อไป