ภาพประกอบจากซีรีส์ Law & Order ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไร แค่ชื่อคล้ายๆ กัน
เป็นข้อสังเกตที่เห็นในช่วง COVID-19 เลยมาขยายความเพิ่มเติมว่ารัฐไทย (ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล แต่รวมถึงกลไกรัฐ ลงไปถึงระดับราชการหรือท้องถิ่นด้วย) ค่อนข้างเก่งในเรื่องการ “ออกคำสั่ง” (command หรือ order) ทำให้เราเห็นมาตรการ “ปิด” สิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปิดเมือง ปิดห้าง ปิดร้านค้า ปิดเคอร์ฟิว ฯลฯ
สังเกตได้จากว่าการสั่งปิดโน่นปิดนี่ จะได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วจากหน่วยงานต่างๆ (โดยรัฐบาลไม่ต้องออกแรงทำอะไรมากนัก) และไม่ใช่แค่ปิดอย่างเดียว กระบวนการตรวจสอบ ตั้งด่าน ไล่จับคนกระทำผิด ฯลฯ ก็ทำได้ค่อนข้างดีด้วย (ซึ่งในแง่หนึ่งก็มีผลทางบวกในการสกัด COVID จริงๆ)
คำอธิบายของปรากฏการณ์นี้ หากเราจะบอกว่าเมืองไทยตอนนี้ “ปกครองด้วยทหาร” อาจไม่ใช่คำตอบที่ครอบคลุมทั้งหมด แต่น่าจะมาจากวัฒนธรรมแบบ “อำนาจนิยม” และ “ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่” ของสังคมไทยเองด้วย (คนที่ฟังการสั่งมักจะ obedience คือยอมทำตามคำสั่งได้ง่าย)
ผมนึกถึงคำกล่าวที่เคยเห็นในโซเชียลว่า “ทหาร ครู หมอ” ล้วนเป็นอาชีพที่คุ้นเคยกับการสั่ง พิเคราะห์ดูแล้วก็ค่อนข้างเห็นด้วยตามนั้น
Covid ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า รัฐไทย (ไม่ใช่แค่รัฐบาลแต่รวมถึงกลไกราชการด้วย) เก่งเรื่อง "สั่ง" คืออะไรที่ปิด ห้าม หยุด นี่ทำได้ดี มีประสิทธิภาพ
แต่พอเป็นอะไรที่ต้อง "เยียวยา" ที่ทำได้ยากกว่า ต้องใช้สมอง+ความตั้งใจมากกว่า ก็ผลงานแย่กว่ามาก อย่างเคสประกันสังคมนี่ชัดเจนมาก
— Isriya Paireepairit (@markpeak) June 14, 2020
แต่ในด้านกลับ สิ่งที่รัฐไทยทำได้ไม่ดีเลย (หรือจะเรียกว่า แย่มาก ก็ได้ด้วยซ้ำ) คือ การเยียวยา (remedy) หรือช่วยสนับสนุนประชาชน (empower) กรณีที่สังเกตได้ชัดๆ คือมาตรการเยียวยาหรือรับมือผลกระทบจาก COVID เราทำได้แย่มาก แถมแย่อย่างเท่าเทียมกันทั้งระบบด้วย เรียกว่าไม่มีหน่วยงานไหนทำได้ดีเลย
ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือระบบประกันสังคมของบ้านเรา ทีมีวิกฤตครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ กลับไม่สามารถตอบสนองผู้ที่เดือดร้อนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบาย (ตัดสินใจยอมจ่ายเงินอย่างรวดเร็ว) หรือระดับปฏิบัติ (ดำเนินการจ่ายเงินให้อย่างสะดวก) ก็ตาม
พอมามองย้อนดูแล้ว รัฐไทยเองก็ไม่เก่งเรื่องการสนับสนุนประชาชน (ในความหมายนี้คือ empower) มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิด เราไม่ค่อยได้เห็นโครงการที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชนในด้านต่างๆ สักเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจท้องถิ่นให้จัดการตัวเอง การสนับสนุนให้คนประกอบการ มีอาชีพ หรือลงไปถึงขั้นการเยียวยาคนอ่อนแอไม่ให้ล้ม (safety net) ก็ค่อนข้างแย่จริงๆ
เขียนมาถึงตรงนี้ก็เพิ่งนึกได้ว่า นโยบายของพรรคไทยรักไทย (ในยุคนั้น) ล้วนแต่เป็นการ empower ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน, สนับสนุน SME/Otop หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ล้วนแล้วแต่เป็นการ empower คนตัวเล็กตัวน้อย (และถ้าจะพูดให้แฟร์คือ พรรคพลังประชาชน หรือ พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ค่อยมีนโยบายแบบนี้อีกเหมือนกัน)
มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ในทวิตเตอร์อีกว่า รัฐไทยทุกระดับชั้นนั้น “ไม่เห็นหัวประชาชน” (ในที่นี้คือไม่มี empathy) มาตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นการจะเข้ามาสนับสนุน เพิ่มพลังให้ประชาชน จึงทำได้ยาก เพราะ mindset นั้นไม่ถูกต้องแต่แรก พอไม่ได้คิดจะเข้าอกเข้าใจหรือเห็นใจ การกระทำก็สะท้อนความคิด (ที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้) เช่นกัน
ในโลกที่อนาคตไม่มีความแน่นอนอะไรเหลืออยู่เลย (จู่ๆ ก็มีโรคระบาด) การเพิ่มพลังให้ประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราอยู่รอดต่อไปได้ การปฏิรูปวิธีคิดของรัฐไทย (ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่รัฐบาลไปจนถึง อบต. หรือเทศบาล) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นให้จงได้
ส่วนวิธีการนั้นเป็นสิ่งที่ต้องมาคิดกันต่อไป การเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ประชาชนในท้องถิ่นจัดการกันเอง ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง (อย่างน้อยประชาชนก็ควรจะ “เห็นใจกันเอง” ต่างจากการมองแบบ top-view ของรัฐส่วนกลาง) แต่ก็มีสิ่งอื่นๆ ที่ต้องทำเพิ่มเติมด้วยอีกมาก