in Economics

แนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมหลังโควิด-19

อ่านบทความ ข้อเสนอแนวทางแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจสังคมหลังโควิด-19 ของ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร (เขียนร่วมกับคุณเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ซึ่งมาค้นข้อมูลดูพบว่าเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง)

ส่วนตัวแล้วเคยเป็นลูกศิษย์ อ.ผาสุก เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1-2 คลาส แต่ก็เคยอ่านงานของ อ.ผาสุก มาเป็นจำนวนหนึ่ง ถือว่าประทับใจในมุมมอง วิธีคิด และการปฏิบัติตัวของอาจารย์

มาจดประเด็นสำคัญของบทความเก็บไว้

ต้องใช้นโยบายการคลัง คือใช้เงินของภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ในยุคที่นโยบายการเงินแทบไม่มีประโยชน์แล้ว

ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ผู้อยู่ในวัยทำงานส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 60-70 ไม่มีงานทำหรือมีรายได้ไม่พอจะประทังชีวิต เด็กและผู้สูงวัยทุกข์ยาก เป็นปัญหาหนักสุด

หลายคนยังหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้น โดยให้คนอเมริกัน คนจีน ซื้อสินค้าเรา มาเที่ยวบ้านเรา ถ้าคิดเข่นนั้น เราจะไม่ทำอะไรใหม่ เศรษฐกิจจะยิ่งซึมยาวแบบตัวแอล

ทางออกที่ทำกันทั่วโลก คือต้องใช้นโยบายการคลัง เพราะนโยบายการเงินไม่ได้ผลเมื่อทั้งโลกเข้าสู่วิถีบริโภคต่ำลงทุนต่ำ ส่งออก การท่องเที่ยวหยุดชะงัก เราต้องพึ่งตนเอง

ระดับของหนี้สาธารณะ ที่อาจขึ้นได้ถึง 90% ของ GDP

ประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่ำ เพราะมีวินัยการคลังเคร่งครัดมาก่อนโควิดสามารถ “ยิงกระสุน” ทำงบประมาณขาดดุลได้มาก เช่น ที่เยอรมนี หนี้สาธารณะ 68.7 ต่อจีดีพี รัฐบาลจัดงบขาดดุล อุดหนุนทุกคนและสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวสู่อนาคตคิดเป็นร้อยละ 13 ของจีดีพี ที่ญี่ปุ่นแม้หนี้สาธารณะ 251.9% ต่อจีดีพี ยังทำงบประมาณขาดดุล 21% ต่อจีดีพี เมื่อสหรัฐอเมริกาใช้นโยบายนิวดีล (เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ค.ศ.1929-1937) สร้างงานเพื่อลดปัญหาสังคม หนี้สาธารณะขึ้นสูงถึง 100% ต่อจีดีพี ของไทยมีแนวโน้มรักษาวินัยทางการคลัง หนี้สาธารณะก่อนโควิดต่ำกว่าเกณฑ์เพดานทั่วไปที่ใช้กันที่ 60% ต่อจีดีพี นักวิชาการล่าสุดบอกว่าในสภาวะที่เป็นเหตุจำเป็นอาจเพิ่มเพดานได้ถึง 90% ต่อจีดีพี หมายความว่า ไทยยังเพิ่มหนี้สาธารณะได้อีก และครั้งนี้รัฐบาลต้องใจป้ำมากกว่าครั้งใดในอดีต เพราะปัญหาสังคมอาจทำให้รัฐและสังคมล่มได้ จึงต้องไม่กลัวหนี้สาธารณะ

โครงการที่แนะนำให้ทำ ในระยะสั้นคือ รายได้ขั้นต่ำถ้วนหน้า (Universal Basic Income)

ให้มีมาตรการรายได้ขั้นต่ำแบบถ้วนหน้า เน้นที่ครัวเรือนระดับล่าง ที่ไม่มีช่องทางหารายได้ในช่วงวิกฤตในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า รายได้ขั้นต่ำนี้ ไม่ต้องมาก อาจจะครัวเรือนละ 5,000 บาท ครอบครัวใดมีเด็ก เพิ่มอีกคนละ 10,000 บาท

การให้นายจ้างไม่ปลดคนงาน เพื่อยื้อเวลาให้เกิดการพัฒนาบุคลากร

การช่วยให้บริษัทอยู่รอดได้แม้จะชั่วคราว จะช่วยให้ทางการมีเวลาเตรียมการฝึกอบรมที่จำเป็นต่อการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และพัฒนาบุคลากรสายอาชีพด้านต่างๆ ให้รองรับกับความพยายยามเข้าสู่ Thailand 4.0 ในปัจจุบัน การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ on-the-job training ประสบความสำเร็จมากกว่าการให้อุปกรณ์ใหม่ (retooling) แก่คนงานที่ถูกลอยแพ

การให้สินเชื่อสำหรับ นศ. จบใหม่ เพื่อสร้าง Startup รวมถึงการจ้างงานเพื่อให้เป็นประโยชน์กับพื้นที่ท้องถิ่น

จัดให้มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่เพื่อ start up ในกิจการใหม่ๆที่เป็นไปได้ อาจทำเป็นกลุ่ม (มีงานศึกษาที่ชี้ว่าส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่-gen y-ชอบทำงานอิสระแบบไม่มีนายจ้าง) สำหรับผู้ที่ต้องการงานประจำ มีโครงการจ้างงานแบบมิยาซาวาสมัยวิกฤตการเงิน 2540 ที่รัฐบาลกู้เงินจากญี่ปุ่นจ้างผู้สำเร็จ ป.ตรีใหม่ๆ ไปทำงานในพื้นที่ ที่เป็นประโยชน์กับคนในท้องถิ่น เช่นเป็นนักบัญชี ช่วยเพิ่มทักษะด้านไอที ในหน่วยงานท้องถิ่น ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ