in Business, Games, Technology

PlayStation vs Nintendo vs Sega

ช่วงนี้กำลังฟังพ็อดแคสต์รายการ Business Wars ซึ่งเป็นการเล่าประวัติศาสตร์การแข่งขันทางธุรกิจในวงการต่างๆ แบบเอามาจับคู่ vs กัน ก็พบว่าสนุกดีและสามารถเลือกฟังเฉพาะตอนที่เราสนใจได้

ตอนที่ฟังล่าสุดคือ Nintendo vs Sony เล่าความหลังของสงครามเกมคอนโซลในยุค 90s (และมี Xbox vs PlayStation อีกซีรีส์ที่เป็นสงครามยุค 2000s เป็นต้นมา) เลยได้รู้เกร็ดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของวงการเกมอีกหลายอย่าง

ในฐานะที่เป็นเกมเมอร์มาตั้งแต่ยุค Famicom ก็ติดตามข่าวสารวงการเกมเรื่อยมา แน่นอนว่าข้อมูลสมัยนั้นต้องเสพเอาจากนิตยสารเกม ซึ่งก็ไม่มีทางละเอียดเท่ากับยุคสมัยนี้ที่มีอินเทอร์เน็ต สืบค้นได้ละเอียดกว่ากันมาก

พอเกิดทันประวัติศาสตร์ยุคนั้น และได้ฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากรายการ Business Wars เลยได้เติมเต็มความกีค + เข้าใจความเป็นไปของสถานการณ์ในตอนนั้นมากขึ้นมาก ตอนนี้เลยวิเคราะห์ได้ว่าทำไมในยุค 90s บริษัทที่ไม่เคยทำธุรกิจเกมมาก่อนเลยอย่าง Sony ถึงเอาชนะยักษ์ใหญ่อย่าง Nintendo และ Sega ได้แบบทิ้งขาดมากด้วย

  • Sony PlayStation 1 (ออกขายปลายปี 1994) = 102 ล้านเครื่อง
  • Sega Saturn (ออกขายปลายปี 1994) = 9.2 ล้านเครื่อง
  • Nintendo 64 (ออกขายกลางปี 1996) = 33 ล้านเครื่อง

คิดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Sony ชนะ มีด้วยกัน 2 มิติคือ วิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยี (technological vision) ถูกต้องต่อยุคสมัย และการดำเนินการ (operation) เก่งกว่าคู่แข่ง

วิสัยทัศน์ถูกต้อง

สิ่งที่ Nintendo ทำพลาดใน Nintendo 64 มีด้วยกัน 3 อย่างคือ

  • เลือกใช้สื่อเกมแบบตลับ (cartridge) ที่จำกัดความจุ 64MB ในขณะที่คู่แข่งย้ายไปใช้ซีดีรอม (650MB) ในช่วงเวลาที่ฟอร์แมตสื่อกำลังเปลี่ยนพอดี
  • Sony เลือกทุ่มไปที่กราฟิก 3D อย่างเต็มตัว ในขณะที่ Nintendo ยังลังเลระหว่าง 2D/3D เลยเอาทั้งคู่
  • ทิศทางเกมของ Sony เน้นเกมสำหรับเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ (ยอมรับเกมที่มีความรุนแรงได้ หรือมีความสมจริงสูงกว่า)  ส่วน Nintendo ยังยึดติดกับเกมครอบครัวเท่านั้น

ตรงนี้ถือว่า Sony เลือกได้ถูกต้องตามทิศทางของยุคสมัย (ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าเลือกทางไหนจะถูกต้องกว่ากัน) ที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 3D และกราฟิกความละเอียดสูงที่ต้องใช้ซีดีเป็นสื่อเก็บข้อมูล แถมตลาดผู้เล่นเกมเริ่มขยายตัวจากการเป็น “ของเล่นเด็ก” กลายมาเป็นความบันเทิงแบบใหม่ในบ้านที่ทุกคนเข้าถึงได้

Operation เก่งกว่า

พอตัด Nintendo 64 ออกไป เราเหลือ Sony PlayStation กับ Sega Saturn ที่เลือกเทคโนโลยีถูกต้องในทิศทางเดียวกัน เปิดตัวเครื่องเล่นเกมไล่เลี่ยกัน (วางขายห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์) แถม Sega ยังอยู่ในตลาดเกมมายาวนานกว่า มีสตูดิโอพัฒนาเกมของตัวเอง

คำถามคือทำไม PlayStation ยังชนะ Saturn ได้? คำตอบอยู่ที่การดำเนินการนั่นเอง

  • ฮาร์ดแวร์ของ Sony ออกแบบดีกว่า เพราะดีไซน์มาเพื่อ 3D ตั้งแต่ต้น ใช้ชิปตัวเดียวเอาอยู่ ส่วน Saturn ต้องแก้ลำโดยเพิ่มชิป 3D ทีหลังอีกตัว (เป็น 2 ตัวคู่กันเพื่อสมรรถนะให้เท่า PlayStation) ทำให้ต้นทุนของ Saturn สูงกว่ามาก
  • การเปิดตัวในญี่ปุ่นปลายปี 1994 สองเครื่องทำยอดขายได้พอๆ กัน (Saturn ดีกว่าด้วยซ้ำ) แต่จุดชี้ขาดคือการเปิดตัวในอเมริกากลางปี 1995 ที่ Saturn เปิดตัวในราคา $399 แต่ PlayStation เปิดตัวที่ $299 ราคาที่ต่างกันถึง 100 เหรียญ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ Saturn แพ้ในอเมริกา
  • Sony ได้พาร์ทเนอร์สำคัญคือ Namco (ซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดเกมอาเขตกับ Sega และตอนนั้นทะเลาะกับ Nintendo อยู่) ทำให้มีเกมสำคัญๆ ออกขายในช่วงปีแรกของเครื่องด้วย เช่น Tekken, Ace Combat, Ridge Racer เป็นต้น จึงดึงโมเมนตัมได้ทั้งจากฐานลูกค้าและนักพัฒนาเกมค่ายอื่นๆ
  • Nintendo 64 ออกเครื่องช้าไปเกือบ 2 ปีนับจาก PS1 วางขาย ทำให้สูญเสียโมเมนตัมจากนักพัฒนาเกมไปแล้ว แม้ว่าสเปกเครื่องแรงกว่า และมีเกม first party เจ๋งๆ คุณภาพระดับนินเทนโดก็ตาม (Mario Kart 64 นี่อย่างเทพในสมัยนั้น) แต่การตัดสินใจผิดพลาดเรื่องใช้ตลับทำให้นักพัฒนาหลายราย (เช่น Square) หนีห่าง
  • อีกประเด็นที่หลายคนไม่รู้เท่าไรคือ Sony Computer Entertainment เริ่มต้นด้วยการเป็นบริษัทลูกของ Sony Music ด้วย เลยได้พลังแห่งการผลิตและจัดจำหน่ายแผ่น (เกม/เพลง) จาก Sony Music มาช่วยสนับสนุน

อธิบายง่ายๆ คือ Sony ทั้งโชคดีที่เจ้าตลาดเกม (Nintendo) หยิ่งผยองเกินไป ไม่ปรับตัวตามยุคสมัย กลายเป็นช่องว่างให้ฉกฉวย และตัวเองก็เก่งด้วยหลายอย่าง (มีเทคโนโลยี CD และชิป 3D ของตัวเอง, บริษัทแม่ใหญ่อยู่แล้ว สามารถรองรับการขาดทุนจากค่าเครื่องในตอนแรกได้เยอะกว่า) เลยสามารถสร้างตำนาน กระโดดเข้าตลาดใหม่แล้วกลายเป็นเจ้าตลาดได้ทันที จนถึงทุกวันนี้

มาถึงตอนนี้กลายเป็นว่า รายได้หลัก No.1 ของ Sony คือ PlayStation ไปแล้ว มามองย้อนกลับไปดูก็น่ามหัศจรรย์มิใช่น้อยเลย