in Politics

Putin is Lucky

จากเหตุการณ์กองกำลังทหารรับจ้าง Wagner Group ลุกฮือขึ้นในรัสเซีย แม้เหตุการณ์คลี่คลาย (แบบงงๆ) ในเวลาเพียง 2 วัน แต่ทำให้มีโอกาสได้อ่านบทความวิเคราะห์การเมืองภาพใหญ่ของรัสเซีย ที่เขียนโดย Michael McFaul อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำรัสเซีย ซึ่งเขียนไว้ก่อนหน้านั้นหลายเดือน (เขียน ก.พ. 2023) และพยากรณ์เรื่องความขัดแย้งภายในรัสเซียได้อย่างแม่นยำ

แต่สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้ในบทความคือชีวิตช่วงเริ่มต้นไต่เต้าของปูติน ที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้เพราะ “โชค” มีส่วนเป็นอย่างมาก

McFaul ตั้งคำถามได้อย่างแหลมคมว่า ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ข้าราชการระดับกลางคนหนึ่งที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง กลับได้เป็นผู้นำของประเทศที่ใหญ่ที่สุดบนแผนที่โลก เรื่องของโชคต้องสำคัญมากๆ

In a matter of months and with barely any political experience, he went from being an unknown, midlevel Kremlin official to president of the largest country on the world map.

ปูตินเริ่มชีวิตทำงานของเขาด้วยการเป็นสปาย KGB ในเยอรมนีตะวันออก แต่เมื่อโซเวียตล่มสลาย รัสเซียเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย เขากลับมาเป็นผู้ช่วยด้านการต่างประเทศให้นายกเทศมนตรีของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก Anatoly Sobchak แต่เมื่อ Sobchak แพ้เลือกตั้งในปี 1996 ปูตินก็ตกงานอีกครั้ง

เขาโชคดีที่ได้งานใหม่จากคำแนะนำของเพื่อนที่ช่วยงานเศรษฐกิจให้ประธานาธิบดี Boris Yeltsin ทำให้ปูตินได้เข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจที่วังเคลมลิน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับกลางๆ ไม่มีความสำคัญมากนักอยู่พักใหญ่ ก่อนค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง FSB (ชื่อใหม่ของ KGB)

การเมืองรัสเซียและการเมืองโลกในช่วงนั้นเอื้อประโยชน์ให้ปูตินอย่างเหลือเชื่อ เริ่มจาก Yeltsin พยายามหาผู้สืบทอดตำแหน่งทางการเมือง (หลังจากเป็นประธานาธิบดีเกือบครบ 2 สมัยแล้ว) ตอนแรกเขาเลือก Boris Nemtsov อดีตผู้ว่าเมือง Nizhny Novgorod โดยนำมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในปี 1997 เพื่อเตรียมส่งลงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2000

แต่รัสเซียเจอวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ในปี 1998 (รอบเดียวกับต้มยำกุ้ง) ทำให้รัฐบาลของ Nemtsov ต้องหมดอำนาจไป ส่งผลให้ Yeltsin จำเป็นต้องตั้ง Yevgeny Primakov นักการเมืองฝ่ายคอมมิวนิสต์มาเป็นนายกแทน และมีโอกาสขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2000

Yeltsin ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย จำต้องหาผู้สืบทอดคนใหม่แทน หวยจึงมาออกที่ปูติน ทำให้เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1999 และลงเลือกตั้งชนะในปี 2000 เหตุการณ์ช่วงนั้นยังมีเรื่องการก่อการร้ายของกบฎเชเชน ที่ปูตินเป็นผู้นำในการปราบอีก หลายคนจึงมองว่า “ปูตินโชคดี”

โชคของปูตินยังไม่หมดลงง่ายๆ หลังได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2000 เขาก็มาเจอกับ “รอบเศรษฐกิจขาขึ้น” พอดี ทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจตกต่ำหลังโซเวียตล่มสลายเริ่มสิ้นสุดลง การปฏิรูปในยุค Yeltsin เริ่มออกผล เศรษฐกิจรัสเซียกลับมาโตใหม่ในช่วงนั้น, ตลาดพลังงานโลกกลับมาพุ่ง ราคาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเพิ่ม รัสเซียขายพลังงานได้ราคาดี

ปูตินไม่ได้มีส่วนกับทั้งการปฏิรูปของ Yeltsin หรือกำหนดราคาน้ำมันโลก แต่ได้รับผลดีเหล่านี้ไปเต็มๆ ทำให้ 2 สมัยแรกของปูติน (1999-2008) เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตเฉลี่ยปีละ 7% ถือเป็นยุคทองของเศรษฐกิจรัสเซีย ปูตินรับเครดิตไปเต็มๆ และอำนาจของเขาจึงแข็งแกร่งมั่นคง ปูตินจึงใช้โอกาสนี้ควบคุมสื่อ ควบคุมนักการเมืองฝ่ายค้าน เศรษฐีรัสเซียฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม

ปี 2008 ปูตินไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สามได้อีก เขาจึงสลับเอาผู้ช่วย Dmitri Medvedev มาเป็นประธานาธิบดีแทน แต่เมื่อ Medvedev ค่อนข้างโปรตะวันตกเกินไป จึงทะเลาะกันในปี 2011 ทำให้ปูตินตัดสินใจมาลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกรอบในปี 2012

ถึงแม้ชนะเลือกตั้ง แต่ปูตินรอบที่สองมีพลังอำนาจและความนิยมลดลงจากรอบแรก เศรษฐกิจก็วนมาถึงช่วงขาลง ถึงขั้นมีประท้วงใหญ่ในรัสเซีย ทำให้ปูตินต้องใช้อำนาจและความรุนแรงมากขึ้นในการปราบฝ่ายตรงข้าม และนำไปสู่การบุกยูเครนรอบแรกในปี 2014

ความมั่นใจของปูตินซ้ำรอยผู้นำที่อยู่ในอำนาจเป็นเวลานานๆ ในอดีต ช่วงหลังเขายิ่งโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ฟังที่ปรึกษาคนไหน จนส่งผลให้เขาตัดสินใจบุกยูเครนอีกรอบในปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “ความโชคดี” ของเขาเริ่มสิ้นสุดลงแล้ว

ภาพจาก Kremlin.ru